รีเซต

เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงเกือบถึง 0% พร้อมทั้งออกนโยบายอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงเกือบถึง 0% พร้อมทั้งออกนโยบายอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
บีบีซี ไทย
16 มีนาคม 2563 ( 03:20 )
47
เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงเกือบถึง 0% พร้อมทั้งออกนโยบายอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Getty Images

ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) ประกาศตัดลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง โดยปรับให้ลงมาอยู่ในระดับเป้าหมาย 0% - 0.25% พร้อมทั้งออกนโยบายอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย

มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และกลุ่มประเทศยูโรโซน เพิ่งประกาศใช้ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลก อันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีฉุกเฉินของเฟดในคราวนี้ นับว่ามีขึ้นเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากได้ตัดลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.5% เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในคราวนั้นถือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ที่มีการตัดลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบการประชุมนโยบายของเฟดตามปกติ

นอกจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเกือบต่ำสุดแล้ว เฟดยังระบุว่าจะเริ่มดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตร เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรง

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงว่า เฟดจะทำงานร่วมกับธนาคารกลางของนานาประเทศ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เข้าถึงเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ได้มากขึ้น ผ่านสายตรงแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (currency swap lines) ระหว่างธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงิน นับแต่เหตุวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) เมื่อปี 2008 เป็นต้นมา

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตอบรับนโยบายล่าสุดของเฟดด้วยความยินดี โดยระบุว่ามาตรการนี้ "ทำให้ผมดีใจมาก"

Getty Images

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ามาตรการลดอัตราดอกเบี้ยล่าสุดของเฟด จะยังไม่สามารถบรรเทาสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯได้ โดยมูลค่าการซื้อขายยังคงตกลงอย่างต่อเนื่องหลังเปิดตลาดในช่วงเช้าของวันนี้ (16 มี.ค.)

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เตือนว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใด "สภาพเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนแปลงไปวันต่อวัน และยังขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอีกด้วย ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดการณ์ได้ง่าย ๆ"

เกร็ก แม็กบริดจ์ หัวหน้านักวิเคราะห์การเงินของธนาคารออนไลน์ Bankrate.com มองว่า "ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะสิ้นหวัง เฟดใช้มาตรการทุ่มเทอย่างสุดกำลังเพื่อให้ตลาดสินเชื่อยังคงเดินหน้าได้ต่อไป และไม่เกิดวิกฤตการเงินขึ้นอีกเหมือนในปี 2008"

"การตัดลดอัตราดอกเบี้ย จะช่วยลดภาระแก่บรรดาลูกหนี้ลงได้นิดหน่อย แต่ไม่น่าจะทำให้มีผู้สนใจกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น เพราะทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ล้วนแต่กำลังเตรียมพร้อม เพื่อตั้งรับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังจะมาถึง"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง