รีเซต

คนท้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม ควรฉีดวัคซีนอะไร

คนท้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม ควรฉีดวัคซีนอะไร
Ingonn
27 พฤษภาคม 2564 ( 16:05 )
7.5K

เป็นคุณแม่ยุคโควิดไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่การระบาดค่อนข้างรุนแรงจนมีข่าวคนท้องติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตพร้อมลูกน้อยอยู่หลายเคส ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อยคือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคโควิด

 

 

วันนี้ TrueID ได้รวบรวมข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ที่กำลังวางแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสำรวจความพร้อมก่อนเริ่มฉีดจริงในเดือนมิถุนายนนี้

 

 


ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร ระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ในช่วงนี้มีผู้ติดเชื้อเป็นจํานวนมากและแพร่กระจายไปหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจหายได้เอง หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อรุนแรงไหม


จากการทบทวนการศึกษาขนาดใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก พบว่า สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป และมีโอกาสต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ (Intensive care unit, ICU) เพิ่มขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 

 

 

นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ ทารกตายในครรภ์ ทารกเกิดก่อนกําหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกติดเชื้อและต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤติสูงขึ้น

 

 

 

คุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มไหนต้องฉีดวัคซีนโควิด-19


1.กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลที่ทำงานในลักษณะที่ต้องสัมผัสกับคนหมู่มาก บุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง 

 


2.กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงเมื่อติดเชื้อ เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์

 

 


คุณแม่ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ดีไหม


สตรีตั้งครรภ์จึงถือเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อลดการติดเชื้อ ลดการเกิดโรคที่รุนแรงและลดการเสียชีวิต แม้ว่าข้อมูลด้านความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ยังมีจํากัด แต่ยังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าวัคซีนจะก่อให้เกิดอันตรายแก่สตรีตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป การฉีดวัคซีนจึงมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีน

 

 

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรฉีดวัคซีนชนิดไหน


แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคก่อน เนื่องจากผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว ในขณะที่แอสตร้าเซนเนก้า เป็น viral vector vaccine มีโอกาสเกิดอาการไข้หลังฉีดได้มากกว่า และมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี แต่พบน้อยมาก

 

 

 

5 ข้อแนะนำที่คนท้องต้องรู้


ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงมีข้อแนะนํา ดังนี้


1. สตรีตั้งครรภ์สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นกรณีที่มีข้อห้าม เช่น มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งแรก


2. ระยะเวลาที่ควรฉีดวัคซีนคือ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (3 เดือน)


3. สตรีที่ให้นมบุตรสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้


4. วัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ มี 2 ชนิด คือ Sinovac และ AstraZeneca จากข้อมูลเบื้องต้นสามารถใช้ได้ทั้งสองชนิด แต่มีข้อสังเกตว่าวัคซีน Sinovac มีอัตราการเกิดไข้หลังการฉีดน้อยกว่า AstraZeneca วัคซีนทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยในการฉีดให้คนทั่วไป และมีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน ในอนาคตอาจจะมีวัคซีนชนิดอื่นๆ ให้เลือกเพิ่มขึ้น


5. ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ยกเว้นมีความจําเป็น การฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

 

 

ดังนั้นการฉีดวัคซีนถือเป็นความสมัครใจ สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับคําปรึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโดยละเอียดก่อนการตัดสินใจ

 

 

 

 

แนวทางการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกในท้องให้ปลอดภัย


1.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ (อย่างน้อย 20 วินาที) หรือหากจำเป็น ให้ใช้แอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 70% ในการล้างมือ


2.ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้าของตนเอง หรือหากจำเป็นต้องสัมผัสจริง ๆ ควรล้างมือด้วยสบู่ก่อน


3.สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองแพร่เชื้อให้กับคนอื่น และช่วยป้องกันละอองเสมหะหรือน้ำลายจากผู้อื่นได้เช่นกัน 


4.กินอาหารที่ปรุงสุก โดยใช้ช้อนกลางของตัวเอง (ไม่ใช้ช้อนกลางร่วมกับคนอื่น)


5.รักษาระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร ไม่พูดคุยกันแบบหันหน้าเข้าหากัน และหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด


6.หากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นโควิด ให้รีบพบแพทย์ทันที

 

 

 


ข้อมูลจาก  ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย , พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์ ศูนย์วินิฉัยทารกในครรภ์, ศูนย์สูตินรีเวชโรงพยาบาลพระราม9 , กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง