เตือนระวัง แมลงริ้นฝอยทรายกัด ติดเชื้อโรคลิชมาเนีย ปี 68 ไทยเสียชีวิตแล้ว 2 ราย

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีพบ การติดเชื้อโรคลิชมาเนีย (LEISHMANIASIS) ในผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศในตะวันออกกลางมายังประเทศไทย ว่า สำหรับโรคลิชมาเนีย เป็นโรคที่เกิดจากสัตว์ โดยมี แมลงริ้นฝอยทราย เป็นพาหะ ประเทศไทยเองก็พบโรคลิชมาเนียมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน
โดยพบผู้ป่วยประมาณ 40 กว่าราย แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่เยอะ แต่พบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ได้ โดยในปี 2568 ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย ที่จังหวัดสงขลา 1 ราย และกรุงเทพมหานคร 1 ราย เราจึงควรเฝ้าระวัง ซึ่งโรคนี้สามารถรับมือป้องกันแบบเดียวกับโรคไข้เลือดออก โดยระวังไม่ให้ยุงหรือแมลงริ้นฝอยทรายกัด
แมลงริ้นฝอยทราย
ตัวมีขนาดเล็กกว่ายุง 4-5 เท่า อาจมีสีดำ ขาว น้ำตาล มีขนปกคลุมทั่วตัว รูปปีกเหมือนปลายหอก ปีกตั้งเป็นรูปตัว V ตัวเมียกินเลือดทั้งคนและสัตว์ หากินไม่ไกลจากแหล่งอาการ ออกหากินมากตอนพลบค่ำ และออกหากินตลอดทั้งคืน ช่วงเวลากลางวันที่มืดครึ้มก็ออกหากินได้เหมือนกัน ตัวเมียจะวางไข่ตามพื้นดินชื้นแฉะที่มีอินทรีย์สูง เช่น คอกสัตว์ กองขยะ ใบ้ไม้ทับถม รูหนู โพรงไม้ โพรงดิน เป็นต้น
อาการจะแบ่งเป็น 2 ระดับ คืออาการไม่รุนแรงและอาการรุนแรง โดยระดับอาการที่ไม่รุนแรง เช่น มีตุ่มนูนตามลำตัว หรือบริเวณหน้า สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้
ส่วนอาการระดับรุนแรงจะเป็นการแพร่ระบาดเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ อาจทำให้มีไข้เรื้อรัง ผิวซีด ตบม้ามโต ส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและรับการรักษาทันที ซึ่งโรคนี้จะไม่สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสทางผิวหนังได้ จะเป็นการแพร่ระบาดผ่านพาหะนำโรค คือริ้นฝอยทรายเท่านั้น
ลักษณะโรคลิชมาเนีย
โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis ) เป็นโรคจากการติดเชื้อปรสิตลิชมาเนีย มักเกิดจากการถูกริ้นฝอยทรายที่เป็นพาหะของเชื้อกัด ส่วนใหญ่จะแพร่ระบาดในบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น โดยเฉพาะแถบเอเชีย แอฟริกา หรืออเมริกาใต้ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะแสดงอาการป่วยแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น อาจเกิดแผลตรงผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด เกิดแผลที่เยื่อบุจมูกหรือปาก ตับและม้ามโต ผิวซีด หรือเป็นไข้เรื้อรัง เป็นต้น
สาเหตุของโรคลิชมาเนีย
โรคลิชมาเนียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania) สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ผ่านการถูกริ้นฝอยทราย (sand fly) ที่มีเชื้อกัด เชื้อนี้ทำ ให้เกิดโรคหลายรูปแบบ ที่พบมากที่สุดคือชนิดที่มีผลต่อผิวหนัง หรือ ชนิดที่มีผลต่ออวัยวะภายใน
โรคลิชมาเนียติดต่อได้จากการถูกแมลงริ้นฝอยทรายกัด
เกิดจากคนถูกแมลงริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อปรสิต ลิชมาเนียกัด ภายหลังถูกกัด เชื้อปรสิตนี้จะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า Macrophage ซึ่งในเม็ดเลือดขาวนี้ เชื้อฯจะแบ่งตัวรวดเร็วและมากมาย ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวแตก หลังจากนั้นเชื้อฯก็จะแพร่กระจายสู่เม็ดเลือดขาวเซลล์อื่นๆต่อไป
ระยะฟักตัวของโรคไม่แน่นอนอาจตั้งแต่ 2 - 3 วัน เชื้อลิชมาเนียใช้เวลาในการเจริญเติบโตในริ้นฝอยทราย 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม การแพร่กระจายโรคเกิดขึ้นได้เมื่อริ้นฝอยทรายกัดดูดเลือดตั้งแต่ครั้งที่ 2 และเชื้ออยู่ได้นานถึง 10 วัน