รีเซต

ตร.พัทยา อ้าง พ.ร.บ.คอมฯ จับผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี "นิรนาม_"

ตร.พัทยา อ้าง พ.ร.บ.คอมฯ จับผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี "นิรนาม_"
บีบีซี ไทย
20 กุมภาพันธ์ 2563 ( 15:43 )
71
ตร.พัทยา อ้าง พ.ร.บ.คอมฯ จับผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี "นิรนาม_"
Getty Images

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ในบัญชีชื่อ "นิรนาม_" (@ssj_2475) ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นห้องพัก และพาตัวไปยัง สภ.เมืองพัทยา โดยไม่มีหมายจับ ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากได้ทวิตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10

ล่าสุดเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวซึ่งระบุว่าเป็นชายวัย 20 ปี อาศัยอยู่ใน จ.ชลบุรี และไม่ต้องการเปิดเผยชื่อสกุล ได้ถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลพัทยา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอ้างข้อมูลจากผู้ใช้ทวิตเตอร์คนดังกล่าวว่าการจับกุมมีขึ้นตั้งแต่เช้าวันที่ 19 ก.พ. โดยตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งได้แสดงหมายค้นซึ่งออกโดยศาลจังหวัดพัทยา เข้าตรวจค้นห้องพักและยึดโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่องไป และนำตัวเขาและพ่อแม่ไปยัง สภ.เมืองพัทยา โดยปราศจากหมายจับ ทุกคนถูกแยกนำตัวไปสอบสวนโดยมีการบันทึกวิดีโอตลอดการพูดคุย การสอบสวนมีขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00-17.00 น.

ในระหว่างการสอบสวนเจ้าหน้าที่ได้นำข้อความจากบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวมาให้ดูกว่า 30 แผ่น ซึ่งหลายข้อความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ พร้อมกับแจ้งให้เขาให้ความร่วมมือบอกรหัสผ่านของโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าดู และให้ยินยอมรับว่าเป็นเจ้าของบัญชี "นิรนาม_" จริง โดยระบุว่าหากไม่ยินยอมจะดำเนินคดี

ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ยังระบุด้วยว่าพ่อแม่ของ "นิรนาม_" กล่าวว่าบุตรชายยอมรับกับตำรวจว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ "นิรนาม_" จริง และถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยในขณะนั้นไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย ทั้งยังไม่มีบันทึกการจับกุมและบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา หลังจากนั้นได้ควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีตำรวจหนึ่งคืนก่อนจะนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดพัทยาในการฝากขัง ซึ่งศาลได้อนุญาต ในขณะนั้นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามไปด้วย

ในคำร้องของฝากขังของพนักงานสอบสวนได้ระบุข้อกล่าวหาในคดีนี้ตามมาตรา 14 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา"

คำร้องขอฝากขังระบุด้วยว่าก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบความเคลื่อนไหวกลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และได้พบบัญชีทวิตเตอร์ "นิรนาม_" เปิดใช้งานเมื่อเดือนตุลาคม 2561 จากการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยแหล่งข่าว พบว่าบัญชีดังกล่าว มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของบริษัททรูจำนวน 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคมปี 2563 โดยมีการระบุถึงหมายเลขไอพีแอดเดรสในการเชื่อมต่อทั้งสองครั้ง และจากการตรวจสอบกับบริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หมายเลขไอพีดังกล่าวเป็นของหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งผู้ต้องหาลงทะเบียนเปิดใช้

เจ้าหน้าที่ยังอ้างถึงข้อมูลจากโพสต์ของบัญชี "นิรนาม_" เมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่เคยทวิตระบุถึงอายุและวันเกิดของตัวเอง โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าตรงกันกับวันเกิดของผู้ต้องหาในคดีนี้ จึงเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมยังได้ให้ผู้ต้องหาเข้าใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าว โดยใส่รหัสผ่าน ปรากฏว่าพบว่ามีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบัน และรับว่าตนเป็นผู้โพสต์ จึงจับกุมดำเนินคดี

Getty Images

พนักงานสอบสวนยังได้คัดค้านการขอประกันตัวโดยระบุว่าการสอบสวนคดียังไม่เสร็จสิ้น และเห็นว่าเป็นคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

บีบีซีไทยพยายามติดต่อไปยัง สภ.เมืองพัทยา ทางโทรศัพท์ แต่ไม่มีผู้ใดรับสาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค.ปี 2560 โดยระหว่างที่มีการร่างกฎหมายดังกล่าว สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ได้แสดงความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นภัยต่อเสรีภาพในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับรองว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลไซเบอร์ทั้งหมดจะต้องได้มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากล

นอกจากนี้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติยังกังวลด้วยว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลไทยออกคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือไอเอสพี ให้เก็บข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เน็ตของผู้ใช้บริการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล และผู้ให้บริการจะได้รับโทษในคดีอาญาร่วมกับผู้ผลิตหรือผู้เผยแพร่เนื้อหาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งยังระบุบทลงโทษจำคุกสูงสุด 5 และปรับเงินแก่ผู้กระทำความผิดในข้อหานำเข้าข้อมูลบิดเบือนลงในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตีความหรือบังคับใช้กฎหมายได้อย่างกว้างขวางเกินไป

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบีบีซี โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ชี้ว่าการจับกุมในลักษณะดังกล่าวเป็นวิธีจัดการกับผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ ม.112 ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ในหลวง ร.10 ขึ้นครองราชย์

https://twitter.com/pakhead/status/1230460692559355905

ข่าวที่เกี่ยวข้อง