รีเซต

ระเบิดราชประสงค์ : ทนายชี้โอนคดีจากศาลทหารมาศาลยุติธรรม "เป็นผลดี" กับสองจำเลยชาวอุยกูร์

ระเบิดราชประสงค์ : ทนายชี้โอนคดีจากศาลทหารมาศาลยุติธรรม "เป็นผลดี" กับสองจำเลยชาวอุยกูร์
บีบีซี ไทย
2 มีนาคม 2563 ( 02:02 )
250
Getty Images
นายอาเด็ม คาราดัก ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่กลับคำให้การเป็นปฏิเสธในชั้นศาล

กว่า 3 ปีหลังเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2558 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 20 คน บาดเจ็บ 130 คน คดีระเบิดราชประสงค์มีความคืบหน้าสำคัญในวันนี้ (2 มี.ค. 2563) เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้นัดพร้อมโจทก์คือพนักงานอัยการและจำเลยมาศาลเพื่อตรวจพยานหลักฐาน

การนัดตรวจพยานครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ศาลทหารกรุงเทพโอนคดีนี้มายังศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2562 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 9/2562 ที่ให้โอนคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม

คดีนี้อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายบิลาล โมฮำเหม็ด หรือ อาเด็ม คาราดัก เป็นจำเลยที่ 1 และนายเมียไรลี ยูซุฟู เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ส่วนจำเลยอีกคนในคดีนี้คือ น.ส.วรรณา สวนสัน อัยการได้แยกฟ้องเป็นอีกสำนวนหนึ่ง

ปัจจุบันนายอาเด็มและนายยูซุฟู ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง ซึ่งอยู่ภายในกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน ร.มทบ.11) ถ.แจ้งวัฒนะ ส่วน นงวรรณาได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ขณะนี้อาศัยอยู่ที่บ้านพักใน จ.พังงา

Getty Images
เมียไรลี ยูซุฟู ทำแผนประกอบคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของตำรวจเมื่อเดือน ก.ย.2558

อาเด็ม ยูซุฟูและวรรณา

หลังเหตุระเบิดราชประสงค์ ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าเป็นฝีมือของ "ผู้เสียประโยชน์ในการค้ามนุษย์" และยืนยันว่าเหตุรุนแรงนี้ไม่ใช่การตอบโต้ไทยที่ส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ให้จีน ตำรวจออกหมายจับผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 17 คน แต่จับกุมได้เพียง 3 คน

ภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณและบริเวณท่าเรือสาทรซึ่งเกิดเหตุระเบิดหนึ่งวันหลังเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมนำมาสู่การออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องสงสัย 2 คน คือ นายอาเด็มซึ่งถูกจับที่อพารต์เมนต์ย่านหนองจอกเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558 และนายยูซุฟู ซึ่งถูกจับที่พรมแดนไทย-กัมพูชา จ.สระแก้ว ในเดือน ก.ย.2558

นายอาเด็มและนายยูซุฟูให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของตำรวจ แต่กลับคำให้การเป็น "ปฏิเสธ" ในชั้นศาล โดยอ้างว่าพวกเขารับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกกดดันและไม่เข้าใจภาษา

หลังจากนั้นอีก 2 ปี ตำรวจจับกุม น.ส.วรรณา หรือ "ไมซาเราะ" สวนสัน ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2560 ตำรวจระบุว่าเธอและสามีชาวตุรกีเป็นผู้เช่าห้องพักให้ผู้ก่อเหตุใช้เป็นที่พักพิง

ทั้ง 3 คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาล คสช. ก่อนที่คดีจะถูกโอนมายังศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อเดือน พ.ย.2562

ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหาร นายอาเด็มและนายยูซุฟูถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ มทบ.11 ถ.นครไชยศรี จนเมื่อกลางปี 2562 ถูกย้ายมาคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้องซึ่งเป็นเรือนจำที่ตั้งขึ้นใหม่ สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ใช้เป็นที่ควบคุมผู้ต้องขังคดีความมั่นคง

"ผมไม่ใช่สัตว์ ผมเป็นคน ผมเป็นคน"

ขณะถูกนำตัวมาขึ้นศาลทหารเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2559 ทันทีที่ลงจากรถของเรือนจำและเดินผ่านกลุ่มผู้สื่อข่าว นายอาเด็มตะโกนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษว่า "ผมไม่ใช่สัตว์ ผมเป็นคน ผมเป็นคน" เขาพยายามนำมือที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยกุญแจมือยกขึ้นไหว้ขอความเห็นใจ พร้อมกับดิ้นรนและทรุดเข่าลงกับพื้น จนเจ้าหน้าที่ต้องอุ้มเขาเข้าไปในศาล

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานด้วยว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าคณะผู้พิพากษา นายอาเด็มซึ่งมีน้ำตาคลอเบ้าได้เลิกเสื้อขึ้นให้ศาลดูรอยช้ำตามตัวและกล่าวผ่านล่ามว่าเดือนนี้เขาถูกซ้อมถึง 2 ครั้งในเรือนจำ ขณะที่นายยูซุฟู ซึ่งเดินทางมาขึ้นศาลพร้อมกันได้กล่าวก่อนขึ้นศาลว่า "พวกเราบริสุทธิ์ ช่วยเราด้วย สิทธิมนุษยชนอยู่ที่ไหน"

เหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้คดีระเบิดราชประสงค์กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้งในช่วงสั้น ๆ หลังจากนั้นกระบวนการพิจารณาคดีก็ดำเนินไปอย่างล่าช้าและเงียบเชียบในศาลทหารต่อไปเช่นเดิม

นายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็มบอกกับบีบีซีไทยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ศาลทหารสืบพยานโจทก์เสร็จไปเพียง 23 ปาก จากทั้งหมด 447 ปาก สาเหตุหลักที่การสืบพยานมีความล่าช้าคือเรื่องของการแปลภาษา เนื่องจากนายอาเด็มรู้เพียงภาษาอุยกูร์ จึงต้องมีล่ามแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และล่ามแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาอุยกูร์อีกต่อหนึ่ง

Getty Images
เหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2558 มีผู้เสียชีวิต 20 คน มีทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ และบาดเจ็บอีก 130 คน
Getty Images
ร่องรอยความเสียหายจากระเบิดที่พระพรหมเอราวัณ

ไม่ห่วงเรื่องคดี แต่ห่วงความเป็นอยู่ในเรือนจำ

"เขาซูบผอมลงไปมาก แล้วก็ดูคล้ำลง" ทนายชูชาติพูดถึงนายอาเด็มหลังพบกันครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2563 ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งแรก แต่สุดท้ายศาลให้เลื่อนมาเป็นวันนี้ (2 มี.ค.) เพราะทนายของจำเลยที่ 2 คือนายยูซุฟูไม่สามารถมาศาลได้

"ผมสอบถามเขา (อาเด็ม) เรื่องสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำชั่วคราวทุ่งสองห้อง ดูท่าทางเขาไม่กล้าพูดเพราะมีเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ประกบอยู่ บอกแค่ว่าแย่มาก อยากย้ายกลับไปที่เก่า (เรือนจำ มทบ.11 ถ.นครไชยศรี)" นายชูชาติกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายชูชาติได้รับฟังคำบอกเล่าจากลูกความว่าเรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษคดีความมั่นคง มีระเบียบที่เข้มงวดมาก เรื่องอาหารการกินก็ไม่ดีเหมือนที่เรือนจำ มทบ.11 ถ.นครไชยศรี โดยเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังมุสลิม

Getty Images
นายอาเด็มเดินทางมาขึ้นศาลทหารเมื่อเดือน ก.พ.2559

"อาเด็มบอกว่าเขาไม่กล้ากินอาหารเพราะไม่รู้ว่าเป็นอาหารฮาลาลหรือเปล่า ไม่เหมือนเรือนจำ มทบ.11 ที่มีอาหารฮาลาลให้ผู้ต้องขัง ระเบียบเรื่องการเยี่ยมก็เคร่งครัด ตั้งแต่ย้ายมาที่นี่ ทนายไม่ได้เข้าเยี่ยมเลยสักครั้ง"

นายชูชาติซึ่งบอกกับบีบีซีไทยว่าเขาอาสาเข้ามาช่วยว่าความให้จำเลยในคดีนี้เป็นการส่วนตัวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ยังคงเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูกความ และยืนยันว่าหลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำเข้าสู่การพิจารณาคดีนั้นไม่มีน้ำหนักพอที่จะพิสูจน์ว่านายอาเด็ม รวมทั้งนายยูซุฟูและ น.ส.วรรณา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิด

เชื่อมั่นในศาลยุติธรรม

กว่า 3 ปีที่นายชูชาติเข้ามาทำคดีนี้ เขาเปิดเผยข้อมูลเท่าที่ทราบเกี่ยวกับนายอาเด็มและนายยูซุฟูให้บีบีซีไทยฟังดังนี้

  • อาเด็ม : อายุ 34 ปี มีครอบครัวอยู่ที่เมืองซินเจียง เป็นหนึ่งในชาวอุยกูร์ที่ต่อต้านรัฐบาลจีน เมื่อทางการจีนกวาดล้างชาวมุสลิมอุยกูร์ช่วงปี 2552 อาเด็มจึงหลบหนีออกจากจีน โดยจ่ายเงินให้ขบวนการค้ามนุษย์ที่พาเขาหลบหนีเข้าเมืองไทย เพื่อเดินทางต่อไปจีนและเข้าตุรกีที่เป็นจุดหมายปลายทาง อาเด็มเคยขอให้ทนายชูชาติโทรศัพท์ติดต่อครอบครัวของเขาในเมืองซินเจียง แต่ไม่สามารถติดต่อได้
  • ยูซุฟู : ทำธุรกิจเครื่องสำอางอยู่ในไทยมาระยะหนึ่ง สื่อสารภาษาอังกฤษได้ เจ้าหน้าที่บอกว่ายึดสารเคมีประกอบระเบิดได้ที่ห้องพักของเขา แต่นายชูชาติอ้างว่าสารเคมีเหล่านั้น แท้จริงแล้วเป็นเคมีภัณฑ์สำหรับผลิตเครื่องสำอาง ไม่ใช่สารประกอบระเบิด

นายชูชาติเห็นว่า การโอนคดีจากศาลทหารมาศาลอาญากรุงเทพใต้นั้นจะเป็นผลดีต่อจำเลย

"การโอนมาศาลยุติธรรมเป็นผลดีต่อจำเลย เพราะศาลจะมีความเชี่ยวชาญและการรับฟังพยานหลักฐานจะเคร่งครัดกว่าศาลทหาร ผู้พิพากษาก็มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจในคดีมากกว่า" นายชูชาติตั้งข้อสังเกต

กระบวนการต่อจากนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้จะแต่งตั้งล่ามทั้งล่ามภาษาอังกฤษและล่ามภาษาอุยกูร์ จากนั้นจะพิจารณาว่าการสืบพยาน 23 ปากของศาลทหารมีข้อบกพร่องอะไรหรือไม่ หากไม่มีก็จะสืบพยานลำดับต่อไป

แม้ว่าการโอนคดีจากศาลทหารมาศาลยุติธรรมจะเป็นผลดีแก่จำเลย แต่สภาพความเป็นอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง ประกอบกับอุปสรรคด้านภาษาที่ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความล่าช้า ทำให้ทนายชูชาติไม่สบายใจนัก และยอมรับความจริงว่าคดีนี้จะใช้เวลายาวนานมากที่สุดคดีหนึ่ง ซึ่งเขาประเมินว่าเฉพาะศาลชั้นต้นอาจต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปีกว่าที่ศาลจะมีคำพิพากษา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง