รีเซต

"นักพากย์" อาจถูกแทนที่ด้วย AI หลังถูกนำเสียงไปใช้สอนปัญญาประดิษฐ์

"นักพากย์" อาจถูกแทนที่ด้วย AI หลังถูกนำเสียงไปใช้สอนปัญญาประดิษฐ์
TNN ช่อง16
26 กุมภาพันธ์ 2566 ( 12:37 )
115

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ช่วยแบ่งเบาภาระงานของมนุษย์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยค้นหาคำตอบ, ช่วยเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แต่ดูเหมือนว่าการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในงานบางประเภทกำลังส่งผลต่อความมั่นคงของพวกเขา

ที่มาของภาพ Tech Times

 


รายงานจาก Fortune เผยว่า บริษัทที่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์บางแห่ง พยายามสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสังเคราะห์ "เสียงพูดของมนุษย์" เพื่อนำมาใช้ในงานวิดีโอต่าง ๆ แทนการใช้นักพากย์ ยิ่งไปกว่านั้นนักพากย์บางรายจำเป็นต้องเซ็นสัญญาอนุญาตให้นำเสียงของตนเองไปใช้ในการฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์ด้วย !!


ฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์


ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามคำสั่งของมนุษย์ได้ จะต้องผ่านการฝึกสอนด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ต้องมีความหลากหลายและครอบคลุมเป้าหมายของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์


สำหรับปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการสังเคราะห์เสียง (Voice Generator) จะต้องใช้ฐานข้อมูลเกี่ยวกับเสียงจำนวนมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การได้มาซึ่งแหล่งของเสียงค่อนข้างทำได้ยาก ยิ่งการฝึกสอนให้ปัญญาประดิษฐ์สร้างเสียงพูดของมนุษย์ได้นั้นจำเป็นต้องใช้เสียงของมนุษย์ที่หลากหลาย เพราะน้ำเสียงในแต่ละสถานการณ์จะสื่ออารมณ์แตกต่างกันไป


และแน่นอนว่าเสียงที่นำมาใช้ฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์ ควรเป็นเสียงที่มีคุณภาพสื่ออารมณ์ได้ชัดเจน ดังนั้น เสียงของนักพากย์จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการนำมาใช้ฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์


ที่มาของภาพ Unsplash

 



เสียงจากปัญญาประดิษฐ์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย


นักพากย์ชาวอาร์เจนตินา อเลฮานโดร กราอู (Alejandro Graue) ให้สัมภาษณ์กับทาง Rest of World ว่า เขารู้สึกตกใจหลังจากที่ได้รับชมวิดีโอบนยูทูบในช่องแห่งหนึ่ง ซึ่งเดิมเขาเคยเข้าไปอัดเสียงให้กับช่องยูทูบดังกล่าว ทว่า ล่าสุดมันกลับไม่ใช่เสียงของเขา แต่กลายเป็นเสียงสังเคราะห์ของปัญญาประดิษฐ์แทน


Alejandro Graue
ที่มาของภาพ Wiki commons

 


หลังจากที่กราอูได้พูดคุยกับฝ่ายเทคนิคของช่องยูทูบดังกล่าว เขากลับได้รับคำตอบกลับมาว่า การเลือกใช้เสียงของปัญญาประดิษฐ์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายแทนการจ้างนักพากย์ตัวจริง (เช่น กราอู) ได้มากเลยทีเดียว เรื่องนี้ทำให้กราอูรู้สึกไม่พอใจ "นักพากย์" ที่ยอมขายเสียงของตนให้กับบริษัทพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ แทนที่จะรักษาอาชีพของตนเองไว้


ครั้งหนึ่งกราอูเคยได้รับการว่าจ้างให้ไปพากย์เสียงเพื่อนำไปใช้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยมีค่าจ้างอยู่ที่ 10,000 คำ ต่อ 10,000 เปโซอาร์เจนตินา หรือคิดเป็นเงินราว 1,790 บาทเท่านั้น 



เสียงจะถูกเก็บเป็นลิขสิทธิ์


นักพากย์นิรนามรายหนึ่งได้เข้ามาให้สัมภาษณ์กับทาง Rest of World ว่า เขาเคยได้รับการว่าจ้างให้ไปพากย์เสียงแบบมาราธอน โดยมีรายการคำศัพท์ที่ต้องพูดและแต่ละคำจะมีอารมณ์ของน้ำเสียงที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งเสียงทั้งหมดนี้จะถูกไว้เป็น "ลิขสิทธิ์" ของบริษัทที่ว่าจ้าง


นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงการนำเสียงของนักพากย์ไปใช้ฝึกสอน AI โดยรายงานจากทาง Vice เผยว่า นักพากย์บางกลุ่มถูกเสนอให้เซ็นสัญญาจ้างในภายหลัง ซึ่งมีรายละเอียดไว้ว่าจะนำเสียงพากย์ไปใช้ฝึกสอนปัญญาประดิษฐ์ด้วย ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ข้อตกลงที่อยู่ในสัญญาจ้างฉบับดั้งเดิม และหากไม่เซ็นยินยอมพวกเขาก็อาจจะได้รับงานน้อยลงหรือไม่ได้รับงานอีกเลย


ที่มาของภาพ Fortune

 



หวั่นปัญญาประดิษฐ์แย่งงาน


ทั้งหมดนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่ปัญญาประดิษฐ์สร้างความวุ่นวายให้แก่เหล่าศิลปินที่ขายความสามารถของตนเอง เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่าทาง คลากส์เวิลด์ แม็กกาซีน (Clarkesworld Magazine) ได้ประกาศหยุดรับเรื่องสั้นจากนักเขียนชั่วคราว เนื่องจากพบว่าเนื้อหาของเรื่องสั้นบางเรื่องถูกแต่งขึ้นโดยใช้แช็ตจีพีที (ChatGPT) ปัญญาประดิษฐ์ยอดนิยมในขณะนี้ (อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ ลิงก์นี้) ส่งผลให้กลุ่มนักเขียนกังวลว่าในอนาคตปัญญาประดิษฐ์จะทำให้นักเขียนขาดรายได้


เช่นเดียวกันกับกรณีของนักพากย์ แม้ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของน้ำเสียงได้เหมือนมนุษย์จริง ๆ แต่พวกมันกำลังพัฒนาให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการควบคุมการนำไปใช้อย่างรัดกุม ก็อาจสร้างปัญญาระยะยาวแก่หลายอาชีพอย่างแน่นอน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tech Times, Fortune, ViceRest of World

ข่าวที่เกี่ยวข้อง