รีเซต

โควิด-19 : ดรามาหน้ากากอนามัย ขาดตลาด-แจกฟรี-รีไซเคิล

โควิด-19 : ดรามาหน้ากากอนามัย ขาดตลาด-แจกฟรี-รีไซเคิล
บีบีซี ไทย
3 มีนาคม 2563 ( 07:12 )
61
โควิด-19 : ดรามาหน้ากากอนามัย ขาดตลาด-แจกฟรี-รีไซเคิล

หน้ากากอนามัยกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อสงสัย ข้อถกเถียง และเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์แก่ภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงเวลา 50 วันที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในไทย ไม่ว่าจะเป็น ใครต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยบ้าง ป้องกันเชื้อได้แค่ไหน, หน้ากากอนามัยในตลาดหายไปไหน ใครกักตุน ซึ่งนำมาสู่ปัญหา "หน้ากากรีไซเคิล" และ "หน้ากากอนามัยบางยิ่งกว่าหมูสไลด์"

ในระหว่างการเปิดแถลงข่าวประจำวันที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันนี้ (3 มี.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19 สวมใส่หน้ากากผ้าแทนการใช้หน้ากากทางการแพทย์ หลังประสบปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน พร้อมระบุว่า อธิบดีกรมอนามัย และตัวเขาเอง ก็ใช้หน้ากากผ้าและพกติดตัวพร้อมใช้งานตลอด

"ข้อดีของหน้ากากผ้าคือราคาต่ำกว่า ซักได้เป็นร้อยครั้ง ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่ถามว่าป้องกันโรคได้ไหม เรื่องการการป้องกันโรค ความเข้าใจอาจไม่ตรงกัน บางคนบอกต้องป้องกัน 100% จริง ๆ มันไม่มีอะไร 100% หรอกครับถ้าใช้ไม่ถูกวิธี แต่หน้ากากบางแบบอาจมีประสิทธิภาพแค่ 50-70% ก็ป้องกันได้แล้ว" นพ.โอภาสระบุฃ

เขายังจำแนกประเภทของหน้ากากอนามัยออกเป็น 3 ประเภท เพื่อใช้กับคน 3 กลุ่ม หลังสื่อมวลชนสอบถามถึงภาพในสื่อสังคมออนไลน์ที่ปรากฏภาพ "หน้ากากอนามัยบางยิ่งกว่าหมูสไลด์"

ประเภทของหน้ากาก

ประสิทธิภาพ

กลุ่มเป้าหมาย

หน้ากาก N95

ป้องกันได้ดีที่สุดถ้าใช้อย่างถูกต้อง

กลุ่มเสี่ยงคือแพทย์/พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในห้องความดันลบ หรือห้องแยกผู้ป่วยโควิด-19

หน้ากากทางการแพทย์ surgical mask

ป้องกันละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย

กลุ่มแพทย์/พยาบาล/จนท.สาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยทั่วไป, หมอผ่าตัด, ผู้ป่วยทางเดินหายใจทุกโรคเวลาออกไปในที่สาธารณะ

หน้ากากผ้า

การป้องกันเทียบกับสองแบบแรกไม่ได้ แต่ดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น จนท.สาธารณสุขที่ไม่ได้คลุกคลีคนไข้ ประชาชนทั่วไป

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำแถลงข่าวของอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. วันที่ 3 มี.ค. 2563

ถึงขณะนี้ สธ. ยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยจำนวน 43 ราย ท่ามกลางสารพัด "ดรามา" ที่เกิดขึ้นจากหน้ากากอนามัย

รีไซเคิลหน้ากากอนามัย

ข่าว "ช็อค" อารมณ์ผู้คนในสังคม หนีไม่พ้น กรณีนายอำเภอวิหารแดง นำทีมตำรวจ และอาสามัคร (อส.) จ.สระบุรี บุกทลายแหล่งรีไซเคิลหน้ากากอนามัยนำกลับมาขายเป็นของใหม่ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. หลังได้รับการร้องเรียนจากพลเมืองดีว่าเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าได้ลักลอบรีไซเคิลหน้ากากอนามัยใช้แล้ว มีของกลางนับหมื่นชิ้น

เจ้าของร้านรับซื้อของเก่า อ้างในระหว่างสนทนาทางโทรศัพท์กับนายอำเภอว่านำหน้ากากอนามัยมาจากโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งเพื่อคัดแยกเอาเหล็กในหน้ากากอนามัยไปหลอม แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ โดยตำรวจ สภ.วิหารแดง ได้เรียกเจ้าของร้านมาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนวันนี้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้น หน้ากากดังกล่าวไม่ได้มาจากโรงพยาบาล จึงเบาใจไปคำรบหนึ่ง เพราะถ้ามาจากโรงพยาบาลจะถือเป็นขยะติดเชื้อ แต่ก็ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง และยังเข้าเข้าผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2539 เรื่องการกำจัดขยะติดเชื้อ

ขณะเดียวกันบีบีซีไทยได้รับแจ้งจากสุภาพสตรีรายหนึ่งว่า เธอได้สั่งซื้อหน้ากากอนามัยทางเฟซบุ๊กซื้อ-ขายหน้ากากอนามัย ซึ่งลงอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นหน้ากากอนามัย 3 ชั้น และ 4 ชั้น จำนวน 2 แพ็ค ๆ ละ 50 ชิ้น รวมราคาพร้อมค่าจัดส่ง 1,560 บาท โดยได้รับสินค้าเมื่อ 2 มี.ค. แต่เมื่อเปิดกล่องมาถึงผงะ เมื่อพบสภาพหน้ากากอนามัยเหมือนผ่านการใช้งานมาแล้ว มีทั้งเลอะคราบ แม้เป็นสีฟ้าทุกชิ้นแต่ก็เป็นฟ้าหลากสี ขณะที่บางชิ้นก็บางเฉียบ ไม่ต่างจาก "หมูสไลด์"

หลังจากนั้นเธอได้ติดต่อสอบถามไปยังผู้จัดจำหน่าย ก่อนได้รับคำชี้แจงว่าผู้ค้ารับหน้ากากมาจากโรงงาน 2 แห่ง แต่ไม่ได้ระบุชื่อโรงงาน พร้อมอ้างว่าหน้ากากอนามัยชนิดที่โรงงานส่งมาให้โดยไม่บรรจุกล่อง สภาพไม่ดี ถ้าบรรจุกล่องจะดีกว่า แต่ทางเพจไม่มีจำหน่าย โดยผู้ค้ายินดีคืนเงินให้ทุกบาทสุกสตางค์

"ปกติดิฉันมักสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บไวด์ที่เชื่อถือได้ มีตัวกลาง แต่ด้วยความที่สินค้าขาดแคลน ก็เลยต้องเข้ากลุ่มไปหา แต่ก็จะไม่เอาแล้วค่ะ ดิฉันกลัวติดเชื้อค่ะ" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหญิงกล่าวกับบีบีซีไทย

สำหรับตลาดซื้อขายหน้ากากอนามัยดังกล่าว เป็นกลุ่มปิดในเฟซบุ๊ก ปัจจุบันมีสมาชิก 1.8 หมื่นคน โดยสมาชิกที่จะเป็นพ่อค้า-แม่ค้านำสินค้ามาจำหน่าย ซึ่งมีทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ไปยันเครื่องฟอกอากาศลดฝุ่น PM2.5 ต้องลงทะเบียนโดยมีค่าใช้จ่าย 200 บาท เพื่อแลกกับรหัสประจำตัวผู้ค้า ส่วนสมาชิกที่ต้องการซื้อขายสินค้าต้องกดเข้าร่วมกลุ่ม แล้วเจรจาตกลงราคากับแม่ค้าโดยตรง

หน้ากากอนามัยทำจากทิชชู

อีกประเด็นที่สื่อมวลชนสอบถามคุณหมอจาก สธ. คือมีพ่อค้าหัวใสนำหน้ากากอนามัยที่ทำจากกระดาษทิชชูออกจำหน่าย อย่างไรก็ตามข่าวดังกล่าวยังไม่มีต้นตอที่แน่ชัด ข้อมูลที่ปรากฏอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ คือการแนะนำให้ประชาชนเอากระดาษทิชชู 2 แผ่นซ้อนทับหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา โดยเชื่อกันว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพได้เทียบเท่า N95

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.โอภาสยืนยันว่า หน้ากากกระดาษทิชชูไม่ได้อยู่ในมาตรฐานทางการที่ใช้งานได้จริง เพราะโดยหลักการต้องมีตัวกรองวัสดุ และแผ่นด้านนอกต้องดูดซับความชื้นจากภายใน ส่วนคนขายจะมีความผิดหรือไม่ เป็นเรื่องของผู้เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแล

หมอ-พยาบาล รพ.เอกชน มีหน้ากากอนามัยไม่พอ

อีก "ดรามา" เกิดขึ้นคนในแวดวงสาธารณสุข เมื่อแพทย์โรงพยาบาลเอกชนที่มีราว 200 แห่ง ออกมาระบุว่าขาดแคลนหน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล คำชี้แจงจากอธิบดีสังกัด สธ. คือรับทราบความห่วงใย แต่ สธ. เป็นผู้ใช้ ไม่ใช่ผู้ผลิต และขณะนี้หน้ากากทางการแพทย์ก็เป็นสินค้าควบคุมอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ แนวทางการจัดการของ สธ. คงเป็นการพิจารณาว่าจุดไหนมีเยอะ ก็หมุนเวียนให้จุดอื่นใช้ โดยมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และองค์การอาหารและยา (อย.) ดูแล

สังฆราชพระราชทานเงิน 2 ล้านบาท ซื้อหน้ากากแจกจ่ายพระ

ไม่เฉพาะบุคลากรสาธารณสุข ประชาชนคนเดินถนน แต่ความกังวลได้ลุกลามไปถึงพระสงฆ์องคเจ้าที่วัดอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้พระราชทานเงินเบื้องต้น 2 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้กับพระสงฆ์ยังวัดต่าง ๆ

เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (3 มี.ค.) พร้อมบอกด้วยว่ากำลังพยายามติดต่อเพื่อทำการจัดซื้อ โดยเฉพาะวัดที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แม้ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาน้อยลง แต่ยังคงมีคนไทยเดินทางไปทำบุญจำนวนมาก

สธ. แจกครบแล้ว 2 แสนชิ้น

ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ทำให้สธ. ได้เปิดแจกหน้ากากอนามัยวันละ 1 แสนชิ้นแก่ประชาชน ระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค. ที่หน้ากระทรวง สธ. ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชนมาเข้าแถวรอรับแจกกันยาวเหยียด ก่อนที่หน้ากากจะหมดลงภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง โดยประชาชนสามารถนำหน้ากากกลับบ้านได้คนละ 3 ชิ้นเท่านั้น ส่วนอีก 1.2 ล้านแผ่นที่เหลือ จะกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ การดำเนินการของ สธ. ทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ตั้งคำถามว่าการให้ประชาชนไปรวมกลุ่มกัน เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่

พณ. วอน ปชช. อย่าตระหนก หลังพบแห่ซื้อหน้ากากอนามัยพุ่ง 5 เท่า

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ออกมาชี้แจงสาเหตุสำคัญที่ทำให้หน้ากากอนามัยในประเทศขาดแคลน เป็นเพราะความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าของกำลังการผลิต หรือมากกว่า 6.75 ล้านชิ้น/วัน จากกำลังการผลิต 1.35 ล้านชิ้น/วัน อีกทั้งการนำเข้าหน้ากากอนามัยเดือนละ 20 ล้านชิ้น ก็ทำไม่ได้ เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกอย่างจีนห้ามการส่งออกโดยเด็ดขาด จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไปในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และซื้อหน้ากากอนามัยใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ก่อนได้ใช้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์

อธิบดีกรมการค้าภายในระบุด้วยว่า กำลังหาช่องทางเอาผิดทางกฎหมายแก่ผู้ค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาสูงเกินจริง โดยขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1569

มท. ของบ 200 ล้าน ปั๊มหน้ากากอนามัยทางเลือก

ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่อง การขออนุมัติงบกลางกว่า 200 ล้านบาทให้แก่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ท้องถิ่นช่วยผลิตหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยอมรับการเข้าร่วมประชุม ครม. วันนี้ (3 มี.ค.) ว่า หน้ากากอนามัยที่มีอยู่ในท้องตลาดอาจไม่เพียงพอ ซึ่งการเสนอของบกลางดังกล่าว เป็นค่าวัสดุใช้ผลิตหน้ากากอนามัยทางเลือก โดยจะมอบหมายให้อาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) เป็นพี่เลี้ยงสอนให้ประชาชนทุกหมู่บ้านเย็บหน้ากากอนามัย เพื่อให้ทุกคนมีหน้ากากไว้ใช้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง