มารีญา มองโซเชียลมูฟเมนท์ผ่าน แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ต่างกันอย่างไร
เมื่อเกือบสามปีที่แล้ว มารีญา พูลเลิศลาภ เคยตอบ คำถามบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งที่ 66 ที่จัดขึ้นที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดาประเทศสหรัฐฯ ว่าขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัย คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่
ท่ามกลางกระแสการจัดแฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษาที่กำลังลุกลามไปทั่วประเทศ เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.) มารีญาได้โพสต์ข้อความว่า "ภูมิใจนักศึกษาไทย" บนทวิตเตอร์ส่วนตัว จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผ่านทั้งสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ มียอดการรีทวีตมากกว่า 1 แสนครั้ง
บีบีซีพูดคุยกับอดีตมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2017 ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยกล่าวบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สที่มีผู้ชมหลายล้านคนทั่วโลกว่า ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัย คือ "กลุ่มคนรุ่นใหม่" มาวันนี้ เธอมองปรากฏการณ์ "แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา" อย่างไร
- แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เพลิงลามทุ่ง
- ส.ส. จากพรรคที่เพิ่งถูกยุบ กล่าวหากองทัพใช้เงินภาษีทำสงครามจิตวิทยากับผู้เห็นต่างทางสื่อสังคมออนไลน์
ย้อนกลับไปบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ที่พิธีกรการประกวด สตีฟ ฮาร์วีย์ ถามนางงามจากประเทศไทยในรอบ 5 คนสุดท้ายว่า "คุณคิดว่าขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของคุณคืออะไร และเพราะอะไร" (What do you think has been the most important social movement of your generation and why?)
มารีญาตอบว่า "เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยก็จริง แต่ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัย คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ พวกเขาคืออนาคต พวกเขาคือกลุ่มคนที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่ต้องดูแลโลกที่พวกเราอาศัยอยู่"
(So far, we are having aging population but the most important movement in our time is the youth. So the youth is the future, is something we have to invest in because they are the ones to look after the earth that we live in.)
ทำไมถึงนึกถึง "เยาวชนคนรุ่นใหม่" ในตอนนั้น
ทันทีที่มารีญาพูดจบ คำถามนี้ก็ได้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งแต่นิยามของคำว่า Social Movement หรือ ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม ไปจนถึงความเห็นต่อคำตอบของนางงามจากประเทศไทย
มารีญาให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยทางโทรศัพท์เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.) ว่าเหตุที่เธอเลือกตอบคำถามเช่นนั้น เพราะเห็นว่าหนึ่งในปัญหาที่ตามมาจากก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็คือ แนวนโยบายต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาโดยคนรุ่นก่อน อาจจะไม่สะท้อนความต้องการของคนรุ่นใหม่
เธอยืนยันในคำตอบที่ตอบออกไปบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สในวันนั้น เพราะเธอเชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์ในอนาคตสำหรับพวกเขา และพวกเขาคือคนที่จะทำวิสัยทัศน์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม
"มารีญาเชื่อว่าช่วงเวลาการเป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นช่วงเวลาที่เรากำลังสร้างอุดมการณ์ อุดมคติของเรา เพราะฉะนั้น สังคมต้องฟังเยาวชน ถ้าเริ่มจากจุด ๆ นั้น เราก็ไปต่อได้" เธออธิบาย
มองปรากฏการณ์ แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษาอย่างไร
นับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. หรือ 1 วันหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 21 ก.พ. บรรดานักเรียน-นิสิตนักศึกษา ต่างออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในรูปแบบ "แฟลชม็อบ" หรือการชุมนุมแบบไม่ยืดเยื้อ บางส่วนยอมรับว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่เป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่ทำให้ออกมาเคลื่อนไหว
ปรากฏการณ์แฟลชม็อบนี้ ทำให้นางแบบและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในวัย 28 ปีรายนี้ ตัดสินใจโพสต์ข้อความสั้น ๆ ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า "ภูมิใจนักศึกษาไทย" ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากผ่านการกดชื่นชอบ รีทวีต และ ตอบกลับ
มารีญาขยายความทวีตนั้นให้บีบีซีไทยฟังว่า เธอภูมิใจที่นักเรียนนักศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็นของตัวเองและมองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้สังคมรับรู้ว่า พวกเขาพร้อมที่จะเปิดการสนทนา (dialogue) กับสังคม โดยใช้ "แฟลชม็อบ" ส่งสัญญาณให้สังคมเปิดใจรับฟังและเข้ามาร่วมวงสนทนา
"เชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีพลังจริง ๆ และเชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะขับเคลื่อนจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะหันหน้าเข้าหากัน" เธอกล่าวและตั้งคำถามว่า "เราจะเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร หากเราไม่ยอมรับฟังพวกเขา"
ผู้มีชื่อเสียง กับ ความคิดเห็นทางการเมือง
ที่ผ่านมาการแสดงออกทางความคิดของผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงต่อการเมือง มักถูกนำไปตีความและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมอย่างหนักและบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อนักแสดง หรือนักร้องเอง ทำให้มีหลายกรณีที่ นักแสดงออกมา "ขอโทษ" หรือบางกรณีถึงขึ้นต้องหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็น
นางแบบลูกครึ่งไทยสวีเดนรายนี้ ยอมรับว่าเธอกังวลกับเรื่องนี้เหมือนกันและได้คิดรอบคอบแล้วก่อนที่จะโพสต์ข้อความนั้น
"แต่ก็รู้สึกว่าเราเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) คนหนึ่งเหมือนกัน และตั้งคำถามกับตัวเองว่าหน้าที่ของ influencer คืออะไร ถ้าไม่ได้แชร์ความเห็นหรือค่านิยม (value) ของเรากับคนที่ติดตาม (ทวิตเตอร์) ของเรา หรือคนที่มองขึ้นมายังเรา ก็เลยรู้สึกว่าถึงเวลาที่เราต้องพูดอะไรแล้ว" มารีญากล่าวและย้ำว่า ความคิดเห็นต่างเป็นธรรมชาติในสังคมประชาธิปไตย
นอกจากมารีญาแล้วที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิต นักศึกษาและนักเรียน ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ นักแสดงอีกคน ก็ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 28 ก.พ. เกี่ยวกับการจัดชุมนุมแฟลชม็อบในว่า "ถ้าจะโทษใคร ก็ต้องโทษคนปลุกปั่นให้มันเกิด เพราะทุกคนไม่คิดว่าใครผิด ยุให้คนนี้ทำแบบนี้ไปทะเลากับคนนี้ โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้คิดว่าผิด มันจะจบลงตรงไหน"
การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวทำให้การตีความไปในแง่ว่าเขาตั้งคำถามกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจัดแฟลชม็อบ หนึ่งในนั้นคือ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือ จอห์น วิญญู พิธีกรลูกครึ่งไทยอเมริกัน ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ของเขาว่า "อันนี้ถามแบบไม่ได้กวนตีน นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีใครปลุกปั่นให้คุณออกมาปะ?"
https://twitter.com/johnwinyu/status/1233084320706752513
ในขณะเดียวกันก็มีกระแสในในทวิตเตอร์ขึ้นว่า #ซันนี่เป็นสลิ่มเหรอ จนติดเทรนด์อันดับหนึ่ง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ลุกลามจนถึงการรณรงค์ให้ยุติการติดตามอินสตราแกรมของนักแสดงชายรายนี้
ด้านนายกนก รัตน์วงศ์สกุล เป็นพิธีกรและผู้ประกาศข่าวกล่าวในระหว่างการจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยตั้งคำถามถึงนักเรียนและนักศึกษาที่มาร่วมชุมนุมว่า ทำไมนิสิตนักศึกษาถึงจัดหาหน้ากากมาสวมได้ทุกคน มีใครจัดหามาให้หรือไม่ พร้อมยังแสดงความคิดเห็นอีกว่าที่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาชุมนุมไม่ได้กลัวโรคโควิด-19 แต่กลับกลัวคนอื่นจำได้ หรือว่าอายใคร