รีเซต

เป็นงูสวัด หลังฉีดวัคซีนโควิด เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

เป็นงูสวัด หลังฉีดวัคซีนโควิด เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรได้บ้าง
Ingonn
24 มิถุนายน 2564 ( 13:29 )
3.2K
เป็นงูสวัด หลังฉีดวัคซีนโควิด เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

 

ก่อนหน้านี้มีกระแสโพสต์ แชร์ เกี่ยวกับการเกิดงูสวัดหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้หลายคนกลัวว่าจะเกิดผลกระทบอะไรกับตนเองไหม อาจสร้างความกังวลได้เมื่อจะต้องไปฉีด โดยล่าสุดกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ออกมายืนยันว่าการเกิดโรคงูสวัดตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบได้ไม่บ่อย และอาจไม่ใช่สาเหตุจากวัคซีนโดยตรง เนื่องจากโรคงูสวัดเป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยอยู่แล้ว 

 

 


วันนี้ TrueID จึงพามาไขข้อเท็จจริงว่าทำไมถึงเกิดงูสวัดขึ้นได้หลังจากฉีดวัคซีนไป แต่ขอย้ำให้มั่นใจก่อนว่าการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นมีผลดีมากกว่าผลเสีย หากสงสัยว่าเป็นโรคงูสวัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาในช่วงแรกของโรคมีผลการรักษาที่ดีกว่า

 

 


โรคงูสวัดคืออะไร


เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส  เชื้อไวรัสนี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ร่างกายทั้งจากการหายใจ หรือการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง จะทำให้เป็นโรคสุกใส เมื่อหายจากโรคนี้แล้ว เชื้อจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลานานหลายปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ

 

 

เมื่อเวลาที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เช่น อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อที่แฝงตัวอยู่ก็จะแบ่งตัว เพิ่มจำนวนทำให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดการปวดตามแนวเส้น ประสาท และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนังตามแนวเส้น ประสาท โดยที่ตุ่มน้ำสามารถกลายเป็นตุ่มหนองและแตกเป็นแผล หรือเป็นสะเก็ดตามมาได้ หลังจากอาการทางผิวหนังหายแล้ว อาจมีอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยบางราย รวมถึงอาจมีแผลเป็นตามหลังได้ หลังจากอาการทางผิวหนังหายแล้ว อาจมีอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยบางราย รวมถึงอาจมีแผลเป็นตามหลังได้ 

 

 

 


ทำไมฉีดวัคซีนโควิดถึงเกิดงูสวัดได้


การเกิดโรคงูสวัดตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 พบได้ไม่บ่อย และอาจไม่ใช่สาเหตุจากวัคซีนโดยตรง เนื่องจากการกระตุ้นให้เป็นโรคงูสวัดตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นพบได้ไม่บ่อย ข้อมูล ณ เวลานี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า การเกิดโรคงูสวัดตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด มีสาเหตุเกิดจากวัคซีนเองมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการกระตุ้นของเชื้อไวรัส varicella หรือว่าเป็นเหตุบังเอิญที่พบร่วมกัน เนื่องจากโรคงูสวัดเป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยอยู่แล้ว ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังมีความคิดเห็นว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นมีผลดีมากกว่าผลเสีย

 

 

ส่วนใหญ่ในต่างประเทศ เป็นการรายงานในการเกิดโรคงูสวัดหลังจากได้รับวัคซีนประเภทที่ใช้สารพันธุกรรม (mRNA vaccines) โดยมีรายงานทั้งการเกิดโรคงูสวัดหลังได้วัคซีนทั้งเข็มแรก และเข็มที่สอง นอกจากนี้ ยังไม่มีคำแนะนำให้งดวัคซีนเข็มที่สอง หากเกิดโรคงูสวัดหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก  

 

 


กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้ง่าย


การเกิดการกระตุ้นของไวรัส varicella ที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดนั้น มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด

 

 


อาการของโรคงูสวัด


ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง หลังจากนั้น 2-3 วัน มีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวด แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย ผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่ม หรือเป็น แถวยาวตามแนวเส้นประสาท และจะแตกออกเป็นแผล ต่อมาจะตกสะเก็ด และหายได้เองใน 2 สัปดาห์ และเมื่อแผลหายแล้ว อาจยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้

 

 


อาการแทรกซ้อนของโรคงูสวัด


ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ อาการปวดตามแนวเส้น ประสาทหลังการติดเชื้อ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป บางรายอาจปวดได้นานหลายปี ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่พบได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ตาอักเสบ แผลที่ กระจกตา และภาวะแทรกซ้อนทางหู เป็นต้น

 

 

ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคงูสวัดอาจเป็นรุนแรงและแพร่กระจายได้ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่พบน้อย เช่น สมองและปอดอักเสบ

 

 


การรักษาและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคงูสวัด

 

- ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติอาจรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้ปวด เนื่องจากสามารถหายได้เอง

 

 

- ในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก การได้รับประทาน ยาต้านไวรัส เช่น acyclovir ภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังเกิดอาการจะช่วยให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้น และลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้

 

 

- ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 10 นาที 3-4 ครั้ง/วัน จะช่วยทำให้แผลแห้งขึ้น

 

 

- ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือรับประทานร่วมด้วย

 

 

- ถ้ามีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก

 

 

- ตัดเล็บสั้น ไม่แกะเกา และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและกลายเป็นแผลเป็น

 

 

- ถ้ามีอาการปวดหลังการติดเชื้อ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลแก้ปวด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

 

 

- ไม่พ่นหรือทายา เช่นยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรลงไป บริเวณตุ่มน้ำ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็นได้

 

 

 

การป้องกันการแพร่กระจายของโรคงูสวัด


- การสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยงูสวัดอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดเป็นโรคสุกใสได้ ดังนั้นควรแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอน ของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน

 

 

- ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจาย สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้นควรแยกผู้ป่วย ไม่ใกล้ชิดกับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรค เด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์

 

 

 

การป้องกันโรคงูสวัด 

 

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดแล้ว โดยสามารถลด โอกาสการเกิดโรคงูสวัด หรือหากว่าเกิดการติดเชื้อจะสามารถลดความรุนแรงของอาการงูสวัดและอาการปวดหลังการติดเชื้อ แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี

 

 

 

 


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
          

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง