รีเซต

เปิดวิธีรักษา “โรคน้ำกัดเท้า” โรคร้ายจากสถานการณ์น้ำท่วม ยาวนานหลายวัน

เปิดวิธีรักษา “โรคน้ำกัดเท้า” โรคร้ายจากสถานการณ์น้ำท่วม ยาวนานหลายวัน
Ingonn
26 กันยายน 2565 ( 11:56 )
374

ข่าววันนี้ จากสถานการณ์น้ำท่วม 2565 ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ยังคงมีจังหวัดที่น้ำท่วมขังสูงยาวนานหลายสัปดาห์ ส่งผลให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนต้องใช้ชีวิตปะปนกับการเดินในน้ำ เหยียบน้ำที่ท่วมไหลเข้าบ้าน จนเริ่มมีอาการคัน เป็นแผลบริเวณเท้า หรือที่เรารู้จักกันใน “โรคน้ำกัดเท้า”

 

เปิดวิธีรักษา “โรคน้ำกัดเท้า” โรคร้ายจากสถานการณ์น้ำท่วม ยาวนานหลายวัน

น้ำกัดเท้า เป็นอาการที่พบมากหลังเกิดน้ำท่วม สาเหตุของน้ำกัดเท้าเกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังเนื่องจากความเปียกชื้นและการสัมผัสสิ่งสกปรก  สารเคมีต่างๆ ในน้ำท่วมขังทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบขึ้น  ผิวหนังจะมีลักษณะเปื่อยลอกโดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า  อาจมีอาการผื่นแดง  แสบคันร่วมด้วย เมื่อน้ำท่วม ต้องลุยน้ำสกปรก เป็นเหตุให้เชื้อหลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย รา ไวรัส และปรสิตบางชนิดเข้าสู่ผิวหนังได้ หากมีแผลเปิดหรือแผลลึก อาจเกิดการอักเสบรุนแรง นอกจากเชื้อที่มากับน้ำแล้ว อาจได้จากการสัมผัสใช้สิ่งของร่วมกัน หนึ่งในเชื้อที่เข้าไปรุกรานเท้าตามสถานการณ์ข้างต้นนั้น มีเชื้อราชนิดเส้นใยร่วมด้วย คือราที่ทำให้เกิดกลาก

อาการของโรคน้ำกัดเท้า


ระยะแรก ผิวหนังบริเวณเท้าจะมีลักษณะเปื่อย แดง ลอกเนื่องจากการระคายเคือง โดยยังไม่มีการติดเชื้อ แต่หากมีอาการคันและเกาจนเกิดแผลถลอกก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

 

ระยะที่สอง เป็นระยะที่ผิวหนังเปื่อยและลอกเป็นแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง ร้อน เป็นหนอง และปวด ส่วนการติดเชื้อราชนิด dermatophyte จะทำให้มีอาการคัน ผิวเป็นขุยและลอกออกเป็นแผ่นสีขาว และอาจมีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะตามซอกเท้า หากปล่อยไว้นานอาการอาจเป็นเรื้อรังและรักษาหายยาก แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็อาจกลับมามีอาการใหม่ได้ถ้าเท้าเปียกชื้นอีก


ความแตกต่างระหว่างติดเชื้อแบคทีเรีย และติดเชื้อรา


การติดเชื้อแบคทีเรีย  


ผิวหนังฝ่าเท้ามีลักษณะเปื่อยยุ่ยเป็นหลุมเล็กๆ  มีกลิ่นเหม็น หรืออาจเกิดเป็นตุ่มหนอง  รูขุมขนอักเสบ  หากการติดเชื้อลุกลามลงในผิวหนังชั้นลึก ผิวหนังจะบวมแดงร้อน  กดเจ็บ และลามเร็วไปยังบริเวณใกล้เคียง  ต่อมาอาจมีไข้สูงและต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโตร่วมด้วย 

 

การติดเชื้อรา 


จะมีผื่นแดงแฉะ มีขุยขาวลอกบริเวณซอกนิ้ว หรือเป็นชนิดผื่นหนา เปื่อยยุ่ย ลอกเป็นขุยทั้งที่ฝ่าเท้าและซอกนิ้ว  มีกลิ่นเหม็น หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ฮ่องกงฟุต” ซึ่งก็เกิดจากเชื้อกลากชนิดหนึ่งนั่นเอง  

 

ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า


ยาที่ใช้ มีหลายประเภท ทั้งยารับประทาน ยาสเปรย์ ยาทาประเภทครีม/ขี้ผึ้ง ที่มีตัวยาฆ่ารา เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ที่มีทั้งยาฆ่าราและเพื่อลอกผิวนอกๆ ออก, ยาในกลุ่ม imidazole เป็นต้น โดยทาบางๆ หลังจากทำความสะอาดแผล และเช็ดแห้ง แล้วยังมีผงยาฆ่าราสำหรับโรยรองเท้า ถ้ามีการอักเสบจากการติดเชื้ออื่นร่วมด้วย อาจต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียพร้อมกัน ซึ่งการที่จะใช้ยาชนิดใดให้ปรึกษาเภสัชกรก่อน 

 

การทำความสะอาดโดยเฉพาะที่มีแผลบวมแดง มีรอยแตก ให้แช่เท้าในภาชนะที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อ แต่ไม่ต้องใช้น้ำยาที่แรงจนแสบร้อน ในการอาบน้ำ ให้ถูบริเวณแผลที่มีสะเก็ดออกด้วยผ้าหยาบที่นุ่ม แล้วเช็ดให้แห้งดีโดยเฉพาะตามซอกนิ้ว เมื่อแห้งแล้วจึงทายา เพื่อให้ยาสามารถแทรกซึมเข้าไปทำลายเชื้อและเอาคราบต่างๆ รวมทั้งยาที่ทาไว้ครั้งก่อนออกไป ไม่ควรทายาซ้ำๆ แต่เข้าไม่ถึงเชื้อ

 

วิธีการใช้ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า

  1. ทายาสเตียรอยด์อ่อนๆ หรือยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ทาบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้งได้ แต่หลีกเลี่ยงการทาในบริเวณที่มีแผลเปิด
  2. ถ้าติดเชื้อไม่รุนแรง เช่นติดเชื้อแบคทีเรีย ให้ทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยน้ำเกลือ แอลกอฮอล์ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน
  3. หากติดเชื้อรา สามารถเลือกใช้ยาทาต้านเชื้อราหรือยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ก็ได้ อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์
  4. หากเป็นการติดเชื้อเรื้อรังและรุนแรง อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ และไปพบแพทย์
  5. หากเลี่ยงน้ำท่วมไม่ได้ ต้องล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันทีหลังการสัมผัสน้ำสกปรกแล้วเช็ดเท้าโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วให้แห้งอยู่เสมอ

 

วิธีป้องกันโรคน้ำกัดเท้า

  1. หลีกเลี่ยงการยืนแช่น้ำเป็นเวลานาน
  2. เมื่อต้องลุยน้ำ ควรสวมถุงพลาสติก หรือสวมถุงดำหุ้มเท้าไว้เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา และป้องกันของมีคมทิ่มแทงเท้า
  3. หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำโดยไม่ได้สวมถุงพลาสติก เมื่อลุยน้ำแล้วควรรีบทำความสะอาดเท้า และเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าที่มักจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  4. ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ร้องเท้าแตะ ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
  5. ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลี่ยงการลุยน้ำ เพราะหากเกิดแผลจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และรักษาให้หายได้ยากกว่าคนปกติ
  6. หากเกิดบาดแผลลึกควรรีบทำความสะอาดแผลทันที หรือเข้าใช้บริการที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อทำแผล และหากบาดแผลมีหนอง หรือเกิดการอักเสบควรรีบพบแพทย์ทันที
  7. ใส่ถุงเท้าที่ซักสะอาด และแห้ง ในรายที่มีอาการของโรคอยู่ ถ้านำถุงเท้าไปต้ม จะช่วยลดปริมาณเชื้อได้มาก
  8. ห้ามเกาแผล การเกาตามบริเวณร่างกาย โดยใช้มือ-เล็บที่ไปเกาแผลที่มีเชื้อรามาก่อน อาจทำให้บริเวณใหม่ที่ไปเกาได้เชื้อเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง เป็นการติดเชื้อที่แพร่จากร่างกายผ่านการเกา

 

 

ข้อมูลจาก คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล , โรงพยาบาลเพชรเวช , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง