ทอมกับเจอร์รี่ : แมวกับหนูคู่หูคู่กัดที่ครองใจผู้ชมการ์ตูนมาครบ 80 ปี
การ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวของแมวที่ต้องหงุดหงิดรำคาญใจกับหนูตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบ้านของมัน และคิดหาหนทางกำจัดหนูตัวนี้ด้วยการวางกับดักโดยใช้ชีสก้อนโตเป็นเหยื่อล่อ ขณะที่เจ้าหนูตัวน้อยแสนฉลาดกลับรู้ทันแผนการของเจ้าเหมียว และฉกชีสไปกินได้อย่างอิ่มท้องและปลอดภัย
คุณอาจพอเดาออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เรื่องราวของคู่ปรับตลอดกาลคู่นี้มักลงเอยแบบเดียวกันแทบทุกครั้ง นั่นคือ แมวจะต้องร้องเสียงหลงด้วยความเจ็บปวด เพราะแผนการกำจัดหนูของมันให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม
นี่คือเนื้อเรื่องที่ผู้ชมต่างคุ้นเคย แต่มีน้อยคนที่จะล่วงรู้ถึงเรื่องราวที่แท้จริงในประวัติศาสตร์อันยาวนาน 80 ปีของการ์ตูนเรื่องนี้ ตั้งแต่เรื่องการคว้ารางวัลออสการ์ ไปจนถึงความลับเบื้องหลังการผลิตการ์ตูนเรื่องนี้หลังม่านเหล็กในช่วงสงครามเย็น ซึ่งล้วนทำให้ทอมกับเจอร์รี่ (Tom and Jerry) เป็นตัวการ์ตูนที่ครองหัวใจผู้ชมทั่วโลก
เรื่องราวของคู่หูคู่กัดนี้กำเนิดขึ้นจากความสิ้นหวัง ขณะนั้นแผนกหนังการ์ตูนของบริษัท เมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์ (เอ็มจีเอ็ม) ซึ่งนักสร้างการ์ตูนอย่าง บิล ฮันนา และ โจ บาร์เบรา ทำงานอยู่นั้นกำลังประสบปัญหาในการแข่งขันกับค่ายอื่น ๆ ซึ่งมีการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จครองใจผู้ชมอย่าง พอร์กี พิก (Porky Pig) และ มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse)
ความรู้สึกดังกล่าวทำให้นักสร้างการ์ตูนทั้งสอง ซึ่งต่างอยู่ในวัยไม่ถึง 30 ปี พยายามระดมความคิดสร้างการ์ตูนเรื่องใหม่ขึ้น โดยบาร์เบรา บอกว่าเขาชอบแนวคิดง่าย ๆ ของการ์ตูนที่มีโครงเรื่องเกี่ยวกับแมวและหนู ความขัดแย้ง และการไล่จับกัน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการ์ตูนแนวนี้ออกมาแล้วหลายเรื่องก็ตาม
- "เปา" แอนิเมชั่นขนาดสั้นของพิกซาร์เรื่องแรกที่ผลิตโดยผู้หญิงเอเชีย
- สี จิ้นผิง ถูกนำไปเปรียบกับหมีน้อย วินนี่ เดอะพูห์ ตั้งแต่เมื่อไหร่
- ชิพ กับ เดล : รู้จักคนไทยในแอลเอผู้แต่งและร้องเพลงสั้นการ์ตูนมิกกี้เมาส์ตอนล่าสุด
ด้วยเหตุนี้ พุส เก็ตส์ เดอะ บูท (Puss gets the Boot) แอนิเมชันเรื่องหนูกับแมวเรื่องแรกของทั้งคู่จึงถือกำเนิดขึ้น โดยออกฉายในปี 1940 และได้รับความนิยมอย่างล้มหลาม อีกทั้งยังทำให้ค่ายเอ็มจีเอ็มได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์การ์ตูนสั้น และแม้ว่าฮันนาและบาร์เบราจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ แต่ทั้งคู่กลับไม่ได้เครดิตจากผลงานชิ้นนี้
ในตอนแรกผู้บริหารค่ายแนะว่าพวกเขาไม่ควรฝากความหวังทั้งหมดไว้กับการ์ตูนเรื่องนี้ ทว่าความคิดนี้ต้องเปลี่ยนไปหลังมีจดหมายจากผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในวงการสอบถามว่าเมื่อใดเธอจะได้ชมตอนใหม่ของ "การ์ตูนแมวกับหนูที่แสนวิเศษ" เรื่องนี้อีก
นี่จึงทำให้ตัวการ์ตูนแมวกับหนูที่ชื่อ แจสเปอร์ และ จิงซ์ ในเรื่องพุส เก็ตส์ เดอะ บูท กลายมาเป็น ทอมกับเจอร์รี่ ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
บาร์เบรา บอกว่า ตอนทำการ์ตูนเรื่องนี้แทบจะไม่เคยมีการหารือกันอย่างจริงจังว่าจะให้ตัวละครไม่มีบทพูด เพราะการโตมากับหนังเงียบของชาร์ลี แชปลิน พวกเขาต่างรู้ดีว่าตัวการ์ตูนสามารถทำให้ผู้ชมหัวเราะได้โดยไม่ต้องมีบทพูดใด ๆ
พวกเขาใช้ดนตรีที่แต่งโดย สกอตต์ แบรดลีย์ เพื่อประกอบท่าทาง ส่วน ฮันนา เป็นผู้ให้เสียงกรีดร้องคล้ายมนุษย์ของทอม
ในช่วง 2 ทศวรรษหลังจากนั้น ฮันนาและบาร์เบรา ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนสั้นทอมกับเจอร์รี่กว่า 100 ตอน แต่ละตอนใช้งบประมาณในการผลิตถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำให้ผลิตออกมาได้ไม่มากนักในแต่ละปี
การ์ตูนทอมกับเจอร์รี่ในช่วงนี้ถูกยกให้เป็นตอนที่ดีที่สุดจากลายเส้นการ์ตูนวาดมือที่คมชัด และฉากหลังที่เต็มไปด้วยรายละเอียด จนทำให้มันคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้ถึง 7 รางวัล
"ผมพนันได้เลยว่าเมื่อคุณดูมันตอนยังเป็นเด็ก หรือเมื่อคุณได้มาดูในตอนนี้ คุณแทบจะบอกไม่ได้เลยว่ามันผลิตขึ้นเมื่อใด" เจอร์รี่ เบค นักประวัติศาสตร์การ์ตูนกล่าว
"มันมีบางอย่างเกี่ยวกับการ์ตูนแอนิเมชัน มันยังสดใหม่เสมอ และไม่จืดจาง" เบคกล่าว "ภาพวาดก็คือภาพวาด มันเหมือนกับเวลาคุณไปดูภาพวาด ใช่คุณรู้ว่ามันมาจากยุค 1800 หรือ 1700 แต่มันก็ยังสื่อสารกับคุณได้ในยุคปัจจุบัน"
"นี่คือเสน่ห์ของการ์ตูนเหล่านี้ เราได้เรียนรู้ว่ามันคือศิลปะชั้นดี ไม่ใช่ความบันเทิงที่ล้าสมัยและไร้ค่า"
เมื่อโปรดิวเซอร์ เฟรด ควิมบี เกษียณอายุช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 ฮันนาและบาร์เบรา ก็เข้ารับช่วงต่องานในแผนกการ์ตูนของเอ็มจีเอ็ม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการตัดงบของบริษัท
บรรดาผู้บริหารบริษัทซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายจากกระแสนิยมการชมโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้น ได้ตระหนักว่าพวกเขาสามารถทำเงินได้พอ ๆ กันในการนำภาพยนตร์การ์ตูนสั้นเรื่องทอมกับเจอร์รี่มาฉายซ้ำมากว่าที่จะผลิตตอนใหม่ ๆ ออกมา
เมื่อแผนกการ์ตูนของเอ็มจีเอ็มถูกยุบลงในปี 1957 ฮันนาและบาร์เบรา จึงเปิดบริษัทโปรดักชันของตัวเองขึ้น
แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี เอ็มจีเอ็ม ได้ตัดสินใจชุบชีวิตทอมกับเจอร์รี่ขึ้นมาอีกครั้งโดยไร้ทีมผู้ผลิตชุดดั้งเดิมทั้งสอง
ในปี 1961 บริษัทได้ว่าจ้างสตูดิโอในกรุงปรากของสาธารณรัฐเช็กผลิตการ์ตูนทอมกับเจอร์รี่เพื่อประหยัดต้นทุน โดยมี จีน ดิตช์ นักสร้างการ์ตูนที่เกิดในนครชิคาโก เป็นหัวหน้าทีมรีเมคทอมกับเจอร์รี่ แต่พวกเขาต้องประสบความยากลำบากจากงบประมาณที่น้อยนิด และพนักงานที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับทอมกับเจอร์รี่ต้นฉบับ
สตูดิโอแห่งนี้ยังผลิตตอนต่าง ๆ ของการ์ตูนเรื่องอื่นด้วย เช่น ป๊อปอาย (Popeye) ขณะที่รายชื่อชาวเช็กที่ปรากฏขึ้นช่วงเครดิตท้ายเรื่องก็ถูกเปลี่ยนให้ดูเป็นอเมริกันเพื่อป้องกันผู้ชมคิดว่าการ์ตูนเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์
https://www.youtube.com/watch?v=LaFtAcIrGWA&t=773s
"เพราะม่านเหล็ก ผู้ผลิตการ์ตูนของเราที่สตูดิโอในปรากแห่งนี้จึงไม่เคยได้ดูการ์ตูนทอมกับเจอร์รี่มาก่อน" ดิตช์ ให้สัมภาษณ์กับ Radio.cz ในภายหลัง
เขาทราบดีว่าการทำภาคต่อของการ์ตูนคลาสสิกพวกนี้จะทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากแฟน ๆ และการ์ตูนทอมกับเจอร์รี่ทั้ง 13 ตอนของเขาก็ถูกจัดให้เป็นตอนที่แย่ที่สุด
ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ดิตช์ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับชื่อเสียงไม่ดีของการ์ตูนของเขา อีกทั้งยังเปิดเผยว่าเขาเคยได้รับคำขู่ฆ่าจากการสร้างการ์ตูนเรื่องนี้ด้วย
หลังจากยุคของ ดิตช์ การผลิตทอมกับเจอร์รี่ก็ตกไปอยู่กับ ชัค โจนส์ ผู้สร้างชื่อจากการผลิต ลูนีย์ ตูนส์ (Looney Tunes) ให้ค่ายวอร์เนอร์ บราเดอร์ส
ภายใต้การควบคุมของโจนส์ คิ้วของทอมเริ่มหนาขึ้นและใบหน้าเหยเกมากขึ้น ดูเหมือนกับตัวละคร ดร.ซูสส์ ในเรื่องเดอะกรินช์ ที่โจนส์สร้างนั่นเอง
มาร์ก คอสเลอร์ วัย 72 ปี คือหนึ่งในคนจำนวนไม่น้อยที่มีความทรงจำอันอบอุ่นเกี่ยวกับทอมกับเจอร์รี่ เขาลากพ่อไปดูการ์ตูนสั้นเรื่องนี้ที่โรงภาพยนตร์ครั้งแล้วครั้งเล่า
นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเริ่มผลิตการ์ตูนของตนเอง และยึดอาชีพในแวดวงนี้มายาวนาน
"งานส่วนมากมีพื้นฐานมาจากลักษณะของตัวการ์ตูนทั้งสอง รวมทั้งจังหวะเวลา ดนตรีประกอบ และทุกสิ่งทุกอย่าง…มันเป็นสูตรที่ลงตัว ในการที่ทุกอย่างทำงานสอดประสานกัน" คอสเลอร์กล่าว
ที่บริษัทเอ็มจีเอ็ม "โทรทัศน์" ถูกมองว่าเป็น "คำหยาบ" แต่หลังจากออกมาทำสตูดิโอของตัวเอง ฮันนาและบาร์เบราก็หันมาทำงานกับสื่อชนิดนี้ โดยผลิตการ์ตูนให้มีตอนที่ยาวขึ้นและใช้งบน้อยลง ปรับรูปแบบการ์ตูนของพวกเขาโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อประหยัดเวลาและเงิน
การ์ตูนของพวกเขาเป็นผู้นำในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กมาหลายทศวรรษ ความสำเร็จของทั้งคู่เริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 โดยมีการ์ตูนยอดฮิต เช่น ฮัคเคิลเบอร์รี ฮาวนด์ (Huckleberry Hound), หมีโยกี้ (Yogi Bear), มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์ (The Flintstones), ท็อปแคท ( Top Cat) และสกูบี้-ดู (Scooby Doo)
ช่วงทศวรรษที่ 1970 ทั้งสองกลับไปทำทอมกับเจอร์รี่ เมื่อถึงตอนนั้นการ์ตูนตอนแรก ๆ หลายตอนถูกมองว่า "มีความรุนแรงเกินไป" ตามแนวทางใหม่ของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ในสหรัฐฯ ส่งผลให้ตอนใหม่ ๆ ซึ่งทอมกับเจอร์รี่เป็นมิตรมากกว่าศัตรู จึงไม่ได้รับความนิยมเท่ากับตอนแรก ๆ
เช่นเดียวกับการ์ตูนในยุคนั้น ชื่อเสียงของทอมกับเจอร์รี่แปดเปื้อนไปกับเสียงพิพากษ์วิจารณ์เรื่องการนำเสนอภาพคนเชื้อชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะตัวละคร "แมมมี ทู ชูส์" (Mammy Two Shoes) ซึ่งเป็นแม่บ้านผิวดำและพูดสำเนียงคนภาคใต้ออกมาอย่างเกินจริง อีกทั้งมักปรากฏในฉากเฉพาะส่วนเอวลงไป ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการล้อเลียนทางเชื้อชาติ บางตอนของการ์ตูนเรื่องนี้ยังมีมุกตลกหน้าดำและถ่ายทอดลักษณะของคนเชื้อสายเอเชียและชนพื้นเมืองอเมริกันในทางที่ไม่ดีด้วย
ปัจจุบันเนื้อหาลักษณะนี้มักถูกตัดออกไปในการนำออกฉายซ้ำ แต่ในปี 2014 แอมะซอนไพร์ม ได้ขึ้นคำเตือนในการ์ตูนชุดที่มีปัญหานี้ว่ามีเนื้อหาที่ "มีอคติทางเชื้อชาติ"
อย่างไรก็ตาม ทอมกับเจอร์รี่ฉบับที่มีมุกตลกรุนแรง และเนื้อหาตลกร้ายนั้นยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมทั่วโลกในปัจจุบัน และปรากฏอยู่ในช่องโทรทัศน์สำหรับเด็กทั่วโลก ตั้งแต่ญี่ปุ่นไปจนถึงปากีสถาน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ขณะที่เกมใหม่ทางโทรศัพท์มือถือก็มีผู้ใช้กว่า 100 ล้านคนในจีน
นอกจากแวดวงบันเทิงแล้ว ทอมกับเจอร์รี่ยังแผ่อิทธิพลไปถึงแวดวงอื่น ๆ โดยในปี 2016 การ์ตูนเรื่องนี้กลายเป็นข่าวที่สร้างความประหลาดใจให้หลายฝ่าย เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียิปต์คนหนึ่งพยายามกล่าวโทษทอมกับเจอร์รี่ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ขณะที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่านเคยเปรียบความสัมพันธ์ของอิหร่านกับสหรัฐฯ ว่าเหมือนกับทอมกับเจอร์รี่อย่างน้อย 2 ครั้ง
ทอมกับเจอร์รี่ยังเป็นการ์ตูนที่ออกอากาศทางบีบีซีอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ และผลสำรวจความเห็นประชาชนในปี 2015 ได้ยกให้ทอมกับเจอร์รี่เป็นการ์ตูนยอดนิยมอันดับหนึ่งในหมู่ผู้ใหญ่ชาวอังกฤษ
นับตั้งแต่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 80 ปีก่อน เรื่องราวของแมวกับหนูคู่นี้ได้ถูกนำไปผลิตเป็นทุกอย่างตั้งแต่การ์ตูนสำหรับเด็กไปจนถึงภาพยนตร์เพลงในปี 1992 ที่ทอมกับเจอร์รี่มีบทพูดและบทร้องเพลง
บิล ฮันนา เสียชีวิตในปี 2001 ขณะที่โจ บาร์เบรา เสียชีวิตในปี 2006 โดย 1 ปีก่อนที่เสียชีวิต บาร์เบราได้รับเครดิตเป็นครั้งสุดท้ายในภาพยนตร์การ์ตูนสั้นเรื่องทอมกับเจอร์รี่ และถือเป็นครั้งแรกที่มีเครดิตชื่อของเขาโดยปราศจากฮันนา คู่หูผู้ร่วมสร้างสรรค์การ์ตูนเรื่องนี้
"เราเข้าใจกันและกันอย่างลึกซึ้ง และเราต่างเคารพในงานของกันและกันอย่างมาก" บาร์เบรา กล่าวถึงมิตรภาพกับฮันนา
ค่ายวอร์เนอร์ บราเดอร์ส ซึ่งปัจจุบันถือลิขสิทธิ์ทอมกับเจอร์รี่ จะนำภาคใหม่ของการ์ตูนเรื่องนี้ออกฉายช่วงก่อนคริสต์มาสปีนี้
สำหรับเจอร์รี่ เบค เขาเห็นว่า ความเป็นอมตะของทอมกับเจอร์รี่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะของตัวละครที่เชื่อมโยงได้กับทุกคน
"ผมคิดว่าคนส่วนมากอาจเปรียบตัวเองกับเจ้าหนูน้อยเจอร์รี่ เพราะชีวิตเรามักมีผู้คอยกดขี่อยู่เสมอ"
"เรามักมีใครคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น หัวหน้างาน เจ้าของบ้านเช่า หรือนักการเมืองที่เป็นแบบนั้น ในขณะที่เราพยายามใช้ชีวิตของเรา แต่จะมีใครบางคนคอยก่อกวนอยู่เสมอ" เบคกล่าว