AcousticTone แบรนด์หูฟังไทย กับเสียงที่ศิลปินอยากให้แฟนเพลงได้ยิน
คนไทยเป็นชาติที่ฟังดนตรีไม่น้อยหน้ากว่าชาติใดในโลกนะครับ แต่เรากลับนึกไม่ออกว่าแบรนด์หูฟังของไทยคือแบรนด์อะไร แบรนด์ที่คนไทยนิยมใช้กันก็มาจากต่างประเทศทั้งนั้น จนเราพบกับ AcousticTone ที่โดดเด่นออกมาในกรุ๊ปคนรักหูฟัง เพราะเป็นหูฟังที่ออกแบบร่วมกับศิลปินไทยจนทั้งรูปลักษณ์และเสียงของหูฟังแต่ละรุ่นนั้นคือสิ่งที่ศิลปินอยากให้แฟนเพลงสัมผัสและได้ยิน เราจึงได้ติดต่อเพื่อพูดคุยกับผู้สร้าง…
อิงค์ สิทธิกร ไทรใหญ่
ผมเล่นหูฟังมาตั้งแต่ตอนเรียนดนตรีประมาณสิบกว่าปีก่อน สรุปเล่นไปเล่นมามีหูฟังหลายร้อยหลายพันตัว จนช่วงโควิดปี 2019 เราเองก็อยากจะทำแบรนด์หูฟังตัวเองขึ้นมา ก็เริ่มตั้งแบรนด์หูฟังขึ้นมาชื่อว่า AcousticTone เป็นหูฟังที่เน้นในการทำ Hand Craft เพราะอยากจะรู้ขีดจำกัดว่าถ้าเราเริ่มผลิตชิ้นส่วนเองทั้งหมด และก็เราสามารถวิจัยพัฒนาต่อยอดสิ่งที่มันมีอยู่ให้ได้คุณภาพแบบที่เราต้องการโดยเฉพาะเจาะจงเนี่ยเราจะสามารถทำในประเทศไทยได้ไหม
ผมมองคนญี่ปุ่นนะ ปกติจะมีคนที่คราฟรถหรือแม้แต่สายกล้องขึ้นมา เราอยากไปจุดนั้น ซึ่งปัจจุบันมีคนที่เห็นงานเราเยอะมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่สั่งงานของเราไป มันทำให้ผมอยากกลายเป็นหูฟังแบรนด์แบรนด์นึงของไทย ที่ใช้คำว่าเมดอินไทยแลนด์แบบภาคภูมิใจเลย
อยากเป็นหูฟัง Hand Craft ที่ Made in Thailand
โดยตอนนี้ทีมงานผลิตจะมีด้วยกัน 4 คน ออกแบบหูฟัง 1 คน แล้วออกแบบบรรจุภัณฑ์อีก 1 คน รวมผมเองก็เป็น 7 คน
ปัจจุบัน AcousticTone เป็นงานหลักไหม
ผมลาออกจากบริษัทของที่บ้านตัวเองเพื่อโฟกัสกับ AcousticTone อย่างเดียว เมื่อก่อนผมทำสองงาน นอนแค่ 3 ชั่วโมง ป่วยแบบตัวใหญ่ขึ้นมหาศาล แต่ทุกวันนี้ผมโฟกัสงานเดียวผมโคตรมีความสุข
โดยเริ่มต้นลงทุนแค่ 5,000 บาท จนปัจจุบันขายไปน่าจะ 21 ล้านบาท เราไม่อยากเอาเงินส่วนตัวมาโถมกับแบรนด์และไม่อยากเอาเงินของแบรนด์ไปใช้กับเรื่องส่วนตัวด้วย เลยทำโมเดลขายเป็น Pre-Order ทั้งหมด จ่ายเงินวันนี้ อีกเดือนหนึ่งได้ของ
คนที่ซื้อไม่เคยได้ลองฟังแม้แต่คนเดียว เพราะมันยังทำไม่เสร็จตอนที่เปิดให้ซื้อ ร้าน Cassette Shop สะพานควายที่เรามาถ่ายภาพวันนี้ คือร้านแรกที่ผมเอาของมาวาง ผมอยากให้หูฟังผมอยู่ในหมวดของไลฟ์สไตล์ ผมอยากให้หูฟังของ AcousticTone เป็นหูฟังตัวที่ 2 ที่เราหยิบมาเมื่อไหร่ก็ได้และใช้ง่าย แบบไม่ต้องดีเท่ากับหูฟังตัวหลักที่ที่เราใช้หรอก แต่เราหยิบมาทุกครั้งแล้วโคตรภูมิใจเลย ที่ศิลปินเค้าทำมาแบบนี้ เฮ้ยมันยูนีคต่างจากทั้งโลกแบบนี้
การทำงานกับศิลปิน
ผมยกตัวอย่างการทำงานกับวง Anatomy Rabbit ให้ฟังเพราะมันท้าทายมาก ตอนนั้นอยู่ในช่วงโควิดครับ เราทำงานยากมากเพราะว่าศิลปินเองตัวเขาอยู่อุดรฯ ส่วนผมอยู่กรุงเทพ ก็ต้อง Video Call คุยกันทุกอย่าง เช่น ฉันต้องการปรับเสียงย่านประมาณนี้ Hz สามารถแก้ไขให้ฉันได้ไหม โทนเสียงฉันชอบแล้วบางทีโทนเสียงไม่ชอบช่วยแก้ไขตรงนี้ได้มั้ย ซึ่งมันยากมากเพราะเราไม่สามารถไปเจอตัวแล้วแก้ไขกันได้
ทุกอย่างก็จะถูกจดเลยว่าเราทำอะไรลงไปบ้าง เพราะว่าหนึ่งส่วนประกอบของหูฟัง แม้แต่ส่วนที่ไม่ได้เสียบปลั๊กอย่างตัว Chamber (ที่ว่างภายในหูฟังที่อยู่ด้านหลังดอกลำโพง) ข้างในหูฟัง ความหนาความบางความโปร่งความใหญ่ ทุกอย่างมีผลกับเสียงหมด บางทีการแก้อะไรสักอย่าง มันอาจจะไม่ได้แก้ที่ตัวดอกลำโพง ตะกั่วหรือสายอย่างเดียวแต่มันต้องแก้โดยออกแบบใหม่หมด เพราะฉะนั้นในโปรเจกต์ Anatomy Rabbit เราแก้กันเยอะมาก เราส่งอุปกรณ์กันไปกันมากว่า 60 รอบ แต่พอเราเราได้เจอกันครั้งสุดท้ายเขาบอกนี่แหละคือสิ่งที่เขาได้ยินแบบนี้อยู่ในห้องอัดเลย
การดีไซน์
เราจะดีไซน์จากด้านนอกก่อนเพื่อให้สะท้อนอัตลักษณ์ของตัวศิลปิน อย่าง Anatomy Rabbit เป็นกระต่าย เป็นวงที่มีสัญลักษณ์ที่ชัดเจนสุดๆ เลย ซึ่งอย่าง Anatomy Rabbit เห็นดีไซน์ตัวแรกที่พี่วินทำ เค้าโอเคเลย แต่วงบางวงไม่มี เราก็ต้องตีความเพิ่ม
จากนั้นพอเราขึ้นมาเป็น Mole 3D ปุ๊บเราเริ่มเอามาฟังเสียง โอเคเราได้ความก้องแบบนี้นะ ทุกอย่างมันก็จะถูกปรับแก้ ผมก็จะไปบอกพี่วิน ผมว่าแชมเบอร์มันก้องไม่พอ เราลบให้มันบางกว่านี้ได้ไหม เพราะว่าความหนาความบางนอกจากส่งผลเรื่องน้ำหนัก ยังส่งผลต่อเรื่องเสียงมากอีกด้วย หลังจากเราแก้แล้วก็ลองส่งให้ศิลปินฟัง เพื่อเก็บฟีดแบ็กมาแก้ต่อ ซึ่งมันเองก็เป็นเรื่องใหม่กับศิลปินด้วยนะ
อย่าง Anatomy Rabbit เป็นเพลงแนว Vintage Pop ผมเลยต้องการสร้างโดมของหูฟังให้ใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะเราอยากได้เสียง Ambient ที่เยอะกว่าปกติ เพราะว่า Vintage Pop จะมีซาวด์ที่มันลอย ๆ เราจึงต้องออกแบบฮาร์ดแวร์ให้ได้ลักษณ์นั้นด้วย
อย่างเสียงจากไดรเวอร์ มันออกไม่ได้ขับออกมาข้างนอกอย่างเดียว เสียงมันออกไปข้างหลังที่โดมหรือแชมเบอร์แล้วสะท้อนกลับมาด้วย ยิ่งด้านหลังมีพื้นที่โปร่ง ก็จะยิ่งมีความก้องมากขึ้น เพราะเสียงมันสะท้อนกลับมา เกิดการหักล้างกัน แล้วถ้าโดมยิ่งใหญ่ รายละเอียดเสียงก็ยิ่งหด โดมยิ่งชิด เสียงก็ยิ่งชัด แต่กลายเป็นว่าให้เสียงที่แข็งกระด้างด้วย มันเลยต้องเข้าใจเรื่องของวัสดุศาสตร์แล้วก็เรื่องของแชมเบอร์ด้วยโชคดีที่ผมเรียนดนตรีมา เลยตรงนี้ก็เลยมองให้มันเป็นภาพได้ค่อนข้างง่ายกว่า
วิน นาวิน ทรัพย์จินดา
พี่วินเป็นดีไซเนอร์หูฟัง เป็นคนออกแบบได้ตรงใจศิลปินมากที่สุด เพราะทุกครั้งทุกศิลปินที่ผมไป แค่บอกเรื่องเล่ามาว่าตัวตนที่เขาอยากให้เป็นเป็นยังไง พี่วินสามารถตีสิ่งที่ศิลปินต้องการออกมาเป็นรูปภาพและมากกว่านั้นมันกลายเป็นหูฟัง พี่วินนี่สุดยอดมาก
อยากให้พี่วินพูดถึงเรื่องการออกแบบสักนิดนึง
เราต้องดูก่อนว่าศิลปินตั้งใจที่จะสื่ออะไร ต้องดู Iconic ของตัวแบรนด์ของเขา ตัวศิลปินเองก็จะมีสิ่งที่อยู่ในใจที่เขาอยากจะนำเสนอออกมาใช่มั้ยครับ ผมก็จะฟังเพลงเค้าก่อน ฟังสิ่งที่เขาอยากจะสื่อ แล้วดูว่าแบรนด์เค้ามีโลโก้อยู่แล้วไหม ถ้าเขาไม่มีโลโก้ที่ชัดเจนหรือไม่มีภาพที่ชัดเจน เราจะนำเสนอให้สื่อได้ยังไง
มันไม่ใช่แค่การคิดตัวโลโก้ที่จะออกมา มันต้องคิดว่าหูฟังตัวนึง มันจะมีสัญลักษณ์และมีรูปร่างออกมาให้สื่ออย่างไร ก็ต้องคำนวณหลายอย่าง ถ้าเราสร้างรูปทรงที่มันมีความใหญ่เทอะทะ หรือมันเล็กเกินไปเราจะไม่สามารถที่จะสื่อเสียงเพลงที่อยู่ในแชมเบอร์มันออกมาได้ด้วย
แล้วต้องคิดถึงตอนที่ใส่ ว่าตอนที่มันอยู่บนหูมันหนักเกินไปไหม องศาของตัวที่เราดีไซน์มันจะทำให้เกิดปัญหากับการสวมใส่หรือเปล่า
อย่าง Anatomy Rabbit ก็ง่ายหน่อยเพราะว่าเห็นภาพกระต่ายชัดเจนแต่อย่างวง ZWEED N’ ROLL นั้นไม่มีสัญลักษณ์
คุณอิงค์ เล่าเสริมว่า หลังจากได้ฟังเพลงเค้า เราตีความว่าความเจ็บปวดเนี่ยมันก็ทำให้กลายเป็นหัวใจที่แข็งแกร่งเหมือนกันนะ ความเจ็บปวดเหมือนกับหนามเหมือนสิ่งร้าย ๆ ที่มันเข้ามาแล้วมันกรีดแทงหัวใจเราแต่สุดท้ายถ้าเราทนไหวหัวใจเราจะแกร่งเหมือนเพชร แล้วถ้าเรามองข้างข้างมันเหมือนผู้หญิงที่ถูกสวมแหวนแต่งงานเอาไว้ บางทีมันมันก็เป็นความเจ็บปวดแต่บางทีมันก็สวยงามเหมือนกัน ถ้าคนมองบางคนจะเหมือนหัวใจร้าวแต่ถ้ามองดี ๆ มันจะเป็นหัวใจที่แข็งแกร่ง
ตอนแรกมันมาเป็นก้อนเหมือนก้อนดิน เราจำเป็นจะต้องขัดให้เงา แล้วลงสีด้วยมือสีแดงกับสีดำ ด้วยเทคนิคของวงการจิวเวอรี่ เรื่องเหลี่ยมเพชรทำให้สีดูสะท้อนสดใสออกมาได้เหมือนสีแดงเป็นอีกวัสดุหนึ่ง ทั้งที่จริง ๆ เป็นโลหะชิ้นเดียวกันหมด
หูฟังของ Bomb At Track
ส่วน Bomb At Track ทำร่วมกับศิลปินของเจนี่เรคอร์ดของแกรมมี่ เขาไม่มีสัญลักษณ์วง เขาอยากได้ระเบิดอยากเป็นกระบอกเสียงของประชาชนคนรุ่นใหม่ แล้ว Bomb At Track มีตัวย่อคือ BAT เป็นค้างคาว งั้นเป็นค้างคาวถือกระบอกเสียงไหมล่ะ ก็สะท้อนตัวตนของ Bomb At Track ได้เป็นอย่างดี จากเพลงของเขา จากนัยของเขา สรุปว่าโคตรที่จะลงตัว งานตัวนี้ก็โชว์ในตึกแกรมมี่ชั้น 35
หูฟังมันซ่อนนัยในการออกแบบ ศิลปินเลยสนุกมาก
อย่างกล่องหูฟังของวง Anatomy Rabbit หูฟังชุดนี้เราทำตอนโควิดนะครับ ไอ้ตัวมังกรเหมือนกับอุปสรรคที่เราต้องเจอโคตรใหญ่เลย คือช่วงโควิด จากวงที่มีงาน 20 กว่างานต่อเดือน กลายเป็นไม่มีเลย ไม่มีคนดู แล้วเราจะคอนเนคกับเขาได้ไง เสียงจากศิลปินที่เค้าถือกีต้าร์นะจะถูกส่งผ่านด้วยหูฟัง เพราะฉะนั้นทุกโปรดักส์มันจะถูกตีความแบบคนอาร์ต งานเราเลยแตกต่าง ไม่ใช่แค่ในไทยแต่ในโลก
ทำไมแบรนด์ใหญ่ถึงไม่ทำหูฟังแบบนี้
คุณวินเล่าว่า ถ้าบอกว่าจะให้ทางจีนหรือญี่ปุ่นมาผลิตอะไรหน้าตาแบบนี้ ต้องลงทุนกี่ล้าน แต่นี่มันเป็นการรวมกันของคนที่ใช่ อย่างผมทำ 3D ปั้นโมเดลอยู่แล้ว แล้วก็เล่นหูฟังอยู่แล้วด้วย
คุณอิงค์จึงเสริมว่า จริง ๆ หูฟังของ AcousticTone ขายราคาไม่ถึง 2 พันบาทมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ ก็ได้คุณวินเข้ามาช่วยถือส่วนงานออกแบบ และผมดูแลเรื่องเสียง และผลิตให้ได้จำนวนมากพอระดับหนึ่ง มันก็สามารถถัวเฉลี่ยให้ได้กำไรบ้าง อย่าง ZWEED N’ ROLL ขายรวม ๆ กันได้เป็นล้านบาท มันก็เห็นกำไร
มันไม่ใช่แค่หูฟัง มันเป็น Merchandise เป็นของสะสมในเวลาเดียวกัน
เราอยากทำอะไร Unique แบรนด์ใหญ่ทำอะไรไม่ได้ เราจะทำอันนั้นแหละ แบรนด์ใหญ่เปลี่ยนเร็วไม่ได้ เดือนเนี่ยผมอยู่กับ Anatomy Rabbit แล้วเดือนต่อไปผมอยากอยู่กับ ZWEED N’ ROLL เดือนต่อไปผมอยากอยู่กับ Safe Planet ซึ่งแบรนด์ใหญ่ทำไม่ได้ เพราะอะไรเพราะเขาต้องใช้เงินอัดฉีดเข้าไปเยอะ แต่เราขายคอนเซ็ปต์ให้ศิลปิน ศิลปินผมเข้าใจคุณนะคุณตั้งใจทำเพลงมากเลย เราอยากสนับสนุน
เอาง่าย ๆ นะเราคุยกับศิลปินนะ ยังไม่เริ่มอะไรเลยเราจ่ายที่แสนบาทละ แสนบาทในการที่ผมต้องไปทำ Mold ล่วงหน้า เนื่องจากเราไม่ได้กำไรเยอะ แล้วเราขายหูฟังในราคาไม่ถึง 2 พันบาท แต่เราต้องการเป็นแบรนด์หูฟังได้ เพราะตอนนี้เราไม่มีแบรนด์หูฟังไทยเลย เกาหลีมี จีนมี ญี่ปุ่นมี อเมริกามี ทำไมคนไทยจะมีไม่ได้
และถ้าเราวิ่งคุณภาพเสียงของเค้า เค้ามีองค์ความรู้มานาน 30-40 ปีแล้ว เราเพิ่งเริ่มมาไม่กี่ปีก็คงไม่ทัน แต่เราต้องการที่จะแตกต่างออกมาและยังไม่มีตรงไหนบนโลกเพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ได้ทำตามแบบปกติ แต่เราทำงานด้วยสิ่งที่มันมันขับเคลื่อนวงการหูฟังก็คือเสียงเพลง
เราอยากทำหูฟังที่คนฟังใส่แล้วภูมิใจ เป็นงานทำร่วมกับศิลปิน มันเลยมีงานคราฟที่แรงมาก
เราเอาลูกค้าของเรากับแฟนเพลงของศิลปินมาโถมใส่กัน คือเราไม่มีงบประชาสัมพันธ์เท่าแบรนด์ใหญ่ ๆ หรอก ปรากฎว่าตอน ZWEED N’ ROLL มีเอ็นเกจคนเห็น 500,000 คน ล่าสุดของของ T_047 หูฟังรูปบ้านคนเห็น 300,000 คนทั้งที่ไม่ได้ยิงแอดเลยนี่หว่า ให้มันเป็นความต้องการเหมือนร้านลับ คนเค้าถึงจะภูมิใจ
เราซีเรียสเรื่องตัวตนมากเพราะว่า เราไม่อยากให้มันถูกกลบด้วย Mass Production ที่ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้ซีเรียสแบบทุกวันนี้ ผมว่าปัจจุบันเรื่องของการเป็นตัวจริงในโลกออนไลน์นะ มันอยู่ที่ใครเนิร์ดกว่ากันนะ สมัยก่อนคนหล่อคนสวยเป็นเป็นกระแสหลัก ปัจจุบันคนบ้าเป็นเมนสตรีม กลายเป็นว่าคนเนิร์ดมีเสน่ห์ในออนไลน์มากเพราะเขารู้จริงจัด ๆ อนาคตคนพวกนี้เขาจะเติบโตแบบสุด ๆ อย่างเราต้องเนิร์ดในเรื่องหูฟัง รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ อย่างเราเรียนจบดนตรีมา วิทยาศาสตร์ไม่รู้เรื่อง แชมเบอร์ไม่ถนัด จิวเวลลี่กระจอก ต้องรู้ให้หมด เพื่องานของตัวเอง
เพราะฉะนั้นผมอยากจะคงความคราฟไว้และกลายเป็นแบรนด์ที่มันเป็นคราฟไปด้วย มันอาจจะไม่ได้โตแบบ JBL, Sony แต่มันมีพื้นที่ให้เราค่อย ๆ ยืนดู ค่อย ๆ โตก็แฮปปี้แล้ว
ช่วยสนับสนุนศิลปิน
คือผมเองเป็นนักดนตรีที่ไม่ได้เล่นดนตรีแล้ว ผมฝันไว้นะสมัยก่อนถ้าเราได้ทำเพลงแต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำแต่ผมนับถือศิลปินสมัยนี้นะ เขาได้เป็นศิลปินแล้วแต่เขายังไม่สามารถเอาดนตรีเล่นเพื่อให้พอกินได้ ร้านอาหารจ้างเริ่มต้น 1,500 บาท ก็ต้องอดทนรอจนเพลงเขาดัง เพื่อที่จะได้มีงานจ้างที่ดีขึ้น ผมนับถือคนพวกนี้มาก ๆ เพราะฉะนั้นการที่เราทำสินค้าออกมาเพื่อสนับสนุนศิลปินที่มีความอดทน ที่ผมว่าโคตรเจ๋งเลย ก็เลยทำตัวหูฟังออกมาซัพพอร์ตเขาด้วยและเติมฝันตัวเองด้วยสิ ดีใจที่มีทีมที่ดีมาก ๆ ครับมีคนที่เข้าใจในการทำงานด้วยกัน
มองคนฟังเพลงในไทยเป็นยังไง
ผมว่าคนฟังเพลงในไทยไม่กี่ปีมานี้ตลาดเพลงเปลี่ยนไปเยอะ สมัยก่อนนักดนตรีต้องมีค่ายโปรโมท ปัจจุบันวงที่ผมทำด้วย บางวงไม่มีค่ายนะฮะ แต่เพลงก็อยู่ในเมนสตรีมมาหลายปี แล้วคนยุคปัจจุบันเลือกฟังเพลงกันได้มากกว่าสมัยก่อน
อย่างสมัยก่อน เราจะฟังเพลงตามทีวีและวิทยุ สมมุติว่าบอดี้สแลมดังทุกคนจะได้ยินบอดี้สแลม บิ๊กแอสดังทุกคนได้ยินบิ๊กแอสกันหมด แต่ปัจจุบันทุกคนสามารถเลือกเพลงที่มันเฉพาะกลุ่มได้ อย่างอยากฟัง Anatomy Rabbit หาฟังเลย ไม่จำเป็นต้องใช้สื่ออะไรมากมาย แต่เลือกเพลงที่อยากจะฟังจริง ๆ ไม่ใช่มาจากการดันแบบเปิดทุกต้นชั่วโมงวิทยุที่เราเจอกันสมัยก่อน
เด็กสมัยใหม่เมื่อฟังเพลง เขาไม่ได้สนใจเลยว่ามีค่ายหรือไม่มีค่าย หรือยิ่งใหญ่ขนาดไหน เขาอยากจะซัพพอร์ตศิลปินที่เขาชื่นชอบ
คนทำเพลงเองก็ง่ายมากๆ มี Home Studio ที่บ้านกันแทบทุกคน ราคาอุปกรณ์มันถูกลง ทำให้ศิลปินเกิดขึ้นมากมาย คนฟังเองก็ได้ฟังเพลงหลายกลุ่มมากขึ้น มันทำให้ตลาดการฟังเพลงในไทยของปัจจุบัน มันสนุกนะเพราะว่าสมัยก่อนเราจะมีแค่ แนวร็อค แนวป๊อป ฟังก์ อาร์แอนด์บี สมัยนี้เราได้ฟังเพลงที่เป็นตัวตนจริงๆ ของนักดนตรีเพิ่มขึ้นมากมาย ที่เมื่อก่อนเราก็ไม่รู้จัก อย่าง วินเทจป๊อป, ชูเกซ (Shoegaze), ดรีมป๊อป มันคืออะไรมันแตกแขนงย่อยของดนตรีป๊อปอีกมากมาย มันสนุกขึ้นมันไม่จำเจ
การสร้างหูฟังของ AcousticTone
เราเริ่มพัฒนาหูฟังขึ้นมาทีละชิ้นส่วน จากแจ็คหูฟังที่เราเริ่มผลิตเองโดยเอาโลหะที่ดีกว่าปกติเข้ามาเพื่อลดเสียงรบกวน จนล่าสุดที่เราทำร่วมกับมหาวิทยาลัยก็คือการเคลือบไดรเวอร์ ปกติไดรเวอร์หรือตัวขับเสียงในหูฟังจะเป็นแผ่นฟิล์มทำจากพลาสติก ที่นี้เราพัฒนาให้เอาโลหะมาเคลือบพลาสติกได้ เพื่อสร้างเสียงที่แตกต่าง และไดรเวอร์ที่แข็งแรงขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานจากงานวิจัยงานผลิตด้านจิวเวลรี่ ซึ่งเราทำงานร่วมกับด็อกเตอร์ที่พบกันในงาน GIA โดยใช้เวลาวิจัยและพัฒนาอยู่ประมาณ 1 ปีเราก็สามารถเคลือบตัวไดรเวอร์ได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย
หมายความว่าก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้เคลือบไดรเวอร์ในไทยใช่ไหม?
คือมันค่อนข้างเฉพาะเจาะจงนะฮะ มันจะไม่ได้แบบเฮ้ยเราสามารถเอาเครื่องนั้นนี้มาเคลือบได้เลย
เดี๋ยวผมเล่าหลักการทำงานของมันก่อน จะมีตู้สุญญากาศนะครับ แล้วเอาไดรเวอร์เข้าไปวาง จากนั้นดึงอากาศออกให้หมดให้มันเป็นในภาวะสุญญากาศ แล้วทำกระบวนการเปลี่ยนจากของแข็งคือโลหะให้กลายเป็นก๊าซ เมื่อก๊าซไปแตกตัวอยู่ในตู้ แล้วปล่อยให้มันถูกเคลือบด้วยประจุไฟฟ้า มันก็จะเคลือบบนหน้าแผ่นไดอะเฟรม พอเคลือบเสร็จแล้ว ก็ต้องล้างตู้ แล้วค่อยทำอีกชุดหนึ่ง
แรกสุดเราใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งได้หูฟังแค่ 1 ชุดคือ 2 ข้าง ตอนนี้เราพัฒนากระบวนการแล้ว เวลาเท่าเดิมเราผลิตได้ประมาณ 100 คู่ ก็คือ 200 ชิ้น ที่เร็วขึ้นคือเปลี่ยนดีไซน์เครื่องจักร จากเคลือบด้วยการปล่อยให้ไอโลหะมันตกลงมา ก็เปลี่ยนเป็นยิงไอออกมาแล้วให้ไดอะเฟรมผ่านทีละชิ้นด้วยวิธีหมุนเป็นวงกลม ก็ต้องดีไซน์เครื่องใหม่ทั้งหมด
ความท้าทายคือ ตอนแรกเราเอาแค่เคลือบให้มันติดก่อนเพราะมันเป็นการเอาโลหะกับพลาสติกมาอยู่รวมกัน มันก็ยากแล้วและให้มันติดไปตลอดกาลมันก็ยาก ที่ทำติดตอนแรกก็ทำให้ไดอะเฟรมบุบอีก ใช้เวลาพัฒนาอยู่ประมาณ 1 ปี พอทำให้มันหายบุบ ก็เกิดรอยร้าวอีกเพราะมันเคลือบหนาเกินไป กว่าเราจะลดความหนาลงมาได้จนถึงปัจจุบันที่เราใช้ ก็ใช้เวลาอีกประมาณปีนึง ถึงได้เสียงได้สมบูรณ์แบบ
โดยตอนนี้กำลังการผลิตเราก็มีพอสมควร อย่างหูฟัง 500 ชุดเราใช้เวลาผลิตกันแค่ 2 – 4 อาทิตย์ ซึ่งทำไมไม่ผลิตต่อ สมมุติเราทำหูฟังของ 1 วง มันมันก็จะมีวงต่อไปที่ไทม์ไลน์มาต่อกันแล้วเพราะฉะนั้นเราก็เลยทำ 1-2 เดือน 1 ซีรีส์
ยากไหมกับการทำหูฟังในไทย
ยากตอนแรกมาก ๆ เลย เพราะเราคุมอะไรไม่ได้เลย เราไม่ได้สร้างอะไรเองสักชิ้นเดียว เราสั่งของสำเร็จรูปมาเอามาลองเอามาเปลี่ยน สายเอาตะกั่วแบบ 20 บาท ตะกั่ว 500 บาท ตะกั่วเมตรละ 2 – 3,000 บาท มาลองว่ามันต่างกันยังไง ซึ่งถามว่าเอาแต่ชิ้นส่วนแพง ๆ มารวมเป็นของดีเลยได้ไหม ก็ไม่ได้ มันต้องเลือกให้สอดคล้องกัน
เราก็ใช้เวลา 3 ปีในการวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้ให้มันเข้าที่เข้าทาง กว่าจะเข้าใจเรื่องสายสาย เรื่องไดรเวอร์ เรื่องการเคลือบ กว่าจะเข้าใจว่าเอาทุกอย่างลงมาแมตชิ่งกันเพื่อให้ได้เสียงที่กลมกล่อมมันต้องทำยังไงก็ใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งตอนนี้ชิ้นส่วนที่เราสร้างได้เองแล้วก็มีพวกแจ็ค ตัวบอดี้หูฟัง แล้วก็ตัวเคลือบไดอะแฟรม ในอนาคตเราจะผลิตสายและไดรเวอร์เองก็จะครบส่วน
ดูง่าย ๆ ประเทศที่สามารถผลิตฟิล์มเองได้ ก็จะสามารถผลิตไดรเวอร์เองได้ แต่ในไทยยังไม่มีโรงงานนี้เลยแม้แต่โรงงานสก๊อตเทปหรืออะไรเองก็ต้องนำเข้าจากอเมริกา เกาหลี จีน มีแค่ไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตได้
อนาคตของ AcousticTone
ตอนนี้เรามีแต่หูฟังกลุ่ม Earbuds ส่วนหูฟัง In-Ear คิดว่าจะออกปีนี้ แต่เนื่องจากตัว Artist Signature Series ประสบความสำเร็จเกินคาด ทำให้มีหลาย ๆ วงติดต่อเข้ามา แผนปีนี้ทั้งปีเลยยังไม่ได้ออกเลย แต่ว่าเร็ว ๆ นี้จะมี In-Ear ออกมาสำหรับนักดนตรีแม้ว่าจะทำงานกลางคืนหรือศิลปินคุณจะได้ยินคุณภาพแบบเดียวกันในราคาที่สมเหตุสมผลและเป็นค่าแรงคนไทย
ซึ่งการออกแบบ Earbuds กับ In-Ear นั้นแตกต่างกันมาก อย่าง Earbuds เราใช้ไดรเวอร์ขนาด 14 ถึง 16 มิลนะครับ แต่ In-Ear จะมีประเภทของไดรเวอร์ที่ต่างออกไป อย่างไดรเวอร์ Earbuds มีแค่หน้าเป็นฟิล์มกับหน้าเป็น TPU หรือ TPH ที่เป็นยาง แต่พอ In-Ear จะมีประเภทของไดรเวอร์เยอะมาก เช่น Planar Magnetic, Balanced Armature หรือ Dynamic Driver แค่ไดนามิกมันมีตั้งแต่ 6 มิล 7 มิล 8 มิล 9 มิลถึง 12 มินแล้วแต่ว่าเราอยากได้ความใหญ่ความเล็กขนาดไหนเสียงก็จะไม่กัน ทำให้เราดีไซน์เสียงที่ละเอียดได้ แต่พื้นที่ของการทำงานก็จะยากขึ้นเนื่องจากมันมีพื้นที่จำกัดลงอีก
นอกจากนี้In-Ear ยังสามารถยัดไดรเวอร์ได้หลายตัว เลยต้องคำนวณให้ไดรเวอร์แต่ละตัวมันทำงานเสริมกัน ไม่ใช่ความถี่มาทับกัน มันเลยใช้ความรู้เดิมของ Earbuds ไม่ได้ มันคิดละแบบเลย เลยต้องใช้เวลาพัฒนาค่อนข้างนาน
Headphone
ส่วนเฮดโฟนเนี่ยคือเราความจริงเราทำไปได้ 60 – 70% แล้วแต่ว่าเราพับโครงการไปก่อน เพราะเครื่อง CNC แบบ 5 แกนในไทยแพงมาก คิดค่าใช้งานกันหลักชั่วโมง กลายเป็นว่าผมไม่สามารถทำต้นทุนสร้าง Mold ให้มันต่ำได้ แต่ว่าตอนนี้เพื่อนที่เป็นโปรดิวเซอร์กับคนที่เป็น Sound Engineer อยากได้หูฟังสักตัวนึงที่เอาไว้อัดเสียงอ่ะในโฮมสตูดิโอ อยากได้ราคาไม่แพงมากแต่คุณภาพดี ก็กำลังวิจัยและพัฒนาอยู่
แต่คิดว่าคงไม่ทำลำโพง ส่วนต่อไปน่าจะพัฒนาหูฟังไร้สายที่กำลังมาแรง
ช่างภาพ: ศักดนัย กลางประพันธ์
กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์
สถานที่: ร้าน Cassette Shop สะพานควาย