นักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยง โควิด-19 แม้หายป่วยแล้ว อาจทำให้เกิดโรคพาร์กินสันในอนาคต
แม้การติดเชื้อโควิด-19 สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าโรคนี้อาจมีผลระยะยาวต่อสมองของผู้ป่วย เพราะไวรัสทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติขึ้นมาได้
การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสารงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ACS Chemical Neuroscience ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในประเทศเนเธอแลนด์ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาหาความเกี่ยวข้องของไวรัส SARS-CoV-2 ต้นเหตุของโรคโควิด-19 กับการเกิดโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคในกลุ่มการเสื่อมถอยของระบบประสาท (Neurodegenerative disease) เกิดจากการก่อตัวที่ผิดปกติของโปรตีนแอลฟา-ซิงนูคลิอิน (α-synuclein) ในระบบประสาท โดยโปรตีนนี้จะก่อตัวเป็นโปรตีนแอมิลอยด์ (Amyloid หรือเรียก Lewy body) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ขัดขวางการทำงานของเซลล์ในระบบประสาทและสลายตัวได้ยาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มชักนำให้โปรตีนใกล้เคียงกลายเป็นแอมิลอยด์ได้อีกด้วย
เมื่อโปรตีนแอมิลอยด์เกิดการสะสมในส่วนของ Substantia Nigra (ซับสแตนเชีย ไนกรา) บริเวณปมประสาทฐานหรือเบซัล แกงเกลีย (Basal ganglia) ในสมอง พื้นที่ของ Substantia Nigra เป็นส่วนที่ผลิตสารสื่อประสาทโดพามีน (Dopamine) ออกมาจำนวนมาก เมื่อเกิดความผิดปกติกับพื้นที่ดังกล่าวส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติตามมา อันได้แก่ การเคลื่อนไหวผิดปกติ, ความจำสั่น, สูญเสียประสาทการดมกลิ่น, มือสั่น, เชื่องช้า และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเหล่านี้คืออาการของโรคพาร์กินสันนั่นเอง
จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในเนเธอแลนด์พบว่า โปรตีน N ที่เกิดจากไวรัส SARS-CoV-2 สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนแอลฟา-ซิงนูคลิอินในระบบประสาท และเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นโปรตีนแอมิลอยด์ได้ จึงเป็นไปได้ว่าการติดเชื้อโควิด-19 อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคพาร์กินสันในอนาคต
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นการทดลองภายในห้องปฏิบัติการ เป็นเพียงการศึกษาปฏิกิริยาภายในหลอดทดลอง และยังไม่ได้มีการศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิต นั่นหมายความว่าแท้จริงแล้วเราไม่อาจทราบได้ว่า โปรตีน N จากไวรัส SARS-CoV-2 จะสามารถเร่งปฏิกิริยาการการเกิดโปรตีนแอมิลอยด์ในมนุษย์ได้จริงหรือไม่ จึงตอบได้แต่เพียงว่า "มีโอกาสเป็นไปได้ จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ"
ถึงกระนั้น การศึกษานี้ไม่ใช่การศึกษาแรกที่มีการกล่าวถึงผลกระทบของโควิด-19 กับสมองของมนุษย์ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยว่าโควิด-19 อาจมีความเกี่ยวข้องกับภาวะความจำเสื่อมที่ตามมาภายหลังการติดเชื้อ แม้ผู้ป่วยจะรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว อีกทั้งภาวะสูญเสียประสาทการดมกลิ่น ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเป็นภาวะเริ่มต้นที่พบได้ในผู้ป่วยพาร์กินสันอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายงานพบการพัฒนาโรคพาร์กินสันในผู้ป่วยรายหนึ่ง โดยผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อโควิด-19 ในเดือนมีนาคม ปี 2020 หลังจากรักษาจนหายเป็นปกติแล้ว เขาเริ่มแสดงอาการหลง ๆ ลืม ๆ ไม่สามารถพิมพ์ข้อความในโทรศัพท์ได้ จากนั้นจึงเริ่มมีอาการมือสั่นและการเคลื่อนไหวผิดปกติตามมา ภายในระยะเวลา 2 เดือนเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะพาร์กินสัน (Parkinsonism - เป็นการวินิจฉัยภาวะที่แสดงการเคลื่อนไหวผิดปกติ และมีแนวโน้มเป็นโรคพาร์กินสัน)
นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าโควิด-19 อาจนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมในผู้ป่วยอีกจำนวนมากในอนาคต ดังนั้น สถาบันการแพทย์ต่าง ๆ จึงเร่งศึกษาปัญหานี้เพื่อหาความเชื่อมโยงที่ชี้ชัดถึงความเป็นไปได้ และหากพบความเชื่อมโยงของโควิด-19 กับโรคความจำเสื่อมหรือพาร์กินสันจริง ก็จะได้พัฒนาวิธีป้องกันในลำดับถัดไปได้ทันท่วงที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Iflscience