รีเซต

ห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ โฉมใหม่ ทำไมจึงเป็น "ห้องสมุดที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ"

ห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ โฉมใหม่ ทำไมจึงเป็น "ห้องสมุดที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ"
บีบีซี ไทย
24 กุมภาพันธ์ 2563 ( 02:13 )
167

เมื่อจำนวนหนังสืออาจไม่ใช่คำตอบของห้องสมุดยุคใหม่ ชาวคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งผู้บริหาร อาจารย์และศิษย์เก่า จึงระดมสมองในการปรับปรุงห้องสมุดครั้งใหญ่ และพบว่าสิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของนิสิตซึ่งเป็นผู้ใช้งานหลักนั่นเอง

ผลที่ได้ ไม่ใช่เพียงตอบโจทย์การใช้งานของนิสิต แต่ยังทำให้ห้องสมุดโฉมใหม่นี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบประเภทห้องสมุด ประจำปี 2019 จากนิตยสาร Interior Design Magazine ของสหรัฐอเมริกา

อาคาร 3 ชั้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่อาคารน้อยใหญ่ของคณะสถาปัตย์ ดูผ่าน ๆ แล้วเป็นเหมือนร้านกาแฟที่คุณสามารถนั่งจิบเครื่องดื่มไปทำงานไปด้วยได้ มีเสียงเพลงเปิดคลอเบา ๆ ขณะที่นิสิตจับกลุ่มพูดคุยกัน

ที่นี่ไม่ใช่ร้านกาแฟหรือโค-เวิร์กกิงสเปซซึ่งกำลังเป็นที่นิยม หากแต่เป็นห้องสมุดที่อยู่คู่กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งนี้มานานกว่า 30 ปี

พฤติกรรมคนเปลี่ยนการออกแบบปรับ

"คนที่เข้ามาใช้ห้องสมุดของเรา ต่อให้เข้ามานั่งเล่นหรือมานั่งทำงาน ก็จะเห็นหนังสืออยู่รอบ ๆ ตัว เขาก็อาจจะเห็นหนังสือที่ต้องการอ่านโดยบังเอิญ แล้วก็มีความสนใจไปค้นคว้าหนังสือเล่มอื่น ๆ ในห้องสมุดต่อไป" รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงห้องสมุดที่ไม่ได้ "เงียบ" อย่างห้องสมุดทั่วไป

ทุกอย่างที่ออกแบบมาได้ผ่านการเก็บข้อมูลความต้องการของนิสิตซึ่งเป็นผู้ใช้งานหลัก

รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องยอมรับคือพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปแล้ว ห้องสมุดไม่ใช่แหล่งข้อมูลเดียวที่หาได้ในปัจจุบัน ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่าย แต่โลกออนไลน์ก็ยังไม่สามารถเอาชนะหนังสือซึ่งผ่านการคัดสรรและตรวจสอบความถูกต้องมาอย่างดี

"นิสิตส่วนใหญ่อยากได้พื้นที่ทำงานร่วมกันได้ มีปลั๊กเยอะ ๆ สำหรับเสียบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก มีไวไฟแรง ๆ และอยากได้พื้นที่ที่เปิดจนถึงดึกเพื่อให้เขาได้นั่งทำงานหลังจากเลิกเรียน" รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์เล่าถึงโจทย์ใหญ่ของการปรับปรุงห้องสมุดคณะฯ ที่ถูกส่งต่อให้กลุ่มสถาปนิกศิษย์เก่าของคณะที่อาสาเข้ามาแปลงโฉม

ห้องสมุดส่วนใหญ่ เมื่อเดินเข้าไปจะผ่านบรรณารักษ์ก่อน แต่ที่นี่ไม่ใช่ พื้นที่ชั้นแรกมีนิสิตจับกลุ่มคุยงานกันอยู่ สิ่งที่สะดุดตาคือบันไดทางเดินที่ล้อมรอบไปโดยโครงเหล็กใหญ่ยักษ์ที่ตั้งอยู่กลางห้อง ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานของนิสิตได้

"เราลดพื้นที่เก็บหนังสือเหลือเพียงสองชั้น แต่ยังเก็บหนังสือได้เท่าเดิม ชั้นล่างจึงเป็นชั้นที่ไม่มีบรรณารักษ์อยู่ ไม่มีจุดควบคุม ไม่ต้องแตะบัตรเข้าออก คนส่วนใหญ่ก็มานั่งทำงานตรงนี้ เลยดีมากที่จะใช้จัดนิทรรศการ" คณบดีกล่าว

นายชัยภัฏ มีระเสน หนึ่งในทีมศิษย์เก่าที่ร่วมออกแบบอธิบายเพิ่มเติมว่า คนยุคสมัยนี้ต้องการ "พื้นที่ที่จะอยู่ร่วมกัน" จึงเป็นที่มาของการจัดโค-เวิร์กกิงสเปซในห้องสมุด

"เราเข้าใจว่าคนรุ่นหลังเราเขาอยู่ในพื้นที่ที่เล็กลง อยู่คอนโด อยู่หอพัก ไม่มีพื้นที่ส่วนกลาง สมัยก่อนเราไปนั่งทำงานที่บ้านเพื่อน แต่เดี๋ยวนี้บ้านเพื่อนก็ไม่มีที่ให้ทำ คนยุคปัจจุบันจึงมักไปนั่งตามร้านกาแฟ หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะทำงานกลุ่มร่วมกัน หรือแม้กระทั่งตอนอ่านหนังสือสอบก็ไปนั่งอ่านรวมกันเป็นกลุ่ม เหมือนเขาต้องการพื้นที่ที่จะไปอยู่ร่วมกันมากกว่า เป็นความต้องการเชิงสังคม"

ความเป็น "เด็กสถาปัตย์" มาก่อน ทำให้ทีมออกแบบเข้าใจธรรมชาติของนิสิตคณะนี้ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมองเห็นว่าสิ่งใดควรเพิ่มเข้ามาในห้องสมุดและสิ่งใดที่ลดทอนลงได้

"งานครึ่งหนึ่งของนิสิตสถาปัตย์ก็คืองานออกแบบ เพราะฉะนั้นการที่เขาเข้าไปสืบค้นข้อมูล ค้นหางานของสถาปนิกต่าง ๆ ก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เขาสามารถทำงานออกแบบออกมาได้ ซึ่งห้องสมุดมันไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจด้วยตัวหนังสืออย่างเดียว แต่ทุกอย่างที่อยู่ที่นี่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจได้ เราเลยตั้งชื่อมันใหม่ว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์" นายชัยภัฏกล่าว

หนึ่งในสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างมหาศาลในความคิดของสถาปนิกรายนี้ คือ "นิทรรศการ" เขาจึงใส่ใจอย่างมากกับการจัดสรรพื้นที่ชั้นแรกให้เป็นที่จัดนิทรรศการ ที่ให้นิสิตชั้นปีต่าง ๆ นำผลงานมาแสดงได้อย่างอิสระ

"เราไม่รู้เลยว่านิสิตชั้นปีอื่นเขาเรียนอะไร หรือนิสิตภาควิชาอื่นเขาเรียนอะไร เราแทบไม่เห็นงานเพื่อน ...ถ้าเรามาห้องสมุดแล้วเห็นผลงานที่นำมาจัดแสดง แค่หยุดดูไม่กี่นาที ก็สร้างแรงบันดาลใจได้แล้ว" เขาให้ความเห็น

บรรดาโต๊ะทุกตัวในชั้นนี้มีล้อเลื่อน เก้าอี้เลือกแบบที่เก็บซ้อนกันได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ผ่านการคิดมาแล้วว่าจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตลอดเวลาและยืดหยุ่นเพื่อรองรับการใช้งานในหลายลักษณะและหลายโอกาส

เปิดโอกาสให้ "ชิม" หนังสือ

เดินมาตามบันไดกลางห้องขึ้นสู่ชั้นสอง ก็จะพบบรรยากาศที่แตกต่างจากห้องสมุดที่หลายคนคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง สถาปนิกเลือกใช้สีทึบอย่างสีดำทำให้ห้องดู "เท่ ๆ คูล ๆ" ส่วนชั้นหนังสือก็ถูกออกแบบให้เป็นเหมือนชั้นวางโชว์สินค้ามากกว่าชั้นหนังสือในห้องสมุดที่มีแต่หนังสือเบียด ๆ กันอยู่จนแทบหาหนังสือที่ต้องการไม่เจอ

การวางหนังสือให้เห็นชัด ๆ แบบนี้ ทำให้ผู้ใช้บริการพบหนังสือที่ต้องการได้ง่ายกว่าการค้นหาด้วยรหัสเพียงอย่างเดียว ซึ่งเหมาะกับหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่เน้นภาพและมีหน้าปกดึงดูดใจ การจัดวางหนังสือแบบนี้จึงได้ผลตอบรับดีเกินคาด

"ตอนเป็นเด็ก สิ่งหนึ่งที่เราไม่ชอบเวลามาใช้ห้องสมุดคือ เราไม่รู้ว่าหนังสืออยู่ที่ไหน เราต้องไปค้นเลขที่หนังสือและจดตัวเลขมาเดินหาตามชั้นวางหนังสือ บางทีก็อึดอัด เพราะช่องว่างระหว่างชั้นหนังสือมันแคบ ไม่เหมือนร้านขายหนังสือที่เป็นอีกอารมณ์หนึ่งเลย คือ หนังสือถูกนำมาแสดง มันโดนแผ่ โดนคลี่ จัดเป็นมุมหนังสือแต่ละประเภท เราเข้าไปก็เจอเลย" ชัยภัฏเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กที่กลายมาเป็นแนวคิดในการออกแบบห้องสมุดที่เขาเชื่อว่าจะเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากที่สุด

เสียงเพลงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่ค่อยพบในห้องสมุดที่อื่น เขาอธิบายว่าเสียงเพลงที่เปิดคลออยู่ตลอดเวลาในโซนนี้นั้นก็เพื่อให้ทุกคนรับรู้ว่า พื้นที่นี้สามารถใช้เสียงพูดคุยกันได้ ด้วยเชื่อว่าบทสนทนาคือวิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบ

ชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ "โซนสบาย ๆ" (casual) ออกมาให้เป็นที่นั่งเป็นขั้นบันได มีจอโปรเจกเตอร์ ที่สามารถปรับเป็นพื้นที่จัดงานเสวนาวงเล็ก ๆ หรือใช้เป็นห้องบรรยายก็ได้ มีเบาะบีนแบ็กวางเสริมให้อ่านหนังสือสบาย ๆ อีกโซนหนึ่ง คือ "โซนเงียบ" ที่ถูกออกแบบมาเป็นรูปแบบเขาวงกต เพื่อเน้นความเป็นส่วนตัว

ห้องสมุดจะสร้างเสร็จก็ต่อเมื่อมีคนใช้งาน

"อะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้น ที่นี้รองรับได้ทั้งหมด" นี่คือข้อความตอนหนึ่งนิตยสาร Interior Design Magazine กล่าวถึงห้องสมุดแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่คณะกรรมการซึ่งล้วนแต่เป็นนักออกแบบมืออาชีพตัดสินให้ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับรางวัล Best of Year Awards 2019

"นิสิตสถาปัตย์ ไม่ใช่แค่มองงานแล้วจะเกิดแรงบันดาลใจ เราต้องเข้าไปลงมือทำด้วยตัวเอง อย่างโครงเหล็กที่เห็นในห้องสมุดนี้ ไม่ใช่ของตกแต่ง แต่เป็นโครงสร้างที่วางไว้ให้นิสิตคิดต่อว่าเขาจะทำอะไรกับมัน เหมือนโครงเหล็กของป้ายโฆษณาที่ต้องมีคนมาคิดต่อว่าจะเอาอะไรมาติดบนนี้" ชัยภัฏกล่าว

การเลือกใช้ปูนเปลือยและคอนกรีตเปลือยยังเป็นการเชิญชวนให้นิสิตเข้ามาใช้งานโดยไม่ต้องกังวลว่าห้องสมุดจะเลอะเทอะหรือเสียหาย

การออกแบบเพื่อให้ผู้ใช้งาน "คิดต่อ" ว่าจะทำอะไรที่นี่ นำผลงานอะไรมาแสดง หรือจัดแสดงแบบไหน รวมทั้งการมีพื้นที่ "เปลือย ๆ" เพื่อเชิญชวนให้นิสิตมาใช้งานโดยไม่ต้องกลัวว่าจะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนนี่เองที่ตอบปริศนาว่า เพราะเหตุใดห้องสมุดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น "ห้องสมุดที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ"

"ต้องมีนิสิตแต่ละชั้นปีหมุนเวียนกันเอาผลงานมาเติม ห้องสมุดแห่งนี้จึงจะสมบูรณ์" สถาปนิกศิษย์เก่าสถาปัตย์ จุฬาฯ กล่าว

ห้องสมุดที่ใช่

นิสิตชั้นปีที่ 4 ของคณะสถาปัตย์ อย่างธนาภา สถิรพินิจกุล เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่านิสิตสถาปัตย์ส่วนใหญ่มักใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กส่วนตัวในการทำงาน ควบคู่ไปกับการหาข้อมูลและดูงานอ้างอิงจากหนังสือ ดังนั้นถ้าห้องสมุดมีพื้นที่ให้ใช้โน้ตบุ๊กและค้นคว้าหนังสือไปด้วย "จะวิเศษมาก" ซึ่งห้องสมุดโฉมใหม่นี้ตอบโจทย์ทุกอย่าง

"เรามีพื้นที่สำหรับทำงานมากขึ้น ชั้นหนึ่งมีคนตลอดจนถึง 4 ทุ่ม พื้นที่ชั้นบนก็มีพื้นที่หลากหลายทั้งส่วนที่เหมาะกับนั่งคนเดียวหรือนั่งกับเพื่อน"

ณัฐนันท์ ตัณฑิกุล นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตย์ ประทับใจกับห้องสมุดที่ปรับปรุงใหม่อย่างมาก โดยบอกว่ามีแรงดึงดูดให้อยากเข้าห้องสมุดมากกว่าเดิม และทำให้เข้าถึงหนังสือดี ๆ โดยไม่รู้ตัว

"ห้องสมุดเหมือนเป็นคลังความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ทุกวันนี้เราดูออนไลน์กันมากเกินไป การมีที่ที่ให้เรากลับมาหาหนังสือดี ๆ จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์" เธอบอก

นอกจากห้องสมุดแห่งนี้จะถูกใจนิสิตของคณะสถาปัตย์แล้ว ยังได้รับการตอบรับอย่างดีจากนิสิตคณะอื่น ๆ และบุคคลภายนอกที่สนใจด้านการออกแบบที่หลั่งไหลมาใช้งาน จนภายหลังต้องมีการจัดสรรเวลาเพื่อให้ทุกคนได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง