รีเซต

คุมกำเนิดในช่วงโควิด-19 ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง กินยาคุม-ฉีดยาคุมได้ไหม

คุมกำเนิดในช่วงโควิด-19 ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง กินยาคุม-ฉีดยาคุมได้ไหม
Ingonn
24 มิถุนายน 2564 ( 12:33 )
2.4K
คุมกำเนิดในช่วงโควิด-19 ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง กินยาคุม-ฉีดยาคุมได้ไหม

 

สำหรับคนที่ต้องการวางแผนมีลูก มีครอบครัวในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดอย่างหนัก ทำให้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนการวางแผนใหม่ เพื่อให้รองรับสถานการณ์ของโรคโควิด ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน การพบแพทย์ การฝากครรภ์ นอกจากนั้นคนที่ต้องการคุมกำเนิดก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเช่นกัน เนื่องจากต้องทานยาคุม หรือฉีดยาคุม หากต้องรับการฉีดวัคซีนอาจมีกระทบบางส่วนได้ ซึ่งการเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

 

 

วันนี้ TrueID ได้รวบรวมเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่ต้องรู้สำหรับผู้หญิงทุกคนมาฝาก ทั้งเรื่องการใช้ยา การฉีดยา การฉีดวัคซีนโควิด หรือแม้กระทั่งการติดเชื้อโควิดที่ผู้หญิงต้องรู้ไว้ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ต้องมีผลข้างเคียงจากโควิด

 

 

 

การคุมกำเนิดยุคโควิด-19


การคุมกำเนิดมีความสำคัญในการวางแผนการใช้ชีวิต ให้ตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่แต่ละครอบครัวมีความพร้อมในการดูแลเด็ก ให้มีคุณภาพแก่สังคม ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 การคุมกำเนิดมีความสำคัญมากกว่าในช่วงปกติ เนื่องจากมีประเด็นหลายเรื่องที่เปลี่ยนไปการระบาดอย่างหนัก ทำให้สตรีเข้าถึงการบริการด้านการวางแผนครอบครัวได้ยากขึ้น และหากตั้งครรภ์ก็มีข้อจำกัดในการดูแลสตรีตั้งครรภ์ ความเสี่ยง และผลกระทบต่อทารกในครรภ์รวมถึงเรื่องการวางแผนฉีดวัคซีนที่มีความปลอดภัยแต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์และมีอายุครรภ์เกิน 3 เดือน

 

 

 

การคุมกำเนิดมีวิธีอะไรบ้าง


การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งมีประสิทธิภาพน้อยกว่า ถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว ยาฉีด แผ่นแปะ ยาฝัง และห่วงอนามัย ซึ่งแต่ละครอบครัวเลือกใช้ตามความเหมาะสม

 

 

 

การระบาดของโควิดและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปมีผลต่อการคุมกำเนิด


ผู้หญิงส่วนใหญ่มีความเครียดและไม่ต้องการตั้งครรภ์ในช่วงที่มีโรคระบาด เพราะเข้าถึงการบริการทางด้านสุขภาพไม่สะดวก แต่การเว้นระยะทางสังคมที่มีการควบคุมมาก อาจทำให้การไปร้านยาหรือโรงพยาบาลเพื่อเข้าถึงบริการด้านการคุมกำเนิดลำบากมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศพบมีการตั้งครรภ์ โดยไม่ตั้งใจมากขึ้นในช่วงที่มีการระบาด ดังนั้นสถานพยาบาลหลายแห่งจึงมีช่องทางการให้บริการ ให้คำปรึกษาผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เพื่อลดการเดินทางและการสัมผัสกับบุคคลทั่วไปและมีบริการส่งยาทางไปรษณีย์

 

 

 

การคุมกำเนิดชนิดไหนที่ช่วยลดการเดินทางได้


การคุมกำเนิดระยะยาว ประกอบด้วยยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และห่วงอนามัย เป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อย และลดการเดินทางเข้ามาที่สถานพยาบาล สำหรับการฉีดคุมกำเนิดชนิดทุก 3 เดือนสามารถลดการเดินทางออกจากบ้าน แต่ยังน้อยกว่ายาฝังและห่วงอนามัย ที่มีอายุการใช้งานนาน 3-5 ปี

 

 

 

ฝังยาคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยสามารถใช้ในวัยรุ่นหรือคนที่ไม่เคยมีลูกได้ไหม


ยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัย เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง คุ้มค่า และผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อย แต่เสียค่าใช้จ่ายในวันแรกที่ใช้สูง จึงทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝังยาและห่วงอนามัยที่สถานบริการของรัฐสำหรับวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี เพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งหลังจากมีโครงการนี้ มีวัยรุ่นเข้ามารับบริการด้านนี้มากขึ้นถึง 5 เท่า และส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการฝังยา

 

 

 

หากเดินทางไปไหนไม่ได้ ให้คุมกำเนิดตามนี้ 


ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าไปพบคุณหมอพยาบาลหรือร้านยาได้ แนะนำให้คุมกำเนิด ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น นับวันไข่ตก หรือหลั่งภายนอก เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่เหมือนการรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีอัตราการตั้งครรภ์เพียง 0.5-7 % ส่วนห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดอยู่ที่ 0.5-0.2%

 

 

 

การติดเชื้อโควิดกับการคุมกำเนิด


ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดอย่างน้อย 1 ใน 4 คน มีการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดและมีการกระตุ้นการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้บางประเทศที่มีประชาชนมีพันธุกรรมที่มีลิ่มเลือดง่าย มีความกังวลต่อการใช้ยาฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจน เพราะทำให้เลือดข้นได้มากกว่าการคุมกำเนิดชนิดอื่น ซึ่งหลักๆเลยก็คือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีขายทั่วไป แผ่นแปะ และยาฉีดคุมกำเนิด ชนิด 1 เดือนที่มีในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่เห็นรายงานที่ชัดเจนต่อผลเสียของการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดขณะติดเชื้อโควิด โดยผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจจะมีการเปลี่ยนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เป็นชนิดที่มีโปรเจสตินอย่างเดียว เช่นยาเม็ดชนิดพิเศษ หรือยาฉีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะอ้วนที่มีความเสี่ยงของลิ่มเลือดอุดตัน และมีโอกาสที่จะมีการติดเชื้อที่รุนแรงได้ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการคุมกำเนิดที่เหมาะสมที่สุด

 

 

 

การคุมกำเนิดกับการฉีดวัคซีนโควิด-19


โดยทั่วไปแล้ว การฉีดวัคซีนใด ๆ ย่อมมีผลข้างเคียงเล็กน้อยในแต่ละบุคคล แต่สำหรับคนที่มีอาการแพ้ หรือมีปฏิกิริยารุนแรง ก็มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เราจะได้รับจากวัคซีนในการป้องกันโรค

 

 

หากเราต้องการลดโอกาสของการมีผลข้างเคียง ก็ควรทำร่างกายให้แข็งแรงก่อนไปฉีดวัคซีน เช่นนอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มากโดยเฉพาะวันที่อากาศร้อน และควบคุมโรคประจำตัวให้ดี  สำหรับผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือน อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ก็สามารถรับประทานยาบรรเทาอาการปวดก่อนฉีดวัคซีน

 

 

ผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ก็ควรฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้เราท้องได้อย่างสบายใจขึ้น ว่าจะไม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ เพราะหญิงตั้งครรภ์จะมีการดูแลที่ลำบากและมีข้อคำนึงถึงทารกร่วมด้วย

 


     
ประเด็นเรื่องการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่อาจเพิ่มโอกาสมีลิ่มเลือดเพิ่มขึ้น เป็นปฏิกิริยาพิเศษในคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนผิวขาวชาวตะวันตก แต่พบได้น้อยมากในคนเอเชีย ที่ผ่านมาเราจึงไม่ได้ออกคำแนะนำให้งดการใช้ยาคุมกำเนิดก่อนการฉีดยา นอกจากนี้การฉีดวัคซีนก็มีอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่จนถึงวันนี้ยังไม่พบรายงานความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ของการมีผลข้างเคียงที่เพิ่มขึ้นในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิด แล้วไปฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด

 

 

 

ความกังวลเรื่องลิ่มเลือดเกี่ยวกับการคุมกำเนิดควรทำอย่างไร


หากมีความกังวลอย่างสูงต่อการคุมกำเนิดหรือการใช้ยาใด ๆ ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อการฉีดวัคซีน สามารถปรึกษาแพทย์ได้ ทั้งนี้หากจะถามว่า การคุมกำเนิดชนิดใดที่มีประสิทธิภาพและมีลิ่มเลือดอุดตันน้อยที่สุด แม้ในคนที่มีความเสี่ยง ก็คือ การคุมกำเนิดโดยไม่ใช้ฮอร์โมน เช่น การใช้ห่วงอนามัยรองลงมาก็คือการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนชนิดเดียวคือโปรเจสติน เช่น ยาฝัง ยาฉีดชนิด 3 เดือน และยาเม็ดชนิดที่มีฮอร์โมนชนิดเดียว แต่ข้อเสียของยาที่มีฮอร์โมนชนิดเดียวที่พบบ่อยคือ การมีเลือดออกกะปริดกะปรอย ที่ไม่อันตรายแต่ทำให้เกิดความรำคาญ แต่ก็สามารถแก้ไขได้

 

 


ข้อมูลทั้งหมดข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งสำหรับผู้หญิงทุกคนที่ใช้ยาคุมกำเนิดหรือคุมกำเนิดอยู่ หากมีความกังวลเพิ่มเติมสามารถปรึกษาแพทย์ได้ และที่สำคัญควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการติดเชื้อร่วมกับการคุมกำเนิด

 

 

 

ข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก แพทยสภา , รศ.พญ. ทวิวัน พันธศรี หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง