รีเซต

โครงการผันน้ำยวม 70,000 ล้าน แก้ปัญหาน้ำลุ่มเจ้าพระยาหรือทำลายป่าต้นน้ำ

โครงการผันน้ำยวม 70,000 ล้าน แก้ปัญหาน้ำลุ่มเจ้าพระยาหรือทำลายป่าต้นน้ำ
บีบีซี ไทย
15 มีนาคม 2563 ( 10:25 )
112
โครงการผันน้ำยวม 70,000 ล้าน แก้ปัญหาน้ำลุ่มเจ้าพระยาหรือทำลายป่าต้นน้ำ

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร กำลังเร่งผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จ.ตาก รวมมูลค่า 1 แสนล้านบาท โดยมีทุนรัฐวิสาหกิจจีน เสนอเข้ามาลงทุนแลกกับการที่รัฐบาลไทยอนุมัติโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินที่ชายแดนไทย-เมียนมา

บีบีซีไทยเดินทางไปยังแนวเขตก่อสร้างโครงการผันน้ำยวมบริเวณรอยต่อ 3 อำเภอ ของ จ.เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่พื้นที่ปากอุโมงค์ที่จะปล่อยน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เส้นทางอุโมงค์ผ่านเขตป่า จุดวางวัสดุกองดิน และพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตลอดแนวโครงการเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หลายหมู่บ้านไม่เคยรับรู้ว่าจะเกิดโครงการขนาดใหญ่ขึ้น แต่คำถามเดียวกันที่สะท้อนออกมาจากพื้นที่ คือ พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการเหล่านี้

"คิดถึงหัวอกประชาชนบ้างไหม เขาอยู่มากี่ปีแล้ว... ถ้าเอาดินมากองไว้ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร แล้วป่าจะอยู่อย่างไร" นายโขยพะ แก้วกลางดง ชาวบ้านยองกือ ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าว

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธาน กมธ. ชุดนี้ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า บริษัท ต้าถัง ทุนรัฐวิสาหกิจจีน สนใจเข้ามาลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์ส่งให้กับรัฐบาลไทย เขาระบุอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นชอบโครงการนี้แล้ว

โครงการนี้แบ่งแนวส่งน้ำออกเป็น 2 ทาง เฉพาะโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน เจาะอุโมงค์ผ่านป่าใน จ.เชียงใหม่ เพื่อส่งน้ำลงเขื่อนภูมิพล โครงการเดียว มีมูลค่าราว 70,000 ล้านบาท

รู้จักโครงการผันน้ำยวม

โครงการผันน้ำยวมไปให้เขื่อนภูมิพล ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารประกอบ อุโมงค์คอนกรีต ความยาว 61 กิโลเมตร เจาะผ่านผืนป่าต้นน้ำรอยต่อ 3 จังหวัด จุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 6 จุด และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

เอกสารกรมชลประทานระบุว่า โครงการนี้จะเติมน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ เพิ่มพลังงานการผลิตไฟฟ้าให้เขื่อนภูมิพล เฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มการผลิตน้ำประปา การประมงในเขื่อนและการท่องเที่ยว

กรมชลประทานระบุว่า มีประชาชนได้รับผลกระทบ "ไม่เกิน 30 ราย" ขณะที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน ระบุว่ามีประชาชน 36 หมู่บ้านไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และข้อมูลในรายงานไม่ครบถ้วน

พื้นที่ศึกษาโครงการ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัด

บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

บริเวณบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ปลายทางของปากอุโมงค์ ก่อนน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล พื้นที่นี้ห่างจากสันเขื่อนภูมิพลราว 10 กิโลเมตร เป็นเขตรอยต่อระหว่าง จ.เชียงใหม่กับ จ.ตาก

ชาวบ้านที่นี่เป็นชาวกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เฉพาะหมู่ 6 มีอยู่ 175 ครัวเรือน พวกเขาอยู่ที่นี่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ เกือบทั้งหมดใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก สื่อสารด้วยภาษาไทยไม่คล่อง ก่อนที่โครงการนี้จะเกิดขึ้น ที่ทำกินของบางครอบครัวที่อยู่ระดับต่ำกว่า 260 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ถูกเวนคืนไปจำนวนหนึ่งภายหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554

"ที่บอกว่าจะได้น้ำใช้ จะใช้ได้อย่างไรเมื่อที่ดินก็เสียหาย กว่าจะได้ก็เสียหายไปแล้ว" นายตัน ศรีนวล ชาวบ้านแม่งูด ซึ่งมีสวนลำไยอยู่ในบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดกองดินจำนวน 77 ไร่ บอกกับบีบีซีไทย

นายวันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ม.6 ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เคยได้ไปประชุมที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 2-3 ครั้ง แต่ไม่เคยได้พูดในเวทีรับฟังความเห็นเลย เขาบอกว่าชาวบ้านกะเหรี่ยงโพล่งทั้งหมด 15 หมู่บ้าน มีมติคัดค้านโครงการนี้ เพราะไม่มีประโยชน์ อีกทั้งเมื่อครั้งคณะกรรมาธิการฯ มาลงพื้นที่ก็ไม่ได้มีการมาสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านแต่อย่างใด

"หลาย ๆ หน่วยงานบอกว่า พี่น้องเราที่นี่เป็นคนเห็นแก่ตัวเพราะว่าน้ำต้องใช้ทั้งประเทศ แต่คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดเคยมาช่วยเหลือเราไหมเวลาเราเจอภัยแล้ง" นายวันชัยตั้งคำถาม

หมู่บ้านกะเหรี่ยงโพล่ง บ้านกะเบอดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

จาก อ.ฮอด เราเดินทางไปที่ หมู่บ้านกะเบอดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่จะเป็นทางผ่านของอุโมงค์ผันน้ำ จากตัวอำเภอนั่งรถไปตามถนนลูกรังที่ลัดเลาะขึ้นลงไปตามภูเขาสูงชันอีกเกือบ 1 ชั่วโมงจึงจะถึงหมู่บ้าน

หมู่บ้านกะเบอดินตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่า 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ชาวบ้านที่นี่อยู่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ปัจจุบันมีอยู่ 160 ครอบครัว ก่อนหน้านี้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาจากโครงการสัมปทานเหมืองหิน แต่ตอนนี้มีโครงการเจาะอุโมงค์ผันน้ำเข้ามาอีก

ตามแผนที่ปรากฏในรายงานสำรวจออกแบบ ที่นี่ถูกวางไว้ให้เป็นจุดกองวัสดุ นักสิ่งแวดล้อมซึ่งติดตามโครงการนี้คาดการณ์ว่าดินจำนวนมหาศาลที่ขุดจากอุโมงค์จะมีขนาดใหญ่เท่าภูเขาหนึ่งลูก

แม่บ้านสูงอายุในชุดประจำเผ่าสีสันสวยงาม 6-7 คนที่เราได้พูดคุย ไม่รู้เลยว่ากำลังมีการก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านของพวกเธอ

มือสอ โชคกดิลก แม่เฒ่าชาวกะเหรี่ยงโพล่งวัย 66 ปี พูดผ่านล่ามกับบีบีซีไทยว่า เธอรู้สึก "ตกใจและกลัว" เมื่อรู้ว่าจะมีการระเบิดเพื่อเจาะอุโมงค์ และคิดว่าคงอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้

ชาวบ้านบางคนบอกว่า ถ้ามีการก่อสร้างพวกเขาจะอยู่ไม่ได้เพราะมีรถเข้าออกผ่านหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังต้องการให้ "ผู้หลักผู้ใหญ่" ลงมาอธิบายและแปลเป็นภาษากะเหรี่ยงให้ฟัง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาไทย

แม่น้ำสองสี

พื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ไม่ห่างจากบริเวณแม่น้ำสองสี จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำเงาและแม่น้ำยวม เป็นบริเวณที่ตามแผนจะเป็นที่ตั้งสถานีสูบน้ำ ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนที่นี่บอกว่าชาวบ้านแม่เงาได้รับผลกระทบกว่า 30 ครอบครัว ไม่ใช่แค่ 4 ครอบครัว

ชาวบ้าน ต.แม่เงา ตั้งคำถามว่า เขื่อนจะช่วยบริหารจัดการน้ำให้ภัยแล้งหมดสิ้นไปจริงหรือไม่ และคนต้นน้ำที่ดูแลป่าอย่างพวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการ

นายธงชัย เลิศพิเชียรไพบูลย์ ชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย 1 ใน 4 ครอบครัวที่จะต้องถูกย้ายไป บอกว่า แต่ละครั้งที่หน่วยงานที่ลงมาท้ังรัฐและบริษัทสำรวจ ไม่เคยมีการพูดถึงผลกระทบและค่าชดใช้เยียวยา เพราะบ้านของตนไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะให้ย้ายไปอยู่ใหม่ที่ไหนไม่มีใครพูดถึง

"ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน...ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะไม่มีประโยชน์ให้ผม" ธงชัยกล่าว

ส.ส.พลังประชารัฐ เผยนายกฯ ไฟเขียว- ทุนรัฐวิสากิจจีน เสนอลงทุน

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธาน กมธ. พิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แม่น้ำเจ้าพระยาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลางขาดแคลนไม่พอใช้ ทางกรมชลประทานประมาณการณ์ว่าขาดอยู่ 2,800 ล้าน ลบ.ม. เป็นที่มาของการศึกษาเพื่อเติมน้ำลงอ่างเก็บน้ำภูมิพล คาดว่าการผันน้ำจะทำให้ได้น้ำเติมเขื่อนภูมิพลมาสู่ภาคกลางได้ประมาณ 1,700 ล้าน ลบ.ม.

นายวีระกรอ้างว่าไม่มีชาวบ้านคัดค้านโครงการนี้ซึ่งมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยมาก

"ไม่ได้กระทบกระเทือนใครเลย มีแต่บริเวณสถานีสูบน้ำที่ต้องใช้ที่ประมาณ 40 ไร่ ตรงนี้มีบ้านของชาวปกาเกอะญอ 4 หลัง เราคุยกับเขาแล้ว เขาบอกถ้ามีการจ่ายค่าชดเชยให้เขาก็ไม่มีปัญหา"

ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. เปิดเผยว่ามีบริษัทจีนเข้ามาเสนอเงื่อนไขว่าไทยไม่ต้องสร้างเอง รัฐวิสาหกิจจีนซึ่ง "น่าจะเป็นบริษัทต้าถัง" จะมาสร้างให้ทั้ง 2 จุด คือ แนวผันน้ำแม่น้ำยวม และแนวผันน้ำเมย-แม่ตื่น เพื่อแลกกับการให้ไทยอนุญาตให้สร้างเขื่อนสาละวิน 2 แห่ง และจะขายกระแสไฟฟ้ากลับมาให้ไทย

"เขายินดีที่จะสร้างให้ฟรี แต่มีเงื่อนไขว่าเขาจะขอสร้างเขื่อนแบบรันออฟริเวอร์หรือเขื่อนน้ำไหลผ่านที่แม่น้ำสาละวินที่ชายแดนไทย-เมียนมา เขา (จีน) จะเจรจาฝั่งเมียนมาเอง ขอให้ประเทศไทยยอมให้เขาสร้างเขื่อน (สาละวิน) นี้" นายวีระกรกล่าว

นายวีระกรบอกว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่บริษัทจีนกำลังจะยื่นทีโออาร์ส่งให้รัฐบาลไทย ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย จีนจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งสองโครงการไม่เกิน 3 ปี และถ้าน้ำยังไม่พอ จีนก็พร้อมจะสร้างแนวส่งน้ำสาละวินมาให้อีก

"ผมมีโอกาสกราบเรียนนายกฯ ท่านนายกฯ รู้อยู่แล้ว สองโครงการนี้ แต่ท่านบอกเมียนมาพูดยาก ผมบอกไม่ใช่หน้าที่เราเลยครับ เพราะทางจีนเขาจะเป็นตัวกลางคนเจรจาให้เอง ท่านบอกก็ดีสิ แล้วยิ่งโครงการนี้เราไม่ต้องลงทุนเองยิ่งดีใหญ่เลย"

ได้ไม่คุ้มเสีย

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดการทำลายป่าต้นน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสาละวินโดยที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอาจไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ และนอกจากจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว หากโครงการเสร็จ รัฐต้องลงทุนเพิ่มทุกปี ปีละประมาณ 2,400 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าไฟสูบน้ำปริมาณ 1,700-1,800 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ฉะนั้น น้ำที่คาดหวังว่าจะได้ไม่ใช่ได้มาฟรี ๆ

"ผันน้ำแล้วน้ำไปถึงคลองภาษีเจริญ ปทุมธานี กรุงเทพฯ มันจริงหรือไม่ ระยะทาง 700-800 กม. จากเขื่อนภูมิพลไป น้ำคุณก็ไหลไปไม่ถึงนครสวรรค์แล้ว" นายหาญณรงค์กล่าวและตั้งข้อสังเกตว่าโครงการนี้ไม่น่าจะมุ่งการบริหารจัดการน้ำ แต่เป็นการบริหารการใช้งบประมาณมากกว่า

"การอ้างว่าโครงการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก แล้วลงทุนขนาดนี้ก็เพื่อให้สมราคากับการลงทุนเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่ได้รับจริงจะไม่เกิดแบบนั้น"

ด้าน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขึ้นมามีคำถามว่าจะได้น้ำในปริมาณอย่างที่ต้องการหรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจทำให้ฝนที่ตกแต่ละปีไม่แน่นอน

หากมองในเชิงปริมาณน้ำ ผศ.ดร.สิตางศุ์เห็นด้วยกับการผันน้ำจากแม่น้ำยวม เพราะมีปริมาณน้ำมาก แต่ได้สงวนความเห็นภายในคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่าต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อชาวบ้านและทรัพยากรธรรมชาติให้ชัดเจน ไม่หมกเม็ด และต้องมีการเยียวยาชดเชยอย่างเป็นธรรมหากรัฐชี้ชัดว่าจำเป็นต้องสร้าง

"การขุดอุโมงค์ใต้ดิน คำว่า 'ไม่กระทบอะไร' ไม่เป็นจริง เพราะการลำเลียงท่อ วัสดุเข้าไป ต้องมีการเปิดทางถนน จะเข้าไปถึงป่าต้องถางป่า การขุด 61 กม. ต้องมีการทำเป็นช่วง ๆ มูลดินที่ขึ้นมาขนาดนั้นจะเอาไปกองไว้ที่ไหน"

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหญิงมองว่า มีทางเลือกที่จะไม่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ คือ ต้องพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานจากเดิม 40 ให้ได้ 60 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเพียงพอกับความต้องการ โดยไม่ต้องมีโครงการผันน้ำเจาะท่อผ่านป่า

อย่าขับไล่เราไปไหน

เรือหางยาวล่องจากบริเวณแม่น้ำสองสี ไปยังบ้านท่าเรือ น้ำในแม่น้ำยวมใสจนมองเห็นพื้นกรวดหินด้านล่าง คอกดักปลาถูกวางเป็นจุด ๆ ป่าสองฝั่งแม่น้ำคือที่ที่ชาวบ้านได้เก็บหน่อไม้ หัวบุก เห็ดเผาะ เพื่อขายเลี้ยงชีพในฤดูฝน

สำหรับชาวบ้านท่าเรือ พื้นที่ใกล้จุดก่อสร้างเขื่อน สายน้ำและป่าเขาหล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาให้มีรายได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีสัญชาติ เพราะการตั้งรกรากเมื่อกว่า 20-30 ปีที่แล้ว มีประวัติศาสตร์จากการหลบหนีสงครามในรัฐกะเหรี่ยง

"เราหนีมาจากที่อื่นเพื่อมาที่นี่ แล้วโครงการนี้มาเหมือนเขาจะขับไล่เราไปที่ไหนอีกไม่รู้" มึดา นาวานาถ กล่าวกับบีบีซีไทย

"สิทธิในที่ดินทำกินเราเรียกร้องได้แค่ไหน ตอนนี้เราได้มีถิ่นฐานถาวร แต่กำลังกลัวต้องถูกอพยพ มันเป็นไม่ได้เลยที่ชาวบ้านจะได้รับสิทธินั้น แม้กระทั่งสิทธิทางสัญชาติ เรื่องขั้นพื้นฐานยังไม่ได้รับเลย" ยง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง