รีเซต

เตือน! โรคที่ควรเฝ้าระวังในฤดูฝน

เตือน! โรคที่ควรเฝ้าระวังในฤดูฝน
Ingonn
25 พฤษภาคม 2564 ( 21:58 )
125

 

อย่าชะล่าใจกับอากาศเย็นสบาย และฝนที่ตกชุ่มช่ำ เพราะในช่วงฤดูฝนแบบนี้ มักมีโรคร้ายแฝงติดตามมากับฤดูโดยที่เราไม่ทันสังเกต เพราะวิถีชีวิตประจำวัน มักมีพฤติกรรมที่อาจทำให้เสี่ยงป่วย จนต้องรักษาที่โรงพยาบาลได้ วันนี้ TrueID จึงรวบรวมโรคร้ายที่ต้องเฝ้าระวังให้ดีในช่วงฝนตกแบบนี้มาฝาก

 

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชนป้องกันโรคและภัยสุขภาพ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 8 โรค และ 3 ภัยสุขภาพ ที่ควรระมัดระวังการเจ็บป่วยในช่วงฤดูฝน เพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยอย่างถูกต้อง รวมทั้งการร่วมมือของชุมชน และท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ห่างไกลจากโรคต่างๆ และมีสุขภาพดีในช่วงหน้าฝนนี้

 

 


สำรวจโรคและภัยสุขภาพที่ในช่วงฤดูฝน 

 

กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ 

 

โรคไข้หวัดใหญ่ 


พบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากในเด็ก และอัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ติดต่อจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ หากได้รับเชื้อจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล 

 

 

โรคปอดอักเสบ

 

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคประจำตัว ติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ การหายใจนำเชื้อที่ปนเปื้อนในอากาศ ผ่านการไอหรือจาม หากได้รับเชื้อมักจะมีไข้ ไอ และหายใจหอบเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน ซึ่งทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน  

 

การป้องกัน 

 

  • ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย

 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน 

 

  • ควรล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ 

 

กลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆและเด็กเล็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี เนื่องจากหากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดบวมจะเป็นอันตรายมากถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กควรสังเกตอาการ หากมีไข้สูง ไอ หายใจเร็ว หรือ หอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

 


กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ 

 

โรคอุจจาระร่วง

 

ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค รวมทั้งเกิดจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ การใช้น้ําคลองไม่สะอาดหรือน้ําไม่ผ่านการบําบัด ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่างๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะของคนหรือสัตว์ จะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อย่างน้อย 3 ครั้ง ถ่ายปนมูกเลือด 

 

 

การป้องกัน 

 

  • เลือกรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ

 

  • อาหารทะเลควรเลือกซื้อที่สดและสะอาด

 

  • บริโภคน้ําดื่ม เครื่องดื่ม และน้ําแข็งที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (อย.)

 

  • เลือกซื้ออาหารที่บรรจุในภาชนะที่สภาพดีดูวันหมดอายุทุกครั้ง

 

  • ผักและผลไม้ล้างให้สะอาด ก่อนนํามารับประทาน

 

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ํา และสบู่ ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหารและหลังเข้าห้องส้วมทุกครั้ง

 

  • รักษาความสะอาดของห้องครัว เครื่องมือ เครื่องใช้ในครัว

 

  • ถ่ายอุจจาระในห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

 

 

 


กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อจากการสัมผัส


โรคมือ เท้า ปาก

 

เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส อุจจาระ ของผู้ป่วย จะมีไข้แต่ไม่ทุกราย มีตุ่มพองใสหรือแผลในช่องปาก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือก้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายเองได้ 

 

การป้องกัน

 

  • ให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้

 

  • ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย รสไม่จัด ดื่มน้ํา นม หรือน้ําหวาน

 

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ บางรายที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเป็นโรคมือ เท้า ปาก ชนิดที่รุนแรง

 

  • ผู้ปกครองควรสังเกตอาการป่วยของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการสงสัยป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี 

 


โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู

 

เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ อาการที่พบคือ ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง 

 

การป้องกัน 


หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำลุยโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เช่น ใส่ถุงมือยาว และรองเท้าบูทยาว

 

 

 

กลุ่มที่ 4 โรคติดต่อนำโดยยุงลาย 


โรคไข้เลือดออก

 

มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง ตับโตอาจกดเจ็บบริเวณชายโครงขวา หากมีอาการรุนแรงอาจช็อกได้  

 

 

โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา

 

มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค อาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกและเสียชีวิต 

 

 

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา

 

มียุงลายเป็นพาหะ อาการโรคจะไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อในสตรีมีครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะศีรษะเล็กในเด็กแรกเกิด เด็กมีพัฒนาการช้าและตัวเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ การป้องกัน ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขังและร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน 

 


การป้องกัน 

โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 

 

  • เก็บบ้าน ให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย ไม่ให้มีมุมอับทึบ 

 

  • เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน 

 

  • เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้ง 3 โรค 

 

 

 

กลุ่มที่ 5 ภัยสุขภาพ 


การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า

เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนอง หรือไฟฟ้าดูดจากการใช้มือจับอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรงในขณะที่ร่างกายเปียกน้ํา ควรหลบในที่ปลอดภัย เช่น ภายในบ้านหรืออาคาร หลีกเลี่ยงอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ และไม่ควรจับสวิตช์ไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าขณะตัวเปียก และควรตรวจสอบปลั๊กไฟสายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้มั่นใจว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติและปลอดภัย

 


อันตรายจากการกินเห็ดพิษ 

หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรนำมารับประทาน หรืออาจเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น 

 

 

อันตรายจากการถูกงูพิษกัด

 

ควรจัดบ้านให้สะอาด ไม่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลานและงูมีพิษ หมั่นสอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้าน โพรงไม้ในรู ในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้ เพราะอาจมีงูพิษอาศัยอยู่ หากถูกงูพิษกัด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัด และไม่ควรขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อขาดเลือดเกิดเนื้อตายได้ พร้อมทั้งจดจำลักษณะชนิดของงูที่กัด เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก กรมอนามัย , กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง