รีเซต

เหตุใดผู้นำหลายประเทศจึงไม่ยอมก้าวลงจากอำนาจโดยง่าย

เหตุใดผู้นำหลายประเทศจึงไม่ยอมก้าวลงจากอำนาจโดยง่าย
บีบีซี ไทย
17 มีนาคม 2563 ( 00:57 )
55
เหตุใดผู้นำหลายประเทศจึงไม่ยอมก้าวลงจากอำนาจโดยง่าย
Reuters
นายปูตินกำลังหาทางแก้รัฐธรรมนูญในหลายประเด็น

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียประกาศว่าจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะอนุญาตให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้อีกสองสมัย สิ่งนี้ยังเป็นข้อห้ามอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

นายปูตินเป็นหนึ่งในผู้นำอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่อัลจีเรียหรือซิมบับเว ที่ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้หลุดไปจากมืออย่างง่ายดาย

การเป็นผู้นำ มีอะไรน่าหลงใหลจนทำให้ใครบางคนเปลี่ยนแปลงหรือแหกกฎ เพียงเพื่อที่จะได้อยู่ในอำนาจต่อ

เรื่องเงินหรือ

"คำตอบง่าย ๆ คือการคอร์รัปชัน พวกเขาทำเงินได้มาก และยังครองอำนาจต่อเพื่อคงความรวยเอาไว้" ศ.นิค ชีสแมน เจ้าของหนังสือ How To Rig an Election กล่าว "แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องราวมันซับซ้อนกว่านั้น"

ศ.ชีสแมน บอกว่า สิ่งที่ผู้นำกลัวมากกว่าสูญความมั่งคั่ง คือการถูกดำเนินคดีหลังจากพ้นอำนาจไปแล้ว งานวิจัยในหนังสือของเขาระบุว่า ในช่วงปี 1960 ถึง 2010 ร้อยละ 43 ของผู้นำในแอฟริกาที่ลงจากอำนาจ ถูกดำเนินคดี เนรเทศ หรือถูกฆ่า

แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่นั้น

คนรอบข้าง

ผู้นำเหล่านี้ยังได้รับแรงกดดันจากคนรอบข้างด้วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พันธมิตรทางการเมือง หรือแม้กระทั่งทหารหรือตำรวจที่ช่วยสนับสนุนให้พวกเขาขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จ

"แม้เขาจะคิดว่าถึงเวลาอันสมควรแล้ว ก็ยังจะมีอีกหลายคนมาเคาะประตูบ้านและบอกเขาว่า 'นี่ไม่ใช่เรื่องของคุณเพียงแค่คนเดียว...นี่เป็นเรื่องของคนนับพันที่ทำอะไรเพื่อคุณ เสียสละเพื่อคุณ' " ศ.ชีสแมนอธิบาย

ศาสตราจารย์ผู้นี้พบหลักฐานว่าในช่วงปีท้าย ๆ ในอำนาจของโรเบิร์ต มูกาเบ ผู้นำซิมบับเว คนรอบข้างเป็นแรงกดดันให้อยู่ต่อ

Getty Images
นายโรเบิร์ต มูกาเบ

ปีศาจคุกกี้

ในหนังสือ The Power Paradox ที่ ดร.ดาเชอร์ เคลต์เนอร์ เขียนขึ้นกว่า 10 ปีก่อน เขาอธิบายถึงภาวะย้อนแย้งที่ว่า คนที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจมักจะเป็นคนน่ารักและเข้ากับคนอื่นได้ดี ได้รับความไว้วางใจจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าสโมสรเทนนิสแถวบ้าน หรือผู้นำคนทั้งประเทศ

แต่เมื่อคนเหล่านี้ได้เป็นผู้นำ พวกเขาก็เปลี่ยนเป็นปีศาจในทันใด

งานวิจัยมากมายชี้ว่า เมื่อใดที่คนมีอำนาจในมือ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ พฤติกรรมของคนเหล่านั้นจะเปลี่ยนไป พวกเขาจะเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อประโยชน์ตัวเอง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง พวกเขาจะเริ่มคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกบ่อยขึ้น เริ่มหยาบคาย หุนหัน ชอบขัดจังหวะผู้อื่น และไม่จ้องตาเวลาพูดคุยกับใคร

งานวิจัยอันเลื่องชื่อชิ้นหนึ่งของ ดร.เคลต์เนอร์ ทำขึ้นในช่วงปี 90 เขาทดลองแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มละ 3 คน และลองให้อำนาจกับคน ๆ หนึ่ง

"เราบอกพวกเขา(ที่ได้รับมอบให้เป็นผู้นำ)ว่ามีข้อมูลชี้ว่าพวกเขามีทักษะการเป็นผู้นำที่ดี" ดร.เคลต์เนอร์ อธิบาย แต่นั่นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ จากนั้นผู้วิจัยก็ให้งานกลุ่มต่าง ๆ ไปทำ 30 นาทีผ่านไป นักวิจัยเอาถาดคุกกี้ออกมาวาง

ผลออกมาอย่างชัดเจนว่าคนที่ได้รับอำนาจกินคุกกี้มากกว่าคนอื่น พวกเขายังกินเลอะเทอะและส่งเสียงดังอีกด้วย

รู้สึกดี

จากนั้นก็มีงานวิจัยอีกมากที่ชี้ว่าเมื่อคนได้รับอำนาจ พวกเขาจะเก็บกลั้นความรู้สึกน้อยกว่า เด็กที่ร่ำรวยมีแนวโน้มจะขโมยของ มีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์แบบแปลก ๆ และสบถใส่เพื่อนร่วมงาน มากกว่าเด็กยากจน

ดร.เคลต์เนอร์เชื่อว่าอำนาจเป็นสิ่งเสพติด เมื่อไม่มีข้อจำกัด คนก็จะมีอิสระที่จะทำตามผลประโยชน์และความปรารถนา

AFP
นายฮุนเซน เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2528

"ในหัวของผู้มีอำนาจ ในระบบประสาท อำนาจให้ความรู้สึกที่ดี คนมีอำนาจรู้สึกมีความสุขมากกว่า รู้สึกว่ามีคนเห็นค่า รู้สึกว่าพวกเขามีสถานะและความน่านับถือสูงกว่า ระบบประสาทพวกเขาสงบกว่า สุขภาพดีกว่า รู้สึกดีกับชีวิตมากกว่า"

ผู้ประจบสอพลอ

ดร.เคลต์เนอร์บอกว่า คนที่มีอำนาจมักมีพฤติกรรมเหมือนคนไข้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนสมองส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่น

คนที่มีอำนาจอาจจะเริ่มมีความโอหัง คิดว่าตนเป็นคนเดียวที่เป็นผู้นำได้ และอาจมองข้ามว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไป

"อีกอย่างหนึ่งคือ ทุกปี พวกเขาจะแต่งตั้งคนที่ผู้ประจบสอพลอคล้อยตามพวกเขา และไล่คนที่วิพากษ์วิจารณ์ออก" ศ.ชีสแมนกล่าว "พวกเขาไม่น่าจะเข้าใจว่าตนเองกำลังทำอะไรผิด"

ผลกระทบทางจิตวิทยาของการสูญเสียอำนาจก็เป็นเรื่องใหญ่ด้วย งานวิจัยชี้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศผู้ซึ่งอายุมากจะมีปฏิกิริยารุนแรงหากรู้สึกว่ากำลังจะสูญเสียอำนาจไป

บททดสอบ

หากอำนาจทำให้คนเสียคนได้ ทำไมผู้นำทั้งหมดไม่เป็นทรราชย์ที่มือเปื้อนเลือดเสียทั้งหมด

ในปี 2018 ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่กรุงวอร์ซอ อเล็กซานดรา ซิสลัก ชี้ว่ามีแง่มุมสองอย่างเกี่ยวกับอำนาจที่ย้อนแย้งกันมาก ๆ

อำนาจทำให้คน ๆ หนึ่งมีอำนาจเหนือชีวิตคนอื่น ๆ แต่ก็ทำให้พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้นด้วย และนี่จะนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นบวก

แต่เมื่อสูญเสียการควบคุม เช่นว่า ประเทศที่คุณกำลังนำเกิดสถานการณ์วุ่นวาย อำนาจก็อาจเปลี่ยนคน ๆ นั้นได้

"อำนาจเป็นสิ่งที่ดี และสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์คนหมู่มากได้ แต่คุณต้องตระหนักว่าการมีอำนาจต้องแลกกับการเสียอะไรไปบ้าง"

ศ.ซิสลักบอกว่า หากผู้นำเข้าใจในความย้อนแย้งนี้ ก็จะสามารถแยกมุมที่ดีและเสียของอำนาจออกจากกันไว้ได้

และเราก็จะเข้าใจคำกล่าว (ที่คนคิดว่าเป็นอับราฮัม ลินคอล์น ที่พูด แต่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่คนพูดถึงเขา) ที่ว่า

"ผู้ชายเกือบทุกคนสามารถทนอุปสรรคขวากหนามได้ แต่หากอยากจะทดสอบตัวตนใครคนหนึ่งดูจริง ๆ ลองให้อำนาจกับเขาดู"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง