รีเซต

ช่วยผู้ป่วย “พาร์กินสัน” เดินได้อีกครั้งด้วยเทคโนโลยีจาก “สวิตเซอร์แลนด์”

ช่วยผู้ป่วย “พาร์กินสัน” เดินได้อีกครั้งด้วยเทคโนโลยีจาก “สวิตเซอร์แลนด์”
TNN ช่อง16
10 พฤศจิกายน 2566 ( 11:29 )
64
ช่วยผู้ป่วย “พาร์กินสัน” เดินได้อีกครั้งด้วยเทคโนโลยีจาก “สวิตเซอร์แลนด์”

นักวิจัยจากสถาบันในสวิสเซอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์ปลูกถ่ายแบบใหม่ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการเดินให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson) ช่วยเพิ่มความมั่นใจ และเพิ่มความคล่องตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น


ภาพจากรอยเตอร์

 

อุปกรณ์ปลูกถ่ายตัวใหม่นี้ ได้นำไปทดสอบใช้กับ มาร์ก กูเธียร์ (Marc Gauthier) ชายวัย 63 ปี ที่ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันมาอย่างยาวนาน และต้องเก็บตัวอยู่แค่ในบ้านเท่านั้น จนกระทั่งเขาได้รับการผ่าตัดระบบประสาทเทียม (neuroprosthetic) ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโลซานน์ (Lausanne University Hospital (CHUV)) ในสวิตเซอร์แลนด์


ภาพจากรอยเตอร์

 

ซึ่งอุปกรณ์นี้ประกอบไปด้วย แผ่นอิเล็กโทรด (Electrode field) หรือตัวนำไฟฟ้าที่จะติดอยู่บริเวณไขสันหลัง (spinal cord) ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับเครื่องกำเนิดแรงกระตุ้นไฟฟ้า (electrical impulse generator) ที่ติดตั้งใต้ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง ก็จะกระตุ้นไขสันหลังให้สั่งการทำงานของกล้ามเนื้อขา


ซึ่งหลังจาก กูเธียร์ ได้รับการปลูกถ่ายอุปกรณ์นี้ ร่วมกับการทำทดสอบใช้งานร่วมกับนักวิจัย ในที่สุดเขาก็สามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่วขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยตัว กูเธียร์ เองก็เผยว่าด้วยเทคโนโลยีนี้ ทำให้เขารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น เพราะในที่สุดก็สามารถเดินออกไปทำธุระต่าง ๆ นอกบ้านได้เอง ไม่ต้องอยู่แต่ในบ้านอีกต่อไป


ภาพจากรอยเตอร์

 

สำหรับโรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว โดยมีอาการทางกายต่าง ๆ เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า เดินลำบาก และรักษาความสมดุลของร่างกายได้ยาก ทำให้หกล้มง่าย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการความจำเสื่อมได้ด้วย โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า อุบัติการณ์ของโรคนี้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขประมาณการระบุว่าในปี 2019 มีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 8,500,000 คนทั่วโลก


ภาพจากรอยเตอร์

 

ซึ่ง เกรกัวร์ คูร์ทีน (Grégoire Courtine) หนึ่งในทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสโลซาน หรือ อีพีเอฟแอล (EPFL) ผู้พัฒนางานวิจัยนี้ เชื่อว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยพาร์กินสันอีกจำนวนมาก และได้ตีพิมพ์งานวิจัยนี้ ลงในวารสารวิจัยด้านการแพทย์ เนเชอร์ เมดิเคิล เจอนัล (Nature Medicine journal) โดยมีแผนจะดำเนินการทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยใหม่อีก 6 รายในปีหน้า 



ข้อมูลจาก reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง