บริษัทญี่ปุ่นจับมือพัฒนารถบินเตรียมเปิดตัวในงานเอ็กซ์โป 2025
บริษัท SkyDrive ผู้พัฒนารถยนต์บินแบบ eVTOL หรืออากาศยานพลังงานไฟฟ้าที่สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่ง ประกาศความร่วมมือกับบริษัท Suzuki บริษัทผู้พัฒนายานยนต์ชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถยนต์บินได้สองที่นั่งและเตรียมเปิดตัวในงานโอซาก้าเวิลด์ เอ็กซ์โป 2025 และเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเทคโนโลยีโลกอนาคตของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของความร่วมมือในครั้งนี้
นับเป็นความเคลื่อนสำคัญของบริษัท SkyDrive ที่เริ่มต้นจากเงินทุนเพียงเล็กน้อยในปี 2018 โดยมีบริษัทแม่ชื่อว่า Cartivator ที่ก่อตั้งจากเงินลงทุนของบริษัท Toyota ก้าวสำคัญของบริษัท SkyDrive เกิดขึ้นในช่วงปี 2020 บริษัทสามารถระดมทุนได้กว่า 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และก้าวขึ้นสู่บริษัทสตาร์ทอัพระดับ Series B
บริษัทได้ทำการพัฒนารถยนต์บินได้รุ่นที่มีชื่อว่า SD-03 และประสบความสำเร็จบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สำเร็จในวันที่ 25 สิงหาคม 2020 ระบบขับเคลื่อนเป็นพลังงานไฟฟ้าพร้อมมอเตอร์ 8 ตัว รองรับผู้โดยสาร 1 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามการทดสอบช่วงแรก รถยนต์บิน SD-03 บินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ในระดับต่ำและช่วงเวลาสั้น ๆ
แม้ว่าภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยของบริษัท Suzuki มักเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์แต่ความจริงแล้วบริษัทประกอบธุรกิจที่หลากหลาย เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เรือเดินทะเลและเครื่องยนต์ หากนับเฉพาะธุรกิจรถยนต์บริษัทมียอดการส่งออกกว่า 3 ล้านคัน ในปี 2020 ที่ผ่านมาและบริษัทกำลังให้ความสนใจเทคโนโลยียานพาหนะพลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างมาก
รถยนต์บินได้รุ่นใหม่ที่พัฒนาโดยบริษัท SkyDrive มีชื่อว่า SD-XX ระบบขับเคลื่อนเป็นพลังงานไฟฟ้าพร้อมมอเตอร์ 8 ตัว น้ำหนักตัวเครื่องประมาณ 500 กิโลกรัม บินขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ระดับความสูง 500 เมตร ทำความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้นานสูงสุด 20-30 นาที เพียงพอที่จะเดินทางในระยะสั้น ๆ
รถยนต์บิน SD-XX ถูกติดตั้งล้อขนาดเล็กเอาไว้ด้านล่างเพื่อใช้วิ่งบนถนนในกรณีที่ไม่ต้องการบินขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยสามารถทำความเร็วบนถนนได้สูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องวิ่งได้เร็วกว่านี้เนื่องจากไม่ได้ถูกออกแบบมาใช้งานบนถนน สำหรับระยะทางไกลสุดสามารถวิ่งได้ระยะทาง 20-30 กิโลเมตร
เป้าหมายในการพัฒนารถยนต์บินพลังงานไฟฟ้าและโดรนบินขนส่งพัสดุของบริษัทมีความชัดเจนและคืบหน้าไปมากกว่าในระดับแค่การวางแผนและโมเดลจำลอง อย่างไรก็ตามการพัฒนารถยนต์บินพลังงานไฟฟ้ายังต้องแก้ปัญหาข้อจำกัดทางด้านวิศวกรรมอีกหลายอย่าง เช่น การจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรีให้เพียงพอต่อการบินเป็นระยะเวลานาน ความปลอดภัยในการบินบนท้องฟ้าที่มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สภาพอากาศ รวมไปถึงอุบัติเหตุการชนกับรถยนต์บินได้คันอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อนเพื่อควบคุมความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ
ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของภาพ skydrive2020.com