วิจัยชี้ นอนน้อย ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น

งานวิชัยชี้การนอนไม่พอ หรือ ถูกรบกวนระหว่างนอนหลับบ่อยๆ ส่งผลต่ออารมณ์ด้านลบ ทำให้ความสามารถในการเข้าใจความต้องการของคนอื่นน้อยลง คนน้อยนอนจึงมีนิสัยเห็นแก่ตัวมากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับอย่างเพียงพอ
ผลเสียของการนอนน้อย
คนมักคิดว่านอนน้อยส่งผลต่อความสามารถในการทำงานเท่านั้น แต่มีการศึกษาที่ชี้ว่า มันยังส่งผลต่อนิสัยของคนเราได้อีกด้วย โดยในกลุ่มคนที่การนอนหลับถูกรบกวน เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือนอนกรน และคนที่นอนไม่เพียงพอ จะไม่มีความสามารถในการเข้าใจความต้องการของคนอื่น ทำให้คนๆ นั้นนิสัยแย่ลง จนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Biology ยืนยันว่า ผลเสียของการนอนไม่พอ ทำให้นิสัยคนเปลี่ยนไป การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถทำให้คุณเห็นแก่ตัวได้ ความสามารถในการเข้าใจเหตุผล สัมพันธ์กับการขาดการนอนหลับ
การศึกษาบอกอะไรกับเรา?
ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการประเมิน 3 ส่วนแยกกัน เพื่อวัดผลกระทบของการนอนไม่พอ ที่จะมีผลต่อความเต็มใจในการช่วยเหลือผู้อื่น
การประเมินรอบแรก อาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 24 คนเข้ารับการสแกนสมองหลังจากนอนหลับครบ 8 ชั่วโมง หลังจากนั้น ก็ทำการสแกนสมองอีกครั้ง ในคืนที่พวกเขาไม่ได้นอนเลย จากการสแกน นักวิจัยพบว่ามีกิจกรรมในส่วนของสมองที่มักเกี่ยวข้องกับการที่ผู้คนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือพยายามเข้าใจความต้องการของผู้อื่นน้อยลงหลังจากคืนที่ไม่ได้นอน
การประเมินส่วนที่ 2 นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามคนมากกว่า 100 คนทางออนไลน์เป็นเวลา 3 หรือ 4 คืน ในช่วงนี้ นักวิจัยได้วัดคุณภาพการนอนของผู้เข้าร่วม และจากนั้นตรวจสอบความปรารถนาของพวกเขาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเปิดประตูลิฟต์ให้คนอื่น การเป็นอาสาสมัคร หรือการช่วยเหลือคนแปลกหน้าที่บาดเจ็บบนถนน ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมที่มีการนอนหลับถูกรบกวนมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือน้อยลง
ท้ายที่สุด ส่วนที่สามของการศึกษาเกี่ยวข้องกับการสำรวจฐานข้อมูลการบริจาคเพื่อการกุศล 3 ล้านครั้งในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2001 ถึง 2016 โดยนักวิจัยพยายามหาว่าการบริจาคเปลี่ยนแปลงหรือไม่หลังเปลี่ยนเวลาเข้านอน และพบว่ามีการลดลงของการบริจาคถึง 10%
คนที่นอนไม่พอเข้าใจความต้องการและอยากช่วยเหลือคนอื่นน้อยลง
การศึกษาทั้ง 3 ส่วน แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการนอนหลับกับพฤติกรรมการช่วยเหลือสังคม โดยแม้แต่การสูญเสียการนอนหลับเพียงชั่วโมงเดียวจากการเปลี่ยนเวลาก็สามารถส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจบริจาคของผู้คนได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในสังคมมนุษย์ซึ่งถูกออกแบบมาตามธรรมชาติให้ช่วยเหลือเกื้อกูล เห็นอกเห็นใจ เมตตา และมีน้ำใจ เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างเป้นสัตว์สังคม แม้แต่การนอนหลับ ก็ยังมีส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าว และเมื่อขาดการนอนที่เหมาะสม ก็เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมแบบเกื้อกูลกันของมนุษย์