รีเซต

ส่องประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ที่คนไทยรอฉีด

ส่องประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ที่คนไทยรอฉีด
Ingonn
19 เมษายน 2564 ( 17:43 )
4K
ส่องประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ที่คนไทยรอฉีด

ตอนนี้เป็นกระแสในโลกออนไลน์อย่างมาก เมื่อชาวเน็ตสงสัยว่าประสิทธิภาพวัคซีนที่ได้มากเป็นอย่างไร มีความเหมาะสมกับการฉีดคนไทยมากน้อยแค่ไหน ต้องฉีดยี่ห้อไหนถึงจะดี วันนี้ True ID มีคำตอบมาให้

 

 

คนไทยฉีดวัคซีนไปเท่าไหร่แล้ว?


ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 18 เมษายน 2564
มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 618,583 ราย ใน 77 จังหวัด


จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 : 535,925 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 : 82,658 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคนครบตามเกณฑ์)

 

สถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลก

  • ประเทศที่ฉีดมากที่สุดคือ อเมริกาและจีน แต่ประเทศที่ฉีดมากในประชากรหมู่บ้าน หนีไม่พ้นประเทศอิสราเอล โดยใช้วัคซีนไฟเซอร์ โดยเขาฉีดไปมาก จนทำให้อุบัติการณ์การป่วยในประเทศลดลงมาก โดยคนไข้ต่อวันเหลือน้อยมากๆ และอัตราการเสียชีวิตก็ลดลงเหลือไม่ถึงวันละ 10 คนจากที่เคยสูงสุดมากกว่าวันละ 60 คน 

 

  • ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกานั้น ถูกฉีดมากที่สุดที่อังกฤษ โดยเริ่มให้วัคซีนในระยะแรกในปริมาณมาก จนขณะนี้อังกฤษกำลังจะเปิดประเทศแล้ว 

 

  • ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมัน แม้ฉีดวัคซีนหลายตัวก็จริง แต่เมื่อได้ข่าวอาการข้างเคียงของวัคซีนแอสตราฯ จะมีการหยุดๆฉีดๆ แทนที่จะลุยฉีดเต็มที่ 

 

 

โควิด-19 เคยเป็นแล้วก็เป็นได้อีก เคยฉีดวัคซีนแล้วก็ฉีดได้อีก


นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโรค ระบุว่า โควิด 19 เมื่อติดเชื้อแล้ว จึงมีโอกาสที่ติดเชื้อซ้ำได้อีก หรือฉีดวัคซีนแล้วจึงมีโอกาสที่ติดเชื้อได้ แต่อาการ ความรุนแรงจะลดลง และมีโอกาสสูงมากที่จะต้องให้วัคซีนเข็มที่ 3 และต่อไปอาจจะต้องให้เป็นระยะ ก็เป็นไปได้  ถ้าร่างกายเรามีภูมิอยู่บ้าง ภูมิต้านทานก็จะคอยปกป้อง ไม่ให้ไวรัสเข้ามาหรือแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เพื่อทำลายเซลล์ของเรา การให้วัคซีนจึงมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของโรค และควบคุมการระบาดใหญ่

 

วัคซีนโควิด-19ในไทย

 

ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มีทั้งสิ้น 7 ชนิด ได้แก่


1.วัคซีน CoronaVac ของบริษัท Sinovac (อย. ให้การรับรอง)


2.วัคซีน AZD 1222 ของบริษัท AstraZenaca/Oxford (อย. ให้การรับรอง)


3.วัคซีน AZD 1222 ของบริษัท Siam Bioscience /AstraZeneca/Oxford (อย. ให้การรับรอง)


4.วัคซีน Ad26.COV2.S ของบริษัท Johnson & Johnson (อย. ให้การรับรอง)


5.วัคซีนโทซินาเมแรน (Tozinameran) ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค


6.วัคซีน Covishield ของ Serum Institute of India


7.วัคซีน mRNA-1273 ของบริษัท Moderna

 

 

เทียบประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละชนิด


วัคซีนแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้บ้าง แต่พบได้น้อยและมักไม่มีอาการรุนแรง โดยมี รายละเอียดที่ระบุไว้ดังนี้ 

 

บริษัท ซิโนแวค

 


ชื่อวัคซีน : CoronaVac


ชนิดวัคซีน : วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated virus)


การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเก็บได้เป็นเวลา3ปี


วิธีการทำงานของวัคซีน : เชื้อไวรัสถูกทำให้อ่อนแรงและหมดคุณสมบัติในการแบ่งตัวด้วยสารเคมีวัคซีนมีส่วนผสมของสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Adjuvant) เพื่อกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวตอบสนองต่อวัคซีนได้ดียิ่งขึ้น


จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 2 สัปดาห์


อายุที่สามารถฉีดได้ : 18-59 ปี


ประสิทธิภาพ : 50.7% (ตรวจเมื่อ 14 วัน หลังจากได้รับโดสที่ 2)


ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ : บางคนอาจมีไข้, รู้สึกเหนื่อยอ่อน, และปวดกล้ามเนื้อ 

 

ไม่แนะนำให้ใช้กับ :ไม่ควรฉีดถ้าขณะนั้นมีการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19


ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 15-30ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 450-900 บาท)

 

 


บริษัท แอสตราเซเนกา


ชื่อวัคซีน : ChAdOx1 nCoV-19


ชนิดวัคซีน : ไวรัสเวกเตอร์(Virus vector)


การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเก็บได้เป็นเวลา 6 เดือน


วิธีการทำงานของวัคซีน : ใช้ไวรัสเวกเตอร์ชื่อ ChAdOx1 นำเอารหัสสารพันธุกรรมส่วนโปรตีนหนามเข้าสู่เซลล์และเมื่อเข้าสู่เซลล์แล้วจะเกิดการแปลงรหัสสารพันธุกรรมกลายเป็นโปรตีนหนามเพื่อกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามต่อไป


จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 4-12 สัปดาห์


อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป (บางประเทศห้ามผู้ที่อายุเกิน 65 ปีฉีด)

ประสิทธิภาพ : อาจสูงถึง 82.4% ในเคสที่ฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์


ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ : ปวด, คัน, เกิดผื่นแดง, รอยช้ำ หรือบวมที่แขนตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน มีไข้, หนาวสั่น, เหนื่อยอ่อน, ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งทั้งหมดนี้มักจะหายไปในหนึ่งหรือสองวัน และบางประเทศในยุโรป ได้ชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาออกไปเนื่องจากพบว่ามีผลข้างเคียงในผู้ได้รับวัคซีนบางรายคือเกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำ หรือลิ่มเลือดอุดตัน


ไม่แนะนำให้ใช้กับ : ผู้ที่ไวต่อสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในวัคซีน ผู้ที่มีไข้สูงอยู่ก่อน 


ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 4 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 120 บาท)

 

 


บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค

 


ชื่อวัคซีน : BNT162b2

ชนิดวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)


การเก็บรักษา : -80 ถึง -60องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6เดือน หรือ -25ถึง -15องศาเซลเซียสมีอายุ2สัปดาห์


วิธีการทำงานของวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอสอนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนหนามที่มาจากเปลือกหุ้มของไวรัสโควิด-19 จากนั้นโปรตีนหนามจะถูกส่งไปที่ผิวของเซลล์แล้วไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ต่อต้านเชื้อไวรัส


จำนวนโดส : 2 โดส ห่างกัน 3สัปดาห์


อายุที่สามารถฉีดได้ : 16 ปีขึ้นไป


ประสิทธิภาพ : 95% (ตรวจเมื่อ 7วันหลังจากได้รับโดสที่ 2)


ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ : หนาวสั่น, ปวดหัว, ปวดเมื่อยเนื้อตัว, เหนื่อยอ่อน, บวมแดงตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน อาการทั้งหมดที่ว่ามานี้ ปกติจะหายไปในวันหรือสองวัน ให้พักผ่อน, ดื่มน้ำ หากจำเป็นอาจกินยาแก้ปวดจำพวกพาราเซตามอล (หาก อาการไม่หายไปใน 72 ชั่วโมง หรือมีอาการเกี่ยวกับการหายใจ เช่น ไอหรือหายใจตื้น ให้พบแพทย์) 


วัคซีนแบบ mRNA อาจไปกระตุ้น ให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ แต่สามารถใช้เอพิเนฟรินรักษาได้ด้วยเหตุนี้ในจุดฉีดวัคซีน จึงจำเป็นต้องติดตาม ดูอาการหลังฉีดนาน 15 นาที และ 30 นาทีในกรณีที่เคยมีประวัติแพ้ยารุนแรง หรือกำลังได้รับยาละลายลิ่ม เลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (blood thinner) 


ไม่แนะนำให้ใช้กับ : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน สาร PEG หรือ สาร Polysorbate หรือมีอาการแพ้รุนแรงเมื่อฉีดเข็มแรก


ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 600บาท)

 

 

บริษัท โมเดอร์นา

 


ชื่อวัคซีน : mRNA-1273


ชนิดวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)


การเก็บรักษา : -25ถึง -15องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6 เดือน หรือ ในอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป เก็บได้ 30 วัน


วิธีการทำงานของวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอสอนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนหนามที่มาจากเปลือกหุ้มของไวรัสโควิด-19 จากนั้นโปรตีนหนามจะถูกส่งไปที่ผิวของเซลล์แล้วไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ต่อต้านเชื้อไวรัส


จำนวนโดส : 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์


อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป


ประสิทธิภาพ : 94% (ตรวจเมื่อ 14 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2)


ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ : คล้ายกับวัคซีนของไฟเซอร์ คนส่วนใหญ่จะรู้สึกปวดที่แขนตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน คนราวครึ่งหนึ่งจะเกิด อาการคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่คือ หนาวสั่น, เหนื่อยอ่อน และปวดหัว และอาจมีผู้ที่มีอาการแบบนี้มาก ขึ้นหลังจากฉีดโดสที่ 2 


ไม่แนะนำให้ใช้กับ : ผู้ที่แพ้สารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในวัคซีนคือ พีอีจี (PEG) หรือพอลิซอร์เบต (polysorbate) ผู้ที่แสดงอาการแพ้หลังจากได้รับวัคซีนโดสแรก


ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 15-25ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 450-750 บาท)

 

 

บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน


ชื่อวัคซีน : JNJ-78436735


ชนิดวัคซีน : ไวรัสเวกเตอร์(Virus vector)


การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเป็นเวลา 3 เดือน


วิธีการทำงานของวัคซีน : ใช้ไวรัสเวกเตอร์ชื่อ Ad26 ส่งรหัสพันธุกรรมของโปรตีนหนามเข้าไปสั่งการเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนชนิดนี้จากนั้นโปรตีนหนามไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อต้านเชื้อไวรัส


จำนวนโดส : 1 โดส และกำลังวิจัยเพิ่มเป็น 2 โดส


อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป


ประสิทธิภาพ : 66.9% (ตรวจเมื่อ 14 วันหลังจากได้รับวัคซีน)


ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ : มีคนส่วนน้อย (9%) ที่รายงานว่ามีไข้ อาการที่พบได้บ่อยคือ รู้สึกปวดหรือเจ็บที่แขนตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน อาจมีบางคนรู้สึกเหนื่อยอ่อน, ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการทั้งหมดนี้ควรจะหายไปในวันหรือสองวัน อาการข้างเคียงของวัคซีนนี้มักจะเกิดขึ้นไม่รุนแรงเท่ากับวัคซีนจากไฟเซอร์และโมเดิร์นนา แต่ล่าสุดองค์การอาหารและยา (FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐ ร่วมกันเรียกร้องให้ระงับการฉีดวัคซีนโควิดของบริษัท “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ระหว่างตรวจสอบผู้ที่มีผลข้างเคียง “ลิ่มเลือด” ทั้งหมด 6 คน 


ไม่แนะนำให้ใช้กับ : ผู้ที่มีอาการแพ้สารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในวัคซีน 


ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 10ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 300 บาท)

 


บริษัท โนวาแวกซ์

 


ชื่อวัคซีน : NVX-CoV2373


ชนิดวัคซีน : โปรตีน (Recombinant protein)


การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเก็บได้นาน 6เดือน


วิธีการทำงานของวัคซีน : โปรตีนหนามที่ผลิตจากเซลล์แมลงได้ถูกผสมเข้ากับสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Adjuvant)ให้เม็ดเลือดขาวตอบสนองต่อตัวโปรตีนหนามได้ดียิ่งขึ้นโดยวัคซีนตัวนี้ไม่ต้องพึ่งเซลล์ของร่างกายเราในการผลิตโปรตีนหนามเหมือนวัคซีนชนิดอื่นๆ


จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 3 สัปดาห์


อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป


ประสิทธิภาพ : 89.3% (ตรวจเมื่อ 7 วันหลังจากได้รับวัคซีน)


ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ : รู้สึกปวดหรือกดแล้วเจ็บที่แขนตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน อาจมีบางคนรู้สึกเหนื่อยอ่อน, ปวดหัว และปวด กล้ามเนื้อ


ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน


ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 16 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 480 บาท)

 


บริษัท สปุตนิกวี


ชื่อวัคซีน : Sputnik V


ชนิดวัคซีน : ไวรัสเวกเตอร์ (Virus vector)


การเก็บรักษา : -18องศาเซลเซียสเก็บได้นาน 6 เดือน หรือในอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป เก็บได้นาน 3 เดือน


วิธีการทำงานของวัคซีน : หลักการเช่นเดียวกับไวรัสเวกเตอร์อื่นๆโดยใช้ไวรัสที่ชื่อว่า Ad26 เป็นพาหะนำรหัสพันธุกรรมส่วนโปรตีนหนามเข้าไปในเข็มแรกและจะใช้ไวรัสAd5 เป็นพาหะนำวัคซีนเข้าไปในเข็มที่สอง


จำนวนโดส : 2โดสห่างกัน3สัปดาห์


อายุที่สามารถฉีดได้ :18 ปีขึ้นไป


ประสิทธิภาพ : 91.1%(ตรวจเมื่อ7วันหลังจากได้รับวัคซีน)


ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด: ปวดบวมแดง/ ผลต่อร่างกายโดยรวม: ปวดหัวอ่อนเพลีย


ไม่แนะนำให้ใช้กับ : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน


ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 10-13 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 300-390 บาท)

 

 

สรุปวัคซีนโควิด-19 อันไหนดี

 

วัคซีนที่ใช้ขณะนี้มีมากกว่า 13 ชนิดหรือยี่ห้อ โดยแต่ละชนิดยังมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพราะคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากวัคซีน วัคซีนที่ดีจะต้องมีความปลอดภัยสูงหรือมีอาการข้างเคียงต่ำ

 

ถ้าเป็นวัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพสูง อาการข้างเคียงหลังการฉีดมีไข้ ปวดเมื่อย โดยเฉพาะเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรกและผลข้างเคียงระยะยาวต้องรอติดตามการศึกษาระยะยาวต่อไป

 

ถ้าเป็นวัคซีนไวรัส Vector ขณะนี้ก็มีพูดถึงเรื่องผลข้างเคียงของลิ่มเลือดแต่ก็มีอุบัติการณ์ที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ได้จากวัคซีน จึงยังใช้กันอยู่

 

แต่ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตาย ใช้วิธีการแต่เดิม ความปลอดภัยค่อนข้างสูงกว่าวัคซีนตัวอื่น

 

 

 

 

ข้อมูล : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) , กรมควบคุมโรต กระทรวงสาธารณสุข , ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) , เพจเฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง