ย้อนเหตุการณ์น้ำท่วม ปี 2554 : ปีนี้จะท่วมหนักซ้ำรอยไหม? มาทำความเข้าใจกันหน่อย
สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศเกิดขึ้นทุก ๆ ปี เมื่อพายุเข้าไทย ล่าสุดพายุเตี้ยนหมู่ที่พัดเข้ามาส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตอุทกภัยอีกครั้ง ซึ่งจังหวัดที่ต้องเผชิญน้ำท่วมใหญ่สุดในรอบ 10 ปี เช่น จังหวัดสุโขทัย หรือโซนเศรษฐกิจ โรงพยาบาลในจังหวัดชัยภูมิ น้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร หรือจังหวัดนครราชสีมา ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงต้องอพยพประชาชน สัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่กลางดึก
หลายพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม คำบอกเหล่าจากประชาชนในพื้นที่ส่งเสียงว่า อยู่มาหลายสิบปีไม่เคยเจอสถานการณ์น้ำท่วมใหมญ่หนักขนาดนี้ จนเกิดคำถาม เกิดความกังวลต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วม ปี 2564 จะสาหัสซ้ำรอยน้ำท่วม ปี 2554 หรือไม่? วันนี้จะพาไปทำความเข้าใจ พร้อมวิธีรับมือในช่วงภาวะน้ำท่วมที่ประเทศไทยยังคงต้องเจอ
ย้อนเหตุการณ์น้้ำท่วม ปี 2554
หากใครยังจำภาพสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปี 2554 หรือบางคนอาจเคยเป็นผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็น "มหาอุทกภัย" เป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง โดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท
อุทกภัยในครั้งนั้น สร้างผลเสียมากมายทำให้พื้นดินกว่า 150 ล้านไร่ (6 ล้านเฮกตาร์) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน 65 จังหวัด 684 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 4,086,138 ครัวเรือน 13,595,192 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ถนน 13,961 สาย ท่อระบายน้ำ 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง ทำนบ 142 แห่ง สะพาน /คอสะพาน 724 แห่ง บ่อปลา / บ่อกุ้ง / หอย 231,919 ไร่ ปศุสัตว์ 13.41 ล้านตัว มีผู้เสียชีวิต 813 ราย (44 จังหวัด) สูญหาย 3 คน โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ถูกกล่าวขานว่าเป็น "อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ"
สาเหตุอะไร? เกิดน้ำท่วม 2554 หนักหน่วง
สำหรับสาเหตุหลักของการเกิดอุทกภัยมาจากการเกิดปรากฎการณ์ลานีญาที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น 35% โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม และเดือนเมษายนมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 277 และ 45 ตามลำดับ พ่วงด้วยในปีเดียวกันเกิดพายุถึง 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับน้ำท่วมใน 65 จังหวัด รวมทั้งกระหน่ำให้กรุงเทพกลายเป็นเมืองบาดาลในที่สุด ถือเป็นปีที่หนักหนาสาหัสต่อการรับมือความรุนนแรงและยาวนานของอุทกภัย 2554 อย่างต่อเนื่อง
น้ำท่วม 2564 รอบนี้! จะท่วมหนักซ้ำรอยเท่า ปี 2554 ไหม?
คำถามต่อมา น้ำท่วม 2564 รอบนี้ จะท่วมหนักซ้ำรอยเท่า ปี 2554 หรือไหม? เนื่องจากภาพความเสียหาย ข้อมูล คำสัมภาษณ์ของคนในพื้นที่ต่างสะท้อนให้เห็นถึงความกังวล เกิดความกลัวว่า สถานการณ์น้ำท่วม 2564 ในครั้งนี้จะรุนแรงและยาวนานเหมือนตอน ปี 2554 ซึ่งในกรณีนี้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าว รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ได้แสดงความคิดเห็นพร้อมเทียบข้อมูลในปี 54 กับตอนนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่่ผ่านมาว่า หลายคนกลัวจะเหมือนปี 54 หรือไม่ หลายคนห่วงในส่วนของลุ่มเจ้าพระยา ในฐานะคนติดตามข่าว มันไม่เหมือนปี 54 แน่ ๆ
ทั้งนี้ นายสรยุทธ ยังได้เทียบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ปี 64 และ ปี 54 ด้วย 2 ข้อหลักใหญ่ ๆ
ข้อที่ 1. เขื่อนหลักอย่างเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ปีนี้น้ำน้อย ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เหมือนปี 2554 เว้นแต่จะมีพายุเข้ามาอีก 2 ลูก
ข้อ 2. ตอนปี 2554 ที่มีการหลากลงมาไล่ตั้งแต่ตอนบนของประเทศ มาถึง จ.นครสวรรค์ คันกั้นน้ำใหญ่และสูงมากเป็นกำแพงในเมืองแตก ระดับน้ำนครสวรรค์กว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในปี 54 แต่ในปีนี้ยังเทียบไม่ได้เลย จากนั้นมาสู่เขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาท ระดับในเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อปี 54 คือ 3,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที วันนี้กรมชลประทาน ยืนยันว่าจะอยู่ที่ 2,000-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวานเย็นนี้ 2,400 และในปี 54 เป็นน้ำหลาก ไม่ได้มาเฉพาะเจ้าพระยาหรือลำน้ำต่าง ๆ มันมาตามทุ่งเลย จำได้นั่งรถมาน้ำหลากมาตามทุ่งถึงถนน น้ำแผ่ออกมา สิงห์บุรี ประตูระบายน้ำที่แตกคือ บางโฉมศรี แล้วเกิดอุทกภัยใหญ่ ปี 54 เป็นภาพจำของคนในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง แต่ปี 54 อีสานไม่ได้หนักขนาดนี้ ถ้านับเฉพาะโคราช ชัยภูมิ ปี 64 หนักกว่า 54 แต่ถ้านับภาคกลาง ปี 54 ยังหนักกว่านี้เยอะ แต่ประมาทไม่ได้
ขณะนี้ ลพบุรี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ โคราช หนักกว่าปี 54 ในเวลานั้นของจังหวัดเหล่านี้ แต่ปี 64 ไม่น่าจะเกิดแบบปี 54 ไม่ต้องตระหนกตกใจ เมื่อวานนนทบุรี เตือนเฝ้าระวัง น้ำสูง เพราะมันระบายออกมาเยอะที่อยุธยา อ่างทองท่วมกันแล้ว แต่ยังไม่หลากเข้าถนน
น้ำท่วมปีนี้ โอกาสน้อยมากที่จะเหมือนปี 54
ด้านเว็บไซต์ไทยบีพีเอส ระบุคำสัมภาษณ์ของนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบำรุงรักษา ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะเหมือนปี 2554 เพราะมีปัจจัยแตกต่างกัน ซึ่งกรมอุตุฯ ให้ข้อมูลว่าประมาณกลางเดือน ต.ค.2564 จะสิ้นสุดฤดูฝน จึงจะไม่มีฝนแล้ว ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักจนถึงตอนนี้ยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ล่าสุดระบายน้ำที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้อยกว่าปี 2554 ที่ระบายมากสุด 3,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมควรติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเตรียมวิธีป้องกัน รับมืออุทกภัยอย่างมีสติทุกเมื่อ
ข้อมูล : ข่าวสด
ภาพ : มติชน
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- รวมเบอร์ฉุกเฉินสู้ภัย 'น้ำท่วม'
- ดาวน์โหลด 4 App นี้ไว้! รับมือสถานการณ์น้ำท่วม
- รู้จัก อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จากสถานการณ์น้ำท่วมโคราช
- 10 วิธีรับมือฤดูฝน ปี 2564
- ขับขี่ยังไงให้ปลอดภัยในฤดูฝน
- น้ำท่วมรถ ประกันจ่ายไหม?
- รวมทุกข้อสงสัย ขั้นตอนการเคลมประกัน “รถจมน้ำ น้ำท่วมรถ น้ำเข้ารถ” ต้องทำอย่างไรบ้าง
- ป้ายทะเบียนรถหลุดหาย ตอนน้ำท่วม ต้องทํายังไง?
- รวม เหตุการณ์ "น้ำท่วมใหญ่" ในประเทศไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน
- วิธีป้องกัน “บ้านน้ำท่วม” จากเหตุ “ฝนตกหนัก” ต้องทำอย่างไรบ้าง
- วิธีใช้ไฟฟ้าใน "สถานการณ์น้ำท่วม" ปลอดภัยไว้ดีที่สุด
- เปิดวิธีรักษา “โรคน้ำกัดเท้า” โรคร้ายจากสถานการณ์น้ำท่วม ยาวนานหลายวัน
- เตือน! โรคที่ควรเฝ้าระวังในฤดูฝน
- สมุนไพรอะไรบ้าง? ไว้เสริมเกราะก่อนป่วยช่วงหน้าฝน
- ออมสินออกสินเชื่อช่วยน้ำท่วม 'พายุเตี้ยนหมู่'
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก