รีเซต

ครม. นัดพิเศษเคาะมาตรการเยียวยาศก.ชุด 3 คาดวงเงินสูงถึง 1.6 ล้านล้านบ.

ครม. นัดพิเศษเคาะมาตรการเยียวยาศก.ชุด 3 คาดวงเงินสูงถึง 1.6 ล้านล้านบ.
มติชน
3 เมษายน 2563 ( 14:29 )
66
ครม. นัดพิเศษเคาะมาตรการเยียวยาศก.ชุด 3 คาดวงเงินสูงถึง 1.6 ล้านล้านบ.

ครม. นัดพิเศษ เคาะมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจชุดที่ 3 ดูแล ประชาชน ธุรกิจ ภาคการเงิน คาดวงเงินสูงเงิน 10% ของจีดีพี หรือ 1.6 ล้านล้านบาท โดยใช้ทั้งเงินจากงบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงิน ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ เพื่อนำเงินจากธปท.มาใช้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมครม.ประชุมนัดพิเศษว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบชุดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจในระยะที่ 3 ซึ่งจะนำมาใช้ช่วง 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้มีทรัพยากรและมีมาตรการดูแลประชาชนและธุรกิจในส่วนรวม ประกอบด้วย 1. มาตรการเข้าไปเยียวยาและดูประชาชนธุรกิจในส่วนที่ยังขาด เพื่อให้ครอบคลุมครบถ้วน 2.เสนอให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด ดูแลไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักในช่วงเวลา 3-4 เดือนข้างหน้า 3. ดูแลภาคเศรษฐกิจการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม แม้ขณะนี้ภาคการเงินจะยังไม่มีปัญหาก็ตาม

นายสมคิด กล่าวต่อว่า มาตรการทั้งหมดมีขนาด 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โดยใช้เงินทั้งงบประมาณ ซึ่งในครม.หารือกันกันแล้วให้สำนักงบประมาณเกลี่ยงบ 10% ของงบประมาณ 2563 ในส่วนที่ยังเกลี่ยได้มาใช้ ไม่เกี่ยวกับงบเงินเดือน และงบที่ใช้ไปแล้ว โดยวงเงินที่เหลือเป็นการกู้ยืม โดยออกเป็นพ.ร.ก.กู้เงิน และส่วนหนึ่งจะเป็นการออก พ.ร.ก.เพื่อให้ธปท.เอาเงินมาช่วย ซึ่งวงเงินในส่วนไหนจะเป็นเท่าไหร่นั้น ขอให้ครม. หารือกันในวันอังคารก่อน ถ้าทันจะเสอนครม.ในวันอังคารที่ 7 เมษายน นี้ทันที ซึ่งเชื่อว่ามาตรกาทั้งหมดจะสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนภาคธุรกิจ ให้ก้าวข้ามวิกฤตการณ์นี้ได้ โดยมาตรการที่ออกมาครั้งนี้กระทรวงการคลังหารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต)มาเป็นระยะเวลานานพอสมควร

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ชุดมาตรการเยียวยาระยะ 3 ดูแลทั้งประชาชน โครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงระบบการเงินที่ธปท.ต้องออกมาดูแล แบ่งเป็น 1.กลุ่มประชาชน ดูแลเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการดูแล และดูแลต่อในกลุ่มผู้ประกอบการ และลูกจ้าง ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม และอาชีพอิสระ โดยเริ่มไปแล้วในส่วนนี้ และจะดูแลต่อไป นอกจากนี้ลดภาระการผ่อนหนี้ต่าง เพิ่มเติมจากมาตรการธปท. ออกไป โดยจะดูแลให้ครอบคลุม สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์  2.ดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งตรงนี้จะมีการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขนำไปใช้ต่อสู้กับโควิด-19 อีกส่วนหนึ่งจะดูแลเศรษฐกิจในระดับพื้นที่(โลคอลอีโคโนมี) ต้องมีชุดมาตรการเข้าไปดูแลแรงงาน และประชาชนในพื้นที่ชุมชม ที่ขณะนี้กลับไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดจำนวนมา คาดว่าเมื่อเหตุการณ์โควิด-19 ดีขึ้นสภาพเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงควรมีมาตรการมาส่งเสริมการสร้างอาชีพ สนับสนุนให้แรงงานมีทักษะในการประกอบอาชีพ ตรงนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เป็นการดูแลเศรษฐกิจภายใน ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังจะมีแนวทางสนับสนุนการลงทุนภาครัฐเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพิ่มเติม 3.มาตรการดูแล ผู้ประกอบการที่มีภาระใหญ่จากการกู้ยืมเงิน แลมาตรการช่วยสภาพคล่อง ซึ่งจะเป็นมาตการเพิ่มเติมที่เคยออกมาในระยะ 1และ 2

นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับวงเงินที่จะใช้ในการบริหารจัดการชุดมาตรการระยะที่ 3 มีขนาด 9-10% ของจีดีพี (เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไทยมีขนาดจีดีพีประมาณ 16.9 ล้านล้าบาท ดังนั้นคาดว่าวงเงินจะใช้ครั้งนี้ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกู้ทั้งหมด เพราะต้องดูว่าสำนักงบประมาณจะสามารถจัดสรรงบประมาณมาใช้ในมาตรการชุดที่ 3 เท่าไหร่ ส่วนที่หลือจากงบประมาณ กระทรวงการคลัง ออกพ.ร.ก.กู้เงินมาใช้ และส่วนหนึ่งเป็นการใช้เงินจากธปท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง