การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ฤดูหนาวที่อากาศอุ่นขึ้น ทำลายผลผลิตไอซ์ไวน์ของเยอรมนี
นับเป็นครั้งแรกที่เยอรมนีไม่สามารถผลิตไอซ์ไวน์ (Ice Wine) หรือไวน์หวานที่ทำมาจากองุ่นที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งคาต้น เพราะอุณหภูมิในฤดูหนาวที่อุ่นเกินไป
ภูมิภาคที่ปลูกองุ่นทั้ง 13 แห่งของเยอรมนี จำเป็นต้องมีอุณหภูมิ -7 องศาเซลเซียสในการผลิตไอซ์ไวน์ แต่ในปี 2019 ไม่มีภูมิภาคใดเหล่านี้ที่มีอุณหภูมิลดต่ำลงไปถึงระดับนั้น
ข้อมูลขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ปี 2019 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2 ตามสถิติโลก
ปริมาณไอซ์ไวน์ที่ผลิตได้ลดต่ำลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
"ไวน์ในปี 2019 จะลดลงมากในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี เพราะเป็นปีแรกที่ไม่สามารถผลิตไอซ์ไวน์ได้เลยทั่วประเทศ" สถาบันไวน์เยอรมนี (German Wine Institute--DWI) ระบุในแถลงการณ์
"ถ้าฤดูหนาวในปีต่อ ๆ ไปยังคงมีอากาศที่อุ่นแบบนี้ อีกไม่นานไอซ์ไวน์จากภูมิภาคที่ผลิตไวน์ของเยอรมนี ก็คงจะเป็นของหายากมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้" แอร์นส์ต บุสเชอร์ จาก DWI กล่าว
- โยคะไวน์ มิติใหม่แห่งการออกกำลังกาย
- อาหารที่คุณบริโภคส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ?
- ภาวะโลกร้อนอาจทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนเบียร์ทั่วโลก
DWI ระบุว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งในการผลิตไอซ์ไวน์ก็คือ ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ช่วงที่พอจะเก็บเกี่ยวองุ่นที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งได้เขยิบออกไปช้ากว่าเดิม เป็นช่วง ม.ค. และ ก.พ. ขณะที่องุ่นสุกเร็วขึ้น
ผลก็คือ องุ่นก็ต้องใช้เวลารอการเก็บเกี่ยวนานขึ้น และมีโอกาสร่วงหล่นไปก่อน
ตลาดไอซ์ไวน์ที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และสหรัฐฯ แต่เนื่องจากผลผลิตที่มีน้อยอยู่แล้วตามธรรมชาติ ไอซ์ไวน์จึงมีสัดส่วนในผลผลิตไวน์ทั้งหมดอยู่ที่ไม่ถึง 0.1%