เทคโนโลยีใหม่ !! ฝังเมล็ดแม่เหล็ก - กำจัดมะเร็งสมอง ด้วย MRI
โรคมะเร็งสมองเป็นมะเร็งในเด็กที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว ปัจจุบันมีผู้ป่วยใหม่ประมาณปีละ 200 ราย ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสม จะมีโอกาสหายขาดและใช้ชีวิตเติบโตได้ตามปกติ
ในการวินิจฉัยมะเร็งหรือเนื้องอกในสมอง นิยมใช้ภาพถ่ายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) เพราะสามารถถ่ายภาพของเนื้อเยื่ออ่อนและอวัยวะภายในได้ชัดเจน อีกทั้งผู้ป่วยไม่ต้องเสี่ยงต่อการได้รับจากรังสีเอกซ์อีกด้วย
ทว่า หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกในสมองแล้ว ผู้ป่วยยังต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเหล่านั้นออกจากสมอง แม้จะเป็นการรักษาที่ได้ผลดีแต่กระบวนการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานผิดปกติของต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองลดลง ผู้ป่วยที่หายจากมะเร็งสมองแล้วยังต้องรักษาโรคอื่นที่เป็นผลพลอยจากการผ่าตัด เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroid), เบาจืด (Diabetes insipidus) หรือเจริญเติบโตช้า ซึ่งภาวะขาดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองหลายชนิด เรียกว่า Panhypopituitarism
แน่นอนว่าการผ่าตัดคือหนทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ถ้าหากแพทย์สามารถทำลายก้อนมะเร็งได้โดยเปิดแผลให้เล็กที่สุด, รบกวนพื้นที่บริเวณรอบข้างให้น้อยที่สุด และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เหล่านี้ก็น่าจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมากเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University College London (UCL) จึงได้เพิ่มความสามารถให้กับเครื่อง MRI โดยนอกจากที่จะใช้ในการถ่ายภาพเพื่อวินิจฉัยมะเร็งในสมองแล้ว ยังสามารถใช้ "ฝังเมล็ด" ลงไปในก้อนมะเร็ง ก่อนที่จะทำลายมะเร็งด้วยความร้อน
กระบวนการนี้เรียกว่า Minimally invasive image-guided ablation (MINIMA) เริ่มต้นจากการใช้ MRI สแกนภาพในสมองแบบเรียลไทม์ เมื่อทราบตำแหน่งและทิศทางที่ปลอดภัยในการเข้าถึงก้อนมะเร็งแล้ว แพทย์จะทำการฝังเมล็ดแม่เหล็กไว้บริเวณผิวนอกของสมอง แล้วให้ MRI สร้างสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำให้เมล็ดแม่เหล็กเดินทางไปตามเส้นทางที่กำหนดสู่ก้อนมะเร็ง
เมื่อเมล็ดแม่เหล็กเข้าไปถึงก้อนมะเร็งแล้ว แพทย์จะส่งคลื่นวิทยุจากภายนอกผ่านเข้าไปยังสมอง คลื่นวิทยุนี้จะทำให้เมล็ดแม่เหล็กเกิดความร้อนจนสามารถทำลายก้อนมะเร็งได้ และหากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ก็สามารถใช้ MRI ลากเมล็ดแม่เหล็กไปยังส่วนที่หลงเหลืออยู่ของก้อนมะเร็งได้อีกด้วย เมื่อเสร็จเรียบร้อย (หลังจากรอให้เมล็ดแม่เหล็กเย็นลงแล้ว) จึงค่อยดึงเมล็ดแม่เหล็กออกด้วยคลื่นจาก MRI
จากการทดลองในหนูพบว่ากระบวนการ MINIMA ให้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นเดียวกับการผ่าตัด แต่มีข้อได้เปรียบคือการฟื้นตัวของหนูทดลองรวดเร็วกว่าการผ่าตัด และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงได้ดีกว่าด้วย ซึ่งนักวิจัยเตรียมพัฒนากระบวนการ MINIMA นี้ให้พร้อมก่อนที่จะนำไปใช้ในมนุษย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering