ต้นแบบโดรนขับเคลื่อนด้วยไอออนิกแทนใบพัดและอาจเปลี่ยนแปลงการบินในอนาคต
บริษัทอันเดอร์ฟิลด์ เทคโนโลยี (Undefined Technologies) บริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบโดรนบินขนาดเล็กขับเคลื่อนด้วยไอออนิก (Ionic Propulsion System) แทนการใช้ใบพัด เทคโนโลยีการบินรูปแบบใหม่ที่อาจเปลี่ยนแปลงการบินในอนาคตด้วยจุดเด่นในด้านการบินที่สร้างเสียงการทำงานของเครื่องยนต์น้อยกว่าเทคโนโลยีเครื่องบินในปัจจุบัน
เทคโนโลยีการบินรูปแบบใหม่ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมีชื่อว่า แอร์ แทนทรัมส์ (Air Tantrum) ใช้การขับเคลื่อนด้วยไอออนิก (Ionic Propulsion System) บริษัทเปิดเผยคลิปวิดีโอทดสอบการบินในช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ต้นแบบโดรนบินขนาดเล็กสามารถบินขึ้นบนอากาศได้ประมาณ 25 วินาที สร้างเสียงของเครื่องยนต์ไอออนิก 70-90 เดซิเบล บริษัทอธิบายเพิ่มเติมว่าเนื่องจากเป็นการทดสอบเครื่องต้นแบบทำให้ยังคงมีเสียงของเครื่องยนต์อยู่ บริษัทยังไม่เปิดเผยแผนการหรือเทคนิคที่จะลดเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ได้อย่างไร
เทคโนโลยีการบินด้วยไอออนิก (Ionic Propulsion System) อาจยังเป็นเพียงการทดสอบในช่วงเริ่มต้นและต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ใช่สิ่งใหม่โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2018 สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือ MIT เคยทดลองพัฒนาเครื่องบินต้นแบบขนาดเล็กขับเคลื่อนด้วยลมไอออนิก ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับเทคโนโลยีการบินด้วยไอออนิก (Ionic Propulsion System) ที่บริษัท อันเดอร์ฟิลด์ เทคโนโลยีกำลังวิจัยพัฒนา
หลักการทำงานของเทคโนโลยีการบินด้วยไอออนิก (Ionic Propulsion System) ใช้ขั้วไฟฟ้าความต่างศักย์สูงบริเวณส่วนด้านหน้าสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้โมเลกุลมีประจุบวก เมื่อโมเลกุลเคลื่อนที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศไปปะทะกับปีกของเครื่องบิน ซึ่งปีกของเครื่องบินสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางได้ตามที่ผู้ออกแบบต้องการให้เครื่องบินเคลื่อนที่ไปในแนวนอนหรือแนวตั้ง
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือ MIT ให้ความเห็นว่าการบินด้วยไอออนิกในปัจจุบันอาจทำได้เพียงแค่การบินในระยะสั้น ๆ และมีความสูงไม่มากนัก นอกจากนี้คลิปวิดีโอที่บริษัทอันเดอร์ฟิลด์ เทคโนโลยี (Undefined Technologies) เปิดเผยออกมาเป็นเพียงการบินในระยะสั้นยังไม่แสดงรายละเอียดของการบินทั้งหมด หากโดรนบินมีขนาดใหญ่และบินในระดับความสูงที่เพิ่มขึ้นอาจประสบปัญหา
ที่มาของข้อมูล newatlas.com