รีเซต

ดราม่า “วัคซีนโควิด-19” เปิดเสรี หรือ รัฐผูกขาด?

ดราม่า “วัคซีนโควิด-19” เปิดเสรี หรือ รัฐผูกขาด?
Ingonn
9 เมษายน 2564 ( 16:45 )
457
ดราม่า “วัคซีนโควิด-19” เปิดเสรี หรือ รัฐผูกขาด?

เวลานี้ความต้องการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากทุกประเทศทั่วโลก มีสูงกว่าความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตทุกราย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังกระจายเชื้อเพิ่มขึ้นและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบที่ลงเมื่อไหร่

 

 

การรักษาโควิด-19 ได้ในตอนนี้ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งภาครัฐของแต่ละประเทศเป็นผู้นำเข้ามาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยต้องฉีดเร่งด่วน แต่ภาคเอกชน ก็อาจจะรอนานไม่ไหวจนเกิดการขอนำเข้าวัคซีนเอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

 

 


วัคซีนโควิด-19 กรณีฉุกเฉินที่เอกชนนำเข้าเองยาก

 

  • วัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน จะขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน หรือ EUA (Emergency Use Authorization) เกือบทั้งหมดทั่วโลก

 

  • รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากประชาชนได้รับผลกระทบจากอาการแทรกซ้อน หรืออาการไม่พึงประสงค์ ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต จึงทำให้ขณะนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกรัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาและนำเข้าวัคซีน โดยถือว่า วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ยังไม่มีประเทศใดที่ให้ซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้เอง แบบเชิงพาณิชย์ (Commercial) 

 

  • หากภาคเอกชนต้องการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 จะต้องได้รับการรับรองหรือการสั่งจองจากภาครัฐ หรือตัวแทนภาครัฐ เช่น องค์การเภสัช หรือหน่วยงานอื่น ที่ภาครัฐมอบหมายเท่านั้น และรัฐบาลต้องระมัดระวัง เมื่อกระจายการสั่งซื้อไปยังเอกชนแล้ว อาจจะต้องบริหารจัดการอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่า ประชาชนได้รับวัคซีนปลอม

 

 

รัฐบาลตั้ง คกก.นำเข้าวัคซีนโควิด ร่วมกับเอกชนแล้ว!

 

ล่าสุด  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังร่วมประชุม ศบค. ชุดเล็ก เพื่อหารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้ง นพ.ปิยะสกล สัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์ ศบค. เป็นประธานคณะกรรมการจัดหาวัคซีน เปิดทางเอกชนร่วมจัดหาอีก 10 ล้านโดส ให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกรายที่มีศักยภาพจัดหา เพื่อเติมเต็มวัคซีนที่รัฐจัดหาให้ที่มี 70 ล้านโดสรองรับ 35 ล้านคน เพื่อจัดฉีดให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น หรือ 40 ล้านคน โดยในเดือนนี้วัคซีนจะเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส

 

จึงนำมาสู่การหาวัคซีนทางเลือก ซึ่งนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนเสนอตัว บอกว่ามีความสามารถร่วมกับทางสภาหอการค้าต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงไปกับบริษัทเอกชนทั้งหลาย แต่ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวก เพราะที่ผ่านมาติดขัดหลายเรื่อง เช่น เจ้าของวัคซีนต้องการจดหมายของภาครัฐอำนวยความสะดวก หรือจะให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ช่วยสั่งซื้อนำเข้ามาโดยตรงได้หรือไม่ และให้ภาคเอกชนไปขอแบ่งซื้อมา เป็นต้น

 


ยอดจองวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกสูงเสี่ยงกักตุนวัคซีน

 

โดยข้อมูลของของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ พบว่า ณ วันที่ 7 เม.ย. 2564 ทุกประเทศทั่วโลก มียอดจองวัคซีนโควิด-19 รวมสูงถึง 9,600 ล้านโดส เพราะหลายประเทศมีคำสั่งซื้อสูงกว่าจำนวนประชากร 2-3 เท่าตัว ขณะยอดวัคซีนที่มีการฉีดแล้วอยู่ที่ 689 ล้านโดส แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตยังต้องผลิตตามยอดคำสั่งซื้อของรัฐบาลประเทศต่างๆ อีกจำนวนมาก

 



ซึ่งแพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ระบุว่า วัคซีนมีการผลิตได้มากก็จริง แต่ประเทศหลายประเทศมีการสั่งจองวัคซีนไปกักตุนก็ว่าได้ หมายถึงว่าประชากรของเขาคิดเป็น100% เขาสั่งจองไว้ก่อนเป็น 3 เท่า เป็นต้น

 

 

วัคซีนโควิด-19 ในไทย


ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย. และขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 3 บริษัท  คือ ซิโนแวค แอซตราเซเนกา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนที่อยู่ในขั้นตอนยื่นเอกสาร คือ วัคซีนของบริษัท บารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ประเทศอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

 

นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการหารือกับ อย. เพื่อเตรียมการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน คือ วัคซีนโมเดอร์นา จากสหรัฐฯ วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ จากรัสเซีย และวัคซีน ซิโนฟาร์ม จากจีน

 

ไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกี่คน

 

ข้อมูลเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ประเทศไทยได้ฉีดวัตซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 323,989 โดส โดยเป็นวัคซีนของซิโนแวค 281,212 โดส และวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 42,777 โดส โดยมีคนที่ฉีดครบสองเข็มแล้ว 49,635 คน ผู้ได้รับวัคซีนในระยะแรกนี้ส่วนใหญ่ (42%) เป็นบุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข/อสม. โดยพบผลข้างเคียงใน 10.25% ของผู้ได้รับวัคซีน แต่อาการไม่รุนแรง”

 

ทั้งนี้ ทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนแล้ว 689 ล้านโดสใน 167 ประเทศ ส่วนภูมิภาคอาเซียนได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 18,416,057 โดส

 

สถิติที่สำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคนไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงปัจจุบัน มีดังนี้

1. กลุ่มผู้ได้รับวัคซีน เรียงตามลำดับ
- บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข/อสม. 137,475 คน (42%)
- ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 112,627 คน (35%)
- เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 34,406 คน (11%)
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 21,630 คน (7%)
- บุคคลที่มีโรคประจำตัว 17,851 คน (5%)

 

 

2. ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
ผู้ที่ฉีดวัคซีน 89.75% ไม่พบผลข้างเคียงใดๆ โดยมีรายงานผลข้างเคียงใน 20,689 ราย (10.25% ของผู้ที่ฉีด) ซึ่งผลข้างเคียงเกือบทั้งหมดเป็นอาการไม่รุนแรง เรียงตามลำดับ ได้แก่
- ปวดกล้ามเนื้อ 2.76% (ของผู้ที่ได้รับวัคซีน)
- ปวดศีรษะ 1.65%
- ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด 1.4%
- เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง 1.26%
- ไข้ 1.17%
- คลื่นไส้ 0.8%
- ท้องเสีย 0.5%
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง 0.42%
- อาเจียน 0.3%
- ผื่น 0.28%
- อื่นๆ 0.39%

 

คลิก >>> 5 อันดับประเทศ ที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกครอบคลุมมากที่สุด

 


ใครควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อน


1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน


2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น


3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2564 ประชากรกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้บางชนิดเท่านั้น)


4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด

 

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่องการให้วัคซีนในเด็กต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร แพทย์อาจจะพิจารณาความจำเป็นเป็นราย ๆ ไป ถ้าเห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนจะได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง

 


ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ ช่วยลดความรุนแรงของโรคทำให้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลและไม่เสียชีวิต แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ดังนั้นระหว่างที่การกระจายวัคซีนยังมาไม่ถึงเราครบทั้งประเทศ การป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรค จึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด และรักษาระยะห่าง ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการติดเชื้อได้

 

 


ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล Covid-19, เพจนพ.ยง ภู่วรวรรณ , กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วทำไมยังติดเชื้อโควิด หรือต้องฉีดสลับยี่ห้อ?

เปิดสถานที่ตรวจ "โควิด-19 ฟรี" เช็คเลย!

เดินทางกลับบ้านจังหวัดไหน ต้องกักตัวโควิด 14 วัน?

5 อันดับประเทศ ที่ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกครอบคลุมมากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง