ไวรัสโคโรนา : กรมควบคุมโรคยอมรับสถานการณ์เปลี่ยน มาตรการต้องปรับ
สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ 64 ราย ภายในเวลา 6 วัน โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงยืนยันการพบผู้ป่วยในคราวเดียวกันถึง 32 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่พบผู้ป่วยในไทยรายแรกเมื่อต้นเดือน ม.ค.
จากเดิมที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ วันละ 1-3 ราย มากสุดก็ 6 ราย บางครั้งตัวเลขผู้ป่วยสะสมหยุดนิ่งนาน 2-3 วัน จนทำให้หลายคนสงสัยว่ารัฐบาลกำลังปกปิดตัวเลขหรือไม่ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สธ. กลับมีการแถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน ๆ ละหลายราย
- เราจะป้องกันตัวจากโรคโควิด-19 ได้อย่างไร
- เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างไรและจะป้องกันการแพร่และรับเชื้อได้อย่างไร
- ล้างมืออย่างไร เพื่อป้องกันไวรัส
- ควรล้างมือนานเท่าไหร่?
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยอมรับหลังการแถลงข่าวพบผู้ป่วยใหม่ 32 รายเมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) ว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว และ "เราต้องปรับมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์"
สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้นหมายถึงจากเดิมที่การแพร่ของโรคอยู่ในวงจำกัด มาสู่ระยะที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นและพบผู้ป่วยในวงกว้างขวางมากขึ้น
รองอธิบดีกรมควบคุมโรคไม่ได้บอกว่านี่คือการเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือการระบาดในวงกว้าง แต่เขาย้ำว่า "เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ"
บีบีซีไทยสรุปประเด็นสำคัญที่ นพ.ธนรักษ์ตอบคำถามสื่อมวลชน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการระบาดของโควิด-19 ไว้ดังนี้
"ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ"
จากการที่เราเจอผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่และมีผู้ป่วยใน กทม.มากขึ้น นั่นหมายถึงว่าการควบคุมโรคต้องทำงานอย่างรวดเร็วมากขึ้น ช่วงจังหวะนี้เป็นช่วงสำคัญ ถ้ามีคนไข้หลุดไม้หลุดมือไปจำนวนหนึ่งแล้วไปแพร่เชื้อ เช่น มีผู้ป่วยเดินเข้าสนามมวย ไปเที่ยวผับ แล้วก่อให้เกิดการแพร่โรคเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ คนกลุ่มก้อนนี้ก็จะแพร่โรคต่อไปได้อีก เราพยายามอย่างเต็มที่ในการตามตะครุบผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว แต่สุดท้ายแล้วภาครัฐก็จะมีศักยภาพระดับหนึ่ง ภาคประชาชนก็จะมีศักยภาพอีกระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้าใครรู้ตัวว่าไปอยู่ในที่ที่ผู้ป่วยเคยไป แล้วเกิดมีไข้ ไอ เจ็บคอ ก็ให้นึกไว้ก่อนว่าอาจป่วยเป็นโควิด-19 ให้ไปตรวจโดยเร็ว และระหว่างนี้ก็ขอให้หลีกเลี่ยงการไปแพร่โรคกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน
เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เราจะไปต่อหรือจะถอยหลัง ภาครัฐเราทำเต็มที่และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคนด้วยเหมือนกัน
"ถ้าเป็นหวัด ไม่ว่าอาการจะเบาแค่ไหน ขอให้หยุดอยู่บ้าน"
กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่พบในประเทศไทยอาการไม่หนัก เหมือนเป็นหวัดธรรมดา เพราะเหตุนี้ผู้ป่วยหลายรายจึงยังมีแรงไปที่โน่นที่นี่ ถ้าผู้ป่วยอาการรุนแรง มีไข้สูง ไม่สบาย เขาคงไม่ไปเที่ยว ไม่ไปดูมวย ไม่ไปผับกับเพื่อน เพราะฉะนั้นขอย้ำว่าในสถานการณ์เช่นนี้ถ้าคุณเป็นหวัด ไม่ว่าอาการจะเบาแค่ไหนขอให้หยุดอยู่กับบ้านเพื่อหยุดแพร่เชื้อ และถ้าสงสัยว่าตัวเองเป็นโควิด-19 ให้รีบไปโรงพยาบาล อย่าเปิดช่องให้เราแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
"รู้ข้อมูลเพื่อประกอบการจัดการความเสี่ยง"
ความเสี่ยงที่เราจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้นประเมินได้จาก 2 ส่วน
ส่วนแรก-จำนวนผู้คนที่เราสัมผัสใกล้ชิดในแต่ละวัน ถ้าเราต้องทำงานกับคนจำนวนมาก ต้องพบและสัมผัสใกล้ชิดกับคนเป็นร้อย ความเสี่ยงของเราก็จะมากกว่าคนที่ไม่เจอใครเลย
ส่วนที่สอง-คนที่เราไปเจอมีโอกาสเป็นผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน
เมื่อนำข้อมูลสองส่วนนี้มาพิจารณาร่วมกันก็จะช่วยให้เราประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้และจัดการลดความเสี่ยงนั้นได้ ด้วยเหตุนี้กรมควบคุมโรคจึงกำลังจัดทำแผนที่ระบุจุดที่พบผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อบอกว่าพื้นที่ไหนมีผู้ป่วยอยู่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละคนประเมินได้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะได้รับเชื้อ และจะได้พิจารณาลดความเสี่ยงของตัวเอง เช่น ถ้าแถวบ้านเรามีผู้ป่วยหลายราย ประกอบกับการทำงานของเราต้องเจอคนจำนวนมาก ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็สูงขึ้นตาม เราก็ต้องลดความเสี่ยงลงด้วยการอย่าออกไปพบปะผู้คนให้มากนัก หรือถ้าจำเป็นต้องเจอผู้คนมากมายจริง ๆ ก็ต้องป้องกันตัวเองตามที่ สธ.ได้แนะนำไปแล้วหลายครั้ง คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ อย่าเอามือมาบริเวณใบหน้า กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง
"วางแผนการใช้ชีวิตให้ดี"
ในภาวะที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น คือมีผู้ป่วยในสังคมเพิ่มขึ้น เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัย สิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อลงได้คือการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (social distancing) ซึ่งต้องอาศัยหลักคิดง่าย ๆ คือวางแผนการใช้ชีวิตของเราให้ดี เช่น แทนที่จะเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตทุกวัน ก็ลดเหลือสัปดาห์ละครั้งหรือเข้าร้านสะดวกซื้อวันละ 3 เวลา ก็ลดเหลือวันครั้ง ก็จะลดความเสี่ยงของเราได้ เราต้องวางแผนว่าจะซื้ออะไรให้ซื้อในคราวเดียว แต่ไม่ใช่การกักตุนอาหาร เราแค่วางแผนการใช้ชีวิตให้ดี
"ไม่ว่าป่วยหรือสุขภาพดี ก็ต้องดูแลตัวเอง"
ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงนี้มีฝนตกจะส่งผลต่อความรุนแรงของการระบาดอย่างไร คำตอบก็คืออย่าไปห่วงเรื่องอากาศหนาว อากาศร้อน อากาศชื้น ตอนนี้โรคอุบัติใหม่มันไม่กลัวความร้อน มันไม่สนความชื้น ถ้าเราไปพบปะกับคนที่เป็นผู้ติดเชื้อแล้วป้องกันตัวไม่ดี เราก็มีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าวันนี้อากาศร้อนความเสี่ยงน้อยลง หรืออากาศชื้นต้องระวังตัวเป็นพิเศษ เราต้องทำตัวเหมือนกันทุกวันนั่นคือ ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ป่วยหรือเป็นคนที่สุขภาพดีต้องดูแลตัวเองกันทุกคน