รีเซต

อินฟราฟันประจำวันที่ 15 เมษายน 2563 : ทางด่วนใต้ดินสายN1

อินฟราฟันประจำวันที่ 15 เมษายน 2563 : ทางด่วนใต้ดินสายN1
มติชน
15 เมษายน 2563 ( 12:00 )
136
อินฟราฟันประจำวันที่ 15 เมษายน 2563 : ทางด่วนใต้ดินสายN1

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ดูเหมือนเงียบหายไปโดยปริยาย โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์ภายใต้กระทรวงคมนาคม ล่าสุด เริ่มมีความเคลื่อนไหวของ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (ตอน N1, N2 และ E-W Corridor) ระยะทางประมาณ 17.2 กม. กลับมาอีกรอบ

 

หลังที่ประชุมของกระทรวงคมนาคม ได้พิจารณาให้ดำเนินโครงการตอน N2 ระยะทางประมาณ 10.5 กม.จากบริเวณเสาตอม่อที่ 10 ของถนนประเสริฐมนูกิจ-บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านตะวันออก ไปพร้อมกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 22.1 กม. ซึ่งพบว่าสถานะตอน N2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ แล้ว

 

สำหรับตอน N1 ที่มีแนวเส้นทางผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ชุมชนคลองบางบัว เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อจากทางด่วนศรีรัชนั้น ที่ประชุมเห็นว่าหากมีการพัฒนาตอน N1 เกิดขึ้น จะช่วยสนับสนุนโครงข่ายการเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกได้อย่างสมบูรณ์ จึงได้สั่งการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ.เร่งศึกษาค่าก่อสร้างระยะเวลาดำเนินการ และความคุ้มค่ามานำเสนอโดยเร็ว

 

นอกจากนี้ กทพ.ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของการปรับแบบจากก่อสร้างทางยกระดับเป็นอุโมงค์ด้วย ทั้งนี้ ตามแผนดำเนินงานเดิมของ กทพ.จะเดินหน้าประมูลและก่อสร้างทางด่วน N2 ภายในปีนี้ เนื่องจาก กทพ.จะต้องเป็นผู้ก่อสร้างฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ในส่วนของพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน บริเวณเสาตอม่อบนถนนเกษตร-นวมินทร์

 

ส่วนตอน N1 ติดปัญหาคัดค้านจากคนในชุมชน ที่เกรงว่าจะมีเสียงรบกวน กทพ.จึงตั้งเป้าหมายจะประมูลตอน N2 ภายในปีนี้ และก่อสร้างในปีหน้า แต่เมื่อกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ศึกษาตอน N1 ไปพร้อมกับ N2 ด้วย เพื่อให้โครงข่ายสมบูรณ์ ก็จะทำให้แผนดำเนินโครงการต้องเลื่อนออกไปในปี 2564

 

เบื้องต้น กทพ.วางแผนไว้ว่า จะเสนอแนวทางแยกการพัฒนาออกเป็นระยะ หากรูปแบบการก่อสร้างตอน N1 ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดจราจรทางบก (คจร.) จะเสนอให้เปิดประกวดราคาและก่อสร้างตอน N2 ไปก่อน เพื่อไม่ให้ทั้งโครงการต้องล่าช้าออกไปอีก

 

อย่างไรก็ตาม ได้ประเมินไว้คราวๆแล้วว่า การปรับปรุงรูปแบบพัฒนาตอน N1 จากการก่อสร้างทางยกระดับ เป็นการก่อสร้างอุโมงค์แทนนั้น จะต้องใช้วงเงินงบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติม จากเดิมกำหนดไว้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท อาจปรับเพิ่มเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาท คราวนี้จะเดินหน้าตามแผนได้จนสำเร็จหรือไม่ ยังต้องตามลุ้น!!

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง