รีเซต

ครบรอบ 57 ปี โศกนาฏกรรม Apollo 1 เปลวเพลิงแห่งความล้มเหลวเพื่อก้าวต่อไปที่ใหญ่กว่า

ครบรอบ 57 ปี โศกนาฏกรรม Apollo 1 เปลวเพลิงแห่งความล้มเหลวเพื่อก้าวต่อไปที่ใหญ่กว่า
TNN ช่อง16
27 มกราคม 2567 ( 15:54 )
48

ย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1960 องค์การนาซามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ จนเกิดเป็นโครงการอะพอลโล (Apollo) และจุดเริ่มต้นอย่างอะพอลโล 1 ก็ถูกกำหนดให้ปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1967 แต่จุดเริ่มต้นโครงการอันทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์นี้ ไม่เคยได้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ




ในวันที่ 27 มกราคม 1967 ก่อนหน้ากำหนดปล่อยตัวไม่ถึงเดือน มีการทดสอบที่ชื่อว่า Plugs-Out Test ที่ฐานส่งแหลมคะแนเวอรัล คอมเพล็กซ์ 34 ซึ่งเป็นการทดสอบที่นาซาประเมินว่าแทบไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เลย เพราะไม่มีการเติมเชื้อเพลิงให้กับจรวด แต่ผลลัพธ์จบลงในเปลวเพลิงที่ลุกท่วมยาน และคร่าชีวิตลูกเรือทั้ง 3 คน ได้แก่ โรเจอร์ บี. แชฟฟี, เอ็ด ไวต์ และ กัส กริสซัม กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การบินของมนุษย์


ความจริงแล้วไม่ใช่ว่าแผนการทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างสมบูรณ์และเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครมองเห็นมาก่อน ยานอวกาศอะพอลโล 1 ควบคุมการผลิตโดยบริษัทนอร์ทอเมริกันเอวิเอชัน (North American Aviation) ซึ่งเป็นผู้ประมูลราคาต่ำสุดจาก 5 เจ้าที่เสนอราคาประมูลเข้ามา บริษัทนี้ถือว่ามีชื่อเสียงไม่ค่อยดีนัก คนในวงการหลายคนตำหนิบริษัทนี้อย่างหนักในเรื่องฝีมือการผลิตที่ไม่ดี มีมาตรฐานความปลอดภัยต่ำ และตัวยานนี้ก็ถูกออกแบบมาไม่ดี มันเทอะทะและไม่ปลอดภัย เต็มไปด้วยวัสดุไวไฟ ทั้งยังมีออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ที่เสี่ยงต่อการไฟไหม้อย่างรุนแรง แม้กระทั่งลูกเรือทั้ง 3 คนก็ยังไม่เชื่อใจยานพาหนะที่จะพาพวกเขาออกไปยังนอกโลกเลย พวกเขาได้ถ่ายรูปพนมมือเหนือแบบจำลองยาน ราวกับจะอธิษฐานให้มันปกป้องพวกเขาได้อย่างปลอดภัย


ครั้งหนึ่งกริสซัมเคยถูกนักข่าวถามว่า “ความสำเร็จของอะพอลโล 1 คืออะไร” กริสซัมตอบโดยไม่มีรอยยิ้มว่า “พาพวกเรากลับบ้านโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เพียงพอแล้ว”


แต่ความปรารถนาของกริสซัมไม่เป็นจริง ในวันที่ทดสอบ ลูกเรือทั้ง 3 สวมชุดนักบินอวกาศเดินขึ้นยานอะพอลโล 1 เพียงไม่กี่นาทีพวกเขาก็ได้กลิ่นแปลก ๆ เหมือนนมเปรี้ยว แต่การตรวจสอบตัวอย่างอากาศกลับไม่มีอะไรผิดปกติ ดังนั้นการทดสอบจึงดำเนินการต่อไป ยานอวกาศถูกปิดแน่นหนา และออกซิเจนก็ถูกสูบเข้าไป 


การทดสอบมีแววไม่ดีต่อไปเรื่อย ๆ ตัวบอกระดับการไหลของออกซิเจนกระตุ้นให้เกิดสัญญาณเตือนในตัวยานหลายครั้ง นอกจากนี้ลูกเรือกับทีมงานที่อยู่ข้างนอกก็ไม่สามารถติดต่อกันได้ดีจนทำให้กริสซัมหงุดหงิดและตะโกนออกมาว่า “เราจะไปถึงดวงจันทร์ได้อย่างไร ถ้าแม้แต่คุยกันในระยะห่างประมาณ 2 - 3 อาคารก็ยังไม่สามารถทำได้”

และไม่นานหลังจากนั้น ค่าอ่านชีพจรของลูกเรือก็พุ่งสูง ในขณะที่เซ็นเซอร์ตัวอื่น ๆ ตรวจพบไฟกระชากในช่วงสั้น ๆ จากนั้นลูกเรือก็โทรออกมา มีเสียงของ (น่าจะเป็น) แชฟฟีตะโกนออกมาคำเดียวว่า “ไฟ”


ก่อนที่จะตามมาด้วยเสียงโกลาหลมากมาย


“ไฟไหม้ในห้องนักบิน”


“ออกไปกันเถอะ ไฟกำลังไหม้เรา”


เสียงโกลาหลกินเวลาเพียง 5 วินาที ก่อนที่สัญญาณของพวกเขาจะจบลงตรงเสียงกรีดร้อง 


เจ้าหน้าที่ที่จะไปช่วยเหลือใช้เวลาประมาณ 5 นาทีจึงเปิดประตูยานได้ พวกเขาถูกคลื่นความร้อนที่ลุกไหม้ยานซัดกลับ และเกิดม่านควันหนามากจนแทบมองไม่เห็นเกินปลายจมูกตัวเอง เมื่อควันจางลงพวกเขาจึงพบว่าลูกเรือทั้ง 3 คนเสียชีวิตแล้วบนชุดนักบินอวกาศที่สลายไปบางส่วน 


เจ้าหน้าที่สืบสวนพบว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร จุดแรกที่เกิดไฟน่าจะเป็นตรงใต้ที่วางเท้าของกริสซัม จากนั้นมันก็ลุกลามด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ แผ่นตีนตุ๊กแก ตาข่ายไนลอน และแผงโพลียูรีเทน จนสร้างกองเพลิงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการออกแบบฝาปิดที่ทำให้เปิดออกมาได้ยาก


เหตุการณ์นี้คือจุดสิ้นสุดของลูกเรือทั้ง 3 คน แต่นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอีกมากเรื่องราวต่อจากนั้น มีการกล่าวหาฝีมือการผลิตที่ย่ำแย่ของนอร์ทอเมริกันเอวิเอชัน และการกำกับดูแลที่ย่ำแย่ของนาซา 


โปรเจ็กต์อะพอลโลถูกระงับเป็นเวลา 20 เดือนเพื่อตรวจสอบและแก้ไขความผิดพลาดต่าง ๆ เป็นการยกระดับความปลอดภัยขึ้นสู่ขีดสูงสุด ผลลัพธ์คือในปีต่อมาพวกเขาสร้างห้องโดยสารที่ได้รับแรงดันด้วยออกซิเจน/ไนโตรเจนผสม 60 : 40 ไม่ใช่ออกซิเจน 100% เหมือนกับอะพอลโล 1 วัสดุไวไฟถูกกำจัดออกจากห้องโดยสารทั้งหมด ท่อประปาอะลูมิเนียมถูกแทนที่ด้วยสแตนเลส มัดลวดถูกห่อหุ่มด้วยโลหะ และมีการออกแบบฝาปิดแบบใหม่ที่สามารถเปิดออกได้อย่างง่ายดายแม้จะใช้ปลายนิ้วก้อยของนักบินกด


ทั้งนี้เดิมทีโครงการนี้ชื่อเอเอส-204 (AS-204, Apollo Saturn-204) แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นชื่ออะพอลโลเพื่อเป็นเกียรติแก่ โรเจอร์ บี. แชฟฟี, เอ็ด ไวต์ และ กัส กริสซัม


หลังการสูญเสียของลูกเรืออะพอลโล 1 เพียงราว ๆ 2 ปี ในวันที่ 21 กรกฏาคม 1969 ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติได้รับการจารึกว่ามนุษย์คนแรกได้ลงเหยียบบนดวงจันทร์ ในขณะเดียวกัน ห่างออกมาประมาณ 3.8 แสนกิโลเมตรบนดาวโลก ร่างของกริสซัมและแชฟฟีถูกฝังที่เมืองอาร์ลิงตัน เท็กซัส ในขณะที่ไวต์พักผ่อนที่เวสต์ พอยท์ นิวยอร์ก พวกเขาพักผ่อนอยู่ที่นี่ แต่เรื่องราวการเสียสละของพวกเขาติดตามไปด้วยถึงดวงจันทร์ และมันจะติดตามไปอย่างนั้นเสมอ ไม่ว่าในอนาคตมนุษย์จะลงเหยียบบนดาวดวงไหนหรืออยู่ห่างไกลสักเพียงใดก็ตาม


ที่มาข้อมูล NASANASA 2, NASA 3, Astronomy, Wikipedia, Space, Time

ที่มารูปภาพ NASA's Apollo 1, NASA's 55 Years Ago: Tragedy on the Launch Pad, 55 Years Ago: Three Months Until Apollo 1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง