รีเซต

คุณแม่รู้ไว้ก่อนสาย คนท้องเสียชีวิตจากโควิด ป้องกันได้

คุณแม่รู้ไว้ก่อนสาย คนท้องเสียชีวิตจากโควิด ป้องกันได้
Ingonn
25 เมษายน 2564 ( 19:03 )
1.1K
คุณแม่รู้ไว้ก่อนสาย คนท้องเสียชีวิตจากโควิด ป้องกันได้

สถานการณ์โควิด-19 ในไทย พบผู้ป่วยเสียชีวิต 11 ราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือด เบาหวาน และเป็นผู้สูงอายุ โดยพบว่า มี 1 ราย เป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์ เดินทางไปสถานที่แออัด อยู่ระหว่างสอบสวนโรค

 

 

รายละเอียดผู้เสียชีวิตของประเทศไทย วันที่ 25 เมษายน 2564


รายที่ 140 (ระลอกใหม่เดือนเมษายน รายที่ 46)
หญิงไทย อายุ 32 ปี
ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์
ที่อยู่ขณะป่วย : กทม.

 

 

 

รู้ไหม? ทำไมคนเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น >>>> คลิก  <<<<

 

โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตวันนี้เป็นผู้หญิงท้อง 1 ราย ที่เสียชีวิตพร้อมลูกในครรภ์ True ID จึงขอแนะนำวิธีป้องกันโควิด-19 แก่ คุณแม่ช่วงกำลังท้อง เพื่อให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูกจากเชื้อโควิด-19

 

 

คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการอย่างไร


หญิงตั้งครรภ์ต้องไปฝากครรภ์ตามปกติ และต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข คือ สวใหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูก ปาก หลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนหรือแออัด และหากจำเป็นต้องเดินทางให้เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร

 

สำหรับอาการป่วยนั้นไม่ค่อยมีอาการป่วย แต่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน หรือบางคนที่ครรภ์เป็นพิษก็จะพบปัญหา จึงขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่รับฝากครรภ์อย่างใกล้ชิด


นอกจากนี้ กรมอนามัยได้รวบรวมข้อมูลในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ 60 คน ไม่มีใครที่มีอาการรุนแรง หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และไม่มีหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วเสียชีวิต

 


ปัจจัยเสี่ยงให้อาการอาจรุนแรง

แม้ว่าความเสี่ยงที่แท้จริงของการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในผู้ตั้งครรภ์จะต่ำมาก แต่ก็มีรายงานที่พบว่าผู้หญิงตั้งครรภ์มีอาการรุนแรงได้เช่นกัน หากมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 อย่าง ดังต่อไปนี้


1.มีอายุมาก


2.มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน


3.มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน


4.มีภาวะครรภ์เป็นพิษ

 


คุณแม่สังเกตอาการโควิด-19 อย่างไร 


คุณแม่หลายท่านอาจจะพบว่าตัวเองมีภาวะหายใจลำบาก รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หรือเหนื่อยมากกว่าปกติในระหว่างตั้งครรภ์ แล้วเกิดสับสนหรือกังวลว่าอาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับโควิดหรือไม่?

 

ภาวะต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น เกิดขึ้นได้ทุกช่วงของการตั้งครรภ์ เพราะในช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงขนาดของมดลูกที่ใหญ่โตขึ้นจนไปเบียดลิ้นปี่หรือกระบังลมให้ยกสูงขึ้นทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ และยังต้องแบกรับน้ำหนักลูกน้อยในท้อง ทำให้คนเป็นแม่ รู้สึกเหนื่อย ปวดเมื่อย หายใจไม่สะดวกได้ง่าย

 

แต่เพื่อไม่ให้สับสนกับอาการของโควิด 19 จนต้องกังวลมากโดยไม่จำเป็น บทความนี้ จึงมีข้อแนะนำวิธีการตรวจเช็คอาการเพื่อคัดกรองโอกาสที่จะเป็นโควิดเบื้องต้น หากคุณแม่เข้าเกณฑ์หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

 

ประเมินความเสี่ยง


1.มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือเดินทางไปสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก่อน


2.มีไข้สูงร่วมกับอาการหอบเหนื่อย


3.อาการหายใจเหนื่อยมีความรุนแรงขึ้น หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน


4.เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บขณะหายใจ


5.มีอาการไอ ไอร่วมกับมีไข้ หรือไอเป็นเลือด


6.ร่างกายดูซีดลง ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าซีดจนเป็นสีม่วง หรือวิงเวียนจะเป็นลม

 

 

ตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม

แม่ที่ตั้งครรภ์สามารถฉีดได้ ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตาย แต่เนื่องจากวัคซีนนี้ยังเป็นวัคซีนใหม่ ไม่เคยศึกษาในคนท้อง จึงยังไม่แนะนำให้คนท้องฉีด แต่หากเป็นบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับ ส่วนการฉีดในสตรีจะไม่ต้องตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ หากตั้งครรภ์จะไม่ฉีดเข็ม 2

 

แม่ที่ตั้งครรภ์และไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจึงยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 เว้นแต่แม่ที่ตั้งครรภ์และมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินระหว่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นหากติดเชื้อ กับอาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีนก่อนตัดสินใจ

 

 

อยู่ในช่วงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?

จากข้อมูลวิจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้นที่มีจำกัด ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าแม่ที่ให้นมบุตรและไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะพ้นช่วงให้นมบุตรและศึกษาผลงานวิจัยในลำดับต่อไป ส่วนแม่ที่ให้นมบุตรและมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เช่น เป็นบุคลากรทางการแพทย์ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนกับความเสี่ยงของวัคซีน และปรึกษาสูติแพทย์ก่อนตัดสินใจ

 

 

ติดโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์

ความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ติดเชื้อนั้นมีโรคประจำตัวร่วมด้วยหรือไม่ และผู้ติดเชื้อที่ตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ทั่วไปในกลุ่มอายุเดียวกัน แต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากอยู่ดี เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม

 

 

คุณแม่ติดโควิด 19 สามารถให้นมลูกได้หรือไม่


ปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ที่สามารถยืนยันได้ว่ามีการแพร่เชื้อโควิด-19 จากแม่สู่ลูกในครรภ์ แต่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ของทารกแรกเกิด ร้อยละ 4 โดยคาดว่าเกิดจากการติดเชื้อในช่วงหลังคลอด จากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากแม่ที่ติดเชื้อ 

 

สำหรับกรณีที่แม่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 นั้น สามารถให้นมลูกได้

 

ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) มีคำแนะนำว่า หากแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มาก สามารถให้นมจากเต้าได้ก็ควรทำ แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัดโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี ห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปากรวมถึงการหอมแก้มลูก 

 


คุณแม่สามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโควิด-19 ได้


1.หลีกเลี่ยงไม่อยู่ที่แออัดและใช้มาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร


2.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล เป็นต้น


3.ใส่หน้ากากอนามัยสม่ำเสมอ


4.ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ไอ จาม


5.ไม่ใช้มือสัมผัสบริเวณตา จมูก ปาก


6.ห้ามใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน-ส้อม เป็นต้น


7.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารปรุงสุก สะอาด


8.รับประทานวิตามินซีและวิตามินอีตามคำแนะนำของแพทย์


9.พักผ่อนนอนหลับให้ครบ 8 - 10 ชั่วโมงต่อวัน


10.ฟังเพลงหรือดูรายการบันเทิงที่ทำให้ผ่อนคลายไม่เครียด


11.หากคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดยังต้องทำงาน แนะนำว่าควร Work From Home ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้


12.หลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ ใช้รถส่วนตัวเพื่อเป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง

 

 

ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระมัดระวังสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากมีความกังวลหรือเกิดความผิดปกติใดๆ ของร่างกาย สามารถปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ได้ทันที

 

 


สรุป


การติดโควิด 19 ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ นับเป็นประเด็นหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจและเป็นกังวลอย่างมาก จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า ผู้หญิงที่ติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะแท้งหรือเสียชีวิต จะพบแต่เพียงว่ามี ‘โอกาส’ ที่จะมีอาการรุนแรงสูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงช่วงอายุเดียวกันที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

 

แต่แน่นอนว่า การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการติดโรคดังกล่าวนั้นย่อมเป็นการดีที่สุดทั้งต่อตัวเอง ต่อลูกในครรภ์ และต่อคนที่คุณรัก โดยสามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับคนทั่วไป

 

สำหรับผู้ที่กำลังพิจารณาว่าจะไปรับการฉีดวัคซีนดีหรือไม่? ขอแนะนำให้ท่านปรึกษาสูตินารีแพทย์ที่ท่านฝากครรภ์เพื่อให้คำแนะนำและข้อมูลที่เหมาะสมกับคุณแม่แต่ละท่าน  และคอยติดตามข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานสาธารณสุขอย่างโดยใกล้ชิด

 

 


ข้อมูลจาก ศูนย์วินิจฉัยทารกในครรภ์, ศูนย์สูตินรีเวช , กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง