รีเซต

จับตาผลสรรหา กสทช.ได้แน่หรือโละอีก ช้าไม่ได้ ภารกิจข้างหน้ารอสังคายนาเพียบ!!

จับตาผลสรรหา กสทช.ได้แน่หรือโละอีก ช้าไม่ได้ ภารกิจข้างหน้ารอสังคายนาเพียบ!!
มติชน
13 กันยายน 2564 ( 09:33 )
82

ภายใต้บรรยากาศการเมืองร้อนระอุและเศรษฐกิจซบเซา ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้ามคือ การสรรหา “กรรมการ กสทช.” หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภายใต้ “พ.ร.บ.กสทช.” ฉบับใหม่

 

 

การสรรหากรรมการ กสทช. รวม 6 ด้าน ได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. คือ ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์

 

 

ช่วงเปิดรับสมัคร มีบรรดาบิ๊กเนม โนเนม ในและนอกวงการ แห่ยื่นใบสมัคร รวม 78 คน น้อยกว่าการสรรหาครั้งก่อน ภายใต้ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับเดิม ที่มีผู้ยื่นใบสมัครรวม 80 คน โดย “กรรมการสรรหา กสทช.” ได้ทำการเฟ้นหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านที่สมัคร ด้านละ 1 คน กระทั่งประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ดังนี้

 

 

ด้านกิจการกระจายเสียง พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต ศาสตราจารย์ สาขานิเทศศาสตร์ ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านกิจการโทรคมนาคม นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช.

 

 

และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ได้แก่ ด้านกฎหมาย คือ ร้อยโท ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ และด้านเศรษฐศาสตร์ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ไร้ชื่อตัวเต็ง อย่าง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. ที่ยื่นใบสมัครรอบ 2 โดยโยกจากด้านกิจการโทรคมนาคม มาเป็นด้านกิจการโทรทัศน์ ก็ยังไม่เข้าตา เนื่องจากกรรมการสรรหาเห็นว่า สิ้นสุดวาระเลขาธิการ กสทช. ไม่ถึง 1 ปี ก่อนปิดรับสมัคร ทำให้พ้นจากตำแหน่ง ผอ.วิทยุ 1 ปณ.ไม่ครบ 1 ปี ขณะที่ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ตกคุณสมบัติ เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กสทช. และพลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตกคุณสมบัติ เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

 

 

หากเทียบรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก รอบก่อนที่ต้องโละใหม่ยกแผง ดังนี้

ด้านกิจการกระจายเสียง พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และนางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ดี้ที่ปรึกษามูลนิธิคนพิการไทย ด้านกิจการโทรทัศน์ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต และ ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ด้านโทรคมนาคม นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ และรองศาสตราจารย์ ดร.อธิคม ฤกษบุตร อาจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ด้านวิศวกรรม ดร.อานนท์ ทับเที่ยง ประธานสาขาการจัดการธุรกิจดิจิทัล และรองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

 

 

ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พลตำรวจโท เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช. ด้านกฎหมาย นายจิตรนรา นวรัตน์ อดีตผู้ตรวจการอัยการ และร้อยโท ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

จะพบว่า มี 3 ราย ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 ครั้ง คือ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ และร้อยโท ดร.ธนกฤษฎ์ เอกโยคยะ

 

 

ซึ่ง 2 ใน 3 รายดังกล่าว พลตรี สุพิชาติ เสนานุรักษ์ ข้าราชการบำนาญกองทัพบก ผู้สมัครกรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย เคยยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรื่อง ผู้สมัครเป็น กสทช. ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

 

 

โดยระบุว่า “นายกิตติศักดิ์” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท เป็นบุคคลที่เคยถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้พ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพราะมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (วศ.บ.) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.) และได้เรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์และบริหารธุรกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นผู้ผ่านการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ในรอบ 14 คนปี 2561 (แต่ถูกมาตรา 44 ยกเลิก)

 

 

และมีข้อมูลปรากฏในประวัติการสมัครเข้ารับการสรรหา กสทช. ว่า นายกิตติศักดิ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมให้แก่ “บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด” ภายหลังจากที่ได้ออกจากแคทแล้ว แต่คาดว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่เป็นจริง เพราะเพลย์เวิร์คไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ และข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลผู้นี้ได้ทำงานด้านบริหารธุรกิจตลอดมาระยะเวลาการทำงานในด้านกิจการโทรคมนาคม จึงขาดตอนเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ และต่อเนื่องรวมแล้วไม่ถึง 10 ปี อีกทั้งเป็นผู้ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และผลงานด้านโทรคมนาคม ตามที่ลงสมัครแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 14/1, 14/2 (6) และมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (14) คือ เคยเป็นผู้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือผู้บริหารบริษัทมหาชนจำกัด เพราะเหตุมีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

 

ขณะที่ “ร้อยโท ดร.ธนกฤษฎ์” เป็นนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีตำแหน่งเทียบได้กับข้าราชการพลเรือนในระดับ 8 เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ใช่รองหัวหน้าหน่วยงานใดๆ จึงเห็นได้ว่าเป็นบุคคลผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 14/2 (1) คือ เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการ ตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือรองหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจ

 

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

 

 

โดยขั้นต่อไปกรรมการสรรหา กรรมการ กสทช. จะส่งรายชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาและลงมติ จะมีการจัดตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ผ่านการคัดเลือก ก่อนเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติ พิจารณาตามกรอบเวลาคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมหน้าที่จะเปิดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

 

 

หวังว่ากระบวนการสรรหาจะเดินไปตลอดรอดฝั่งเสียที เพราะภาระต่างๆ ของกรรมการ กสทช. โดยเฉพาะการจัดการประมูลวงโคจรดาวเทียม รวมถึงคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ต่างรอสังคายนาอยู่ทั้งสิ้น!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง