รีเซต

Astrolab จับมือ SpaceX เตรียมส่งรถสำรวจขนาดใหญ่สำหรับใช้บนดวงจันทร์

Astrolab จับมือ SpaceX เตรียมส่งรถสำรวจขนาดใหญ่สำหรับใช้บนดวงจันทร์
TNN ช่อง16
4 เมษายน 2566 ( 23:59 )
68
Astrolab จับมือ SpaceX เตรียมส่งรถสำรวจขนาดใหญ่สำหรับใช้บนดวงจันทร์

เอสโทรแล็บ (Astrolab) บริษัทผู้พัฒนายานพาหนะสำรวจอวกาศได้ลงนามในข้อตกลงกับ สเปซเอกซ์ (SpaceX) บริษัทอวกาศชื่อดังเตรียมส่งยานพาหนะสำรวจอวกาศลำแรกไปยังดวงจันทร์ ด้วยยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ในอนาคต

ภาพจาก Astrolab

 

ยานพาหนะสำรวจอวกาศลำนี้มีชื่อว่า เฟล็กซ์ (FLEX -  Flexible Logistics and Exploration) ลักษณะเป็นรถโรเวอร์ หรือรถสำรวจที่ออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนบนพื้นผิวของดาวต่าง ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งในที่นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้วิ่งบนพื้นผิวดวงจันทร์

ภาพจาก Astrolab

 

ตัวรถดูเผิน ๆ แล้วคล้ายกับรถเข็นขนาดใหญ่ มีสี่ล้อ ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ตัวล้อได้รับการออกแบบพิเศษให้ทนทานต่อการวิ่งบนพื้นผิวขรุขระของดวงจันทร์ ส่วนจุดเด่นสำคัญของรถคันนี้ คือสามารถปรับใช้งานขนส่งได้หลากหลาย ทั้งการขนส่งสิ่งของ และการขนส่งนักบินอวกาศ 2 คน ไปยังตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อการสำรวจระยะไกล

ภาพจาก Astrolab

 

ก่อนหน้านี้บริษัทได้ทดสอบการใช้งานต้นแบบของรถสำรวจอวกาศเฟล็กซ์ ในทะเลทรายแคลิฟอร์เนีย และการทดสอบในครั้งนั้น ยังได้รับเกียรติจากอดีตนักบินอวกาศนาซา คริส แฮดฟิลด์ (Chris Hadfield) ชาวแคนาดาเข้าร่วมการทดสอบขับรถสำรวจดวงจันทร์ด้วยตัวเอง โดยการทดสอบ เน้นไปที่การพัฒนาแขนหุ่นยนต์และการใช้เครื่องมือ และด้วยการพัฒนาความสามารถของรถให้สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้มากถึง 1,500 กิโลกรัม วิ่งด้วยความเร็วสงสุด 24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันจึงมีศักยภาพมากพอที่จะใช้สำหรับรองรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการขนสิ่งบรรทุกบนดวงจันทร์ได้เป็นอย่างดี

ภาพจาก Astrolab

 

ซึ่งขณะนี้บริษัทเผยว่าอยู่ระหว่างการดัดแปลงเพื่อเตรียมขนส่งไปยังพื้นดินใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ในกลางปี 2026 โดยอาจจะได้ชื่อว่าเป็นรถโรเวอร์ที่ใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะได้เดินทางไปดวงจันทร์อีกด้วย ส่วนแผนการต่อไป บริษัทตั้งเป้าจะเข้าร่วมแข่งขันการเสนอแบบรถสำรวจดวงจันทร์ (Lunar Terrain Vehicle (LTV) ที่ทางองค์การนาซ่าจะนำไปใช้กับภารกิจอาร์เทมิส ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต


ข้อมูลจาก spacenews, abplive, futurismnytimes

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง