พรรคก้าวไกล : มติเอกฉันท์ ทิม-พิธา นั่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศเริ่มบทที่ 2 ของอนาคตใหม่
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) คนใหม่ตามคาด หลังที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคมีมติเป็น "เอกฉันท์" เลือกเขาเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ชนิดไร้คู่แข่งขัน ด้วยคะแนนเสียง 256 เสียง งดออกเสียง 4 จากองค์ประชุมทั้งหมด 260 คน
"...เราคือคนขีดเส้นทางนี้เอง เส้นทางของการเปลี่ยนแปลง..."
บทเพลงประจำพรรคจบลง เมื่อนายพิธานำเพื่อน ส.ส. สังกัดพรรคก้าวไกลจำนวน "ครึ่งร้อย" เดินทางถึงหน้าเวทีเพื่อพบปะสมาชิกพรรคและประชาชน พร้อมเปิดเผยโฉมหน้าคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่จำนวน 29 คนต่อสาธารณชน
- พรรคก้าวไกล : ทิม-พิธาประกาศสานต่ออุดมการณ์อนาคตใหม่ นำทีม ส.ส. ย้าย “บ้านใหม่ หัวใจเดิม”
- กระดุม 5 เม็ดของอนาคตใหม่ กับปณิธานใหม่ขอเป็น "พรรคที่เล่นการเมืองน้อยที่สุด"
นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตรองเลขาธิการ อนค. ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีก่อน นายชัยธวัชเป็น 1 ใน 3 ผู้ก่อการหลักในคราวก่อตั้ง อนค. ร่วมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล
การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคก้าวไกลวันนี้ (14 มี.ค.) เกิดขึ้น ที่ศูนย์ประสานงานอดีต อนค. ฝั่งธนบุรี ซึ่งถูกแปรสภาพเป็นที่ทำการพรรคก้าวไกลเรียบร้อย และเกิดขึ้นในวันที่ 23 หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ อนค.
นายพิธาประกาศว่า พรรคก้าวไกลคือ "บทที่ 2 ของอดีต อนค." คือพรรคที่สืบทอดเจตนารมณ์ อุดมการณ์ และจิตวิญญาณมาจากอดีต อนค. และจะยังเป็นความหวังให้กับคนที่สิ้นหวังในประเทศ เป็นปากเสียงให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย พาประเทศไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตย ยุติระบอบรัฐประหาร สถาปนานิติรัฐที่ทุกคนเสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมาย และยึดมั่นในนโยบายเดิมของ อนค.
เทียบฟอร์มผู้บริหาร 2 ชุด จาก "คนแถวหนึ่ง" ถึง "คนแถวสอง"
ตำแหน่ง | อนาคตใหม่ | ก้าวไกล |
หัวหน้าพรรค | นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ | นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ |
---|---|---|
รองหัวหน้าพรรค | 1) น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ 2) นายชำนาญ จันทร์เรือง 3) พล.ท. พงศกร รอดชมภู 4) นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร | 1) พ.ต.ท.สุพิศาล ภักดีนฤนาท 2) นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 3) นายณัฐวุฒิ บัวประทุม 4) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล |
เลขาธิการพรรค | นายปิยบุตร แสงกนกกุล | นายชัยธวัช ตุลาธน |
รองเลขาธิการพรรค | 1) น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน 2) นายเอกภพ เพียรพิเศษ 3) น.ส.วรรณวลี ตะล่อมสิน 4) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 5) นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 6) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ 7) น.ส.วรรณวิภา ไม้สน 8) นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ 9) นายคำพอง เทพาคำ 10) นายรังสิมันต์ โรม 11) นายธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์ | |
กรรมการบริหารพรรค | 1) นายสุนทร บุญยอด 2) น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ 3) นายสุรชัย ศรีสารคาม 4) นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์ 5) นายชัน ภักดีศรี 6) น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ 7) นายนิรามาน สุไลมาน | 1) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา 2) นายสมชาย ฝั่งชลจิตร 3) อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 4) น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 5) นายอภิชาติ ศิริสุนทร 6)นายสุเทพ อู่อ้น |
โฆษกพรรค | น.ส.พรรณิการ์ วานิช | 1) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร 2) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ 3) น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา 4) ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ |
เหรัญญิกพรรค | นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ | น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ |
นายทะเบียนสมาชิกพรรค | นายไกลก้อง ไวทยาการ | นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล |
ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมจาก กก.บห.อนค. ชุดที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิการเมืองเมื่อ 21 ก.พ. กับ กก.บห.กก. ชุดใหม่ที่ได้รับเลือกวันที่ 14 มี.ค.
พิธาประกาศพา ปท. ออกจากวิกฤต-หวนคืนสู่ประชาธิปไตย
หัวหน้าพรรควัย 40 ปี กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อไปว่า ไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุด เต็มไปด้วยวิกฤตรอบด้านที่แสดงให้เห็นว่า "รัฐบาลปัจจุบันไม่มีศักยภาพในการนำพาประเทศไปต่อได้ และจะทำให้คนทั้งประเทศลงเหว" ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชีวิตของประชาชนไทยถูกกำหนดโดยอภิสิทธิ์ชน กองทัพ ข้าราชการ และกลุ่มทุนผูกขาด เสียงของประชาชนไม่เคยดังพอที่รัฐบาลจะได้ยิน หรือได้ยินก็ทำหูทวนลม
นายพิธาอ้างคำกล่าวของนักรัฐศาสตร์ที่ว่าขณะนี้สภาพการบริหารประเทศของรัฐบาลอยู่ใน "สภาวะรัฐบาลล้มเหลว" ไม่สามารถรับมือกับสารพัดวิกฤต ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19, ฝุ่นพิษ, เศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุดในประวัติการณ์ รวมถึงวิกฤตการเมืองที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ส.ว. 250 คนเป็น "เครื่องมือสืบทอดอำนาจ"
หัวหน้าพรรคการเมืองคนล่าสุดประกาศเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศมีอำนาจอย่างแท้จริง ยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง, ยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี และแก้ไขที่มาขององค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชน
- อนาคตใหม่เปิดคลิปแฉอดีตเพื่อนร่วมพรรค พลิกขั้วการเมืองเพราะ “เงิน”
- ศาลรัฐธรรมนูญชี้ธนาธรปล่อยกู้ "ไม่เป็นไปตามปกติวิสัย" เอื้อพรรคตัวเอง
นายพิธายังกล่าวถึงการลุกขึ้นสู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถานศึกษากว่า 40 แห่ง หรือที่รู้จักในชื่อกิจกรรม "แฟลชม็อบ" ว่า ทำให้เขาได้เห็นประกายไฟแห่งความหวังถูกปลุกขึ้น เป็นประกายไฟที่จุดให้ ส.ส.พรรคก้าวไกล ก้าวต่อไป ยืนหยัดในรัฐสภาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ทำให้ประเทศนี้ก้าวไปได้ไกลกว่านี้
คารมอ้างสำนึกบุญคุณ ธนาธร-ปิยบุตร หวนกลับมาสมัครเป็นสมาชิกก้าวไกล
ก่อนการประชุมจะเริ่มต้นขึ้น ส.ส. สังกัดอดีต อนค. จำนวน 50 คนได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลเพื่อรักษาสมาชิกภาพตามกฎหมาย ในจำนวนนี้มีนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมอยู่ด้วย แม้ก่อนหน้านี้ 2 วัน เขาเพิ่งออกมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าจะไม่ไปร่วมงานกับพรรคก้าวไกลเพราะ "ละเลยคนอีสาน" จนถูกเพื่อนร่วมพรรคบางส่วนรุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
"คนอย่างผมถ้าไม่รู้จักบุญคุณคน คงไม่เดินกลับมา" นายคารมกล่าว ก่อนขยายความว่า "ผู้มีบุญคุณ" กับเขาหมายถึงนายธนาธรและนายปิยบุตรที่ร่วมกันหาเสียงและทุ่มเทกันมาในคราวสังกัด อนค.
ท่าทีกลับไปกลับมาของนักการเมืองรายนี้ทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าเขาอาจเป็น "งูเห่าฝากเลี้ยง" ให้อยู่ในพรรคก้าวไกลหรือไม่ เจ้าตัวปฏิเสธทันควันโดยบอกว่า "คนอย่างผมใครฝากไม่ได้ ถ้ายังอยู่ก็อยู่ ถ้าจะไปก็คือไป"
บีบีซีไทยตรวจสอบสถานะการเข้าสังกัดพรรคการเมืองของอดีต ส.ส.อนค. ทั้ง 65 คน พบว่าทุกคนมีสังกัดใหม่เรียบร้อยแล้ว แม้มี ส.ส. อยู่ 4 คนไม่ได้เดินทางมายังที่ทำการพรรคก้าวไกลวันนี้ก็ตาม แต่ได้แจ้งเหตุผลความจำเป็นส่วนตัวต่อ กก.บห. พร้อมประสานงานส่งเอกสารต่าง ๆ และฝากเงินมาชำระค่าสมาชิกพรรคเรียบร้อย
- พรรคก้าวไกล : 54 คน
- พรรคภูมิใจไทย : 9 คน
- พรรคชาติไทยพัฒนา : 1 คน
- พรรคชาติพัฒนา : 1 คน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ขึ้นประกาศต่อหน้าสมาชิกพรรคว่า อดีต ส.ส.อนค. ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล 54 คน พร้อมเดินหน้าหาสมาชิกพรรคให้ได้ตามเป้าหมาย 1 แสนคน
เจ้าของพรรคเดิมเผย อนค. เปิดดีลตั้งแต่ ธ.ค. 2562 ขอ "อย่าเรียกเซ้ง ให้เรียกพันธมิตร"
ลูกศรสีส้มพุ่งไปทางขวา คือตราสัญลักษณ์ (โลโก) ใหม่ของพรรคก้าวไกล สื่อถึง "การขับเคลื่อนไปข้างหน้าสู่อนาคต" ในยุคหลังปรับโครงสร้างพรรคโดยมีคนการเมืองสังกัด อนค. เดิมเข้ามาเป็น "ผู้ปกครอง" คณะใหม่
ก่อนกลายเป็นพรรคก้าวไกลในวันนี้ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคคนเดิมได้แจ้งเปลี่ยนชื่อพรรคการเมืองแห่งนี้ถึง 3 ครั้งในรอบ 6 ปี
- 2557 ยื่นขอจดจัดตั้งพรรคและได้รับการรับรองจาก กกต. ให้ใช้ชื่อ "พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย" มีนายธนพล พลเยี่ยม เป็นหัวหน้าพรรค
- ก่อนเลือกตั้ง 2562 เปลี่ยนชื่อเป็น "พรรคผึ้งหลวง" มี ดร.ก้องภพ วังสุนทร เป็นหัวหน้าพรรค
- หลังเลือกตั้ง 2562 เปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อ "พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย" อีกครั้ง มีนายธนพล พลเยี่ยม กลับมาเป็นหัวหน้าพรรครอบ 2
- 2563 เปลี่ยนชื่อเป็น "พรรคก้าวไกล" มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
ดร.ก้องภพ วังสุนทร อดีตหัวหน้าพรรคผึ้งหลวง และอดีตประธานที่ปรึกษายุทธศาสตร์พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เขาได้อำนวยความสะดวกในการประสานให้ตัวแทนสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญฯ เพื่อให้ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะร่วมงานกับพรรคก้าวไกลต่อไปหรือไม่ แม้ชื่นชอบการทำงานการเมืองรูปแบบใหม่ในสภาของอดีต อนค. แต่สิ่งที่กังวลใจคือ "กระแสในอดีต" ของพรรคการเมืองนี้
"การทำงานการเมืองของผม เน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเทิดทูนสถาบัน นี่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคิดหนัก" ดร.ก้องภพกล่าว
เดิม ดร.ก้องภพเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ก่อนออกมาลุยทำพรรคการเมืองของตัวเองเมื่อ 19 ม.ค. 2562 หลังทราบว่านายธนพลไม่ประสงค์จะทำพรรคร่วมพัฒนาชาติไทยต่อ จึงขอรับมาดูแลโดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "พรรคผึ้งหลวง" หวังสร้างความแปลกใหม่-การจดจำในทางการเมือง เนื่องจากมีระยะเวลาหาเสียงเพียงเดือนเศษ โดยที่เขาเห็นว่าผึ้งสื่อสัญลักษณ์ความสามัคคี ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดในขณะนั้น และไม่ต้องการใช้ชื่อพรรคที่ฟังคล้าย "คอมมิวนิสต์กลับใจ" ในช่วงทศวรรษ 2520 ลงสู่สนามเลือกตั้ง
"คุณธนพลเล่าให้ฟังว่าเดิมได้ยื่นขอจดจัดตั้งพรรค 'ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย' เพราะแนวร่วมของแกเป็นประเภทนี้ แต่ กกต. ไม่อนุมัติ ก็เลยตัดคำว่า 'ผู้' ออก" ดร.ก้องภพระบุ
ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 พรรคผึ้งหลวงส่งผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ รวม 100 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 92 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18 คน
กก.บห. พรรคผึ้งหลวง 9 คน ต้องระดมขัน-ควักทุนรอนไปราว 1.1 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนประเดิมทำพรรค 1 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตหัวละ 10,000 บาท แม้ตั้งเป้าเก็บคะแนนเสียงตกน้ำของผู้สมัคร ส.ส.เขต มาแปรเป็นแต้มหิ้ว ส.ส. บัญชีรายชื่อเข้าสภา 10 คน แต่สิ่งที่ได้กลับไม่เป็นไปตามคาด เขาจึงคืนพรรคให้เจ้าของเดิม หลังได้รับ "ข้อมูลใหม่"
"ช่วงเดือน ธ.ค. 2562 คุณธนพลแจ้งว่ามีคนจะมาสนับสนุนพรรค ตอนนั้นผมยอมรับว่าหนัก หากต้องเป็นหัวหน้าพรรคต่อรอการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งไม่รู้จะมีขึ้นเมื่อไร จึงถอยออกมา โดยที่คุณธนพลให้ผมเป็นประธานที่ปรึกษายุทธศาสตร์พรรค โดยที่ผมก็ไม่รู้ว่าเป็น อนค. ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับเราในเวลาต่อมา แต่ตอนนั้นเขาก็ถูกตั้งคดียุบพรรคแล้ว" ดร.ก้องภพกล่าว
ในระหว่างการเปิด-ปิดดีลภายใน 3 เดือนนี้ ดร.ก้องภพอ้างว่า ไม่มีส่วนรู้เห็น เป็นเรื่องที่นายธนพลดำเนินการ ส่วนตัวไม่รู้จักกับ กก.บห.อนค. และ กก.บห.พรรคก้าวไกลชุดใหม่
กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ว่ามีการตั้ง "พรรคจิ๋ว" รอให้ "พรรคใหญ่" มา "เซ้งพรรค" ในกรณีเกิดอุบัติเหตุการเมือง อดีตหัวหน้าพรรคจิ๋วชี้ว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป พร้อมยืนยันว่า พรรคเล็กพรรคนน้อยก็มีอุดมการณ์ แต่มีข้อจำกัดเรื่องทุน
"เราอยากทำงานการเมือง แต่พอทำไม่ไหว มีพรรคใหญ่เข้ามา เราก็ต้องยอม อย่าเรียกว่าเซ้ง ให้เรียกว่าเป็นพันธมิตรครับ" ดร.ก้องภพกล่าว