รีเซต

รู้จัก ยาเสพติดให้โทษ 5 ประเภท

รู้จัก ยาเสพติดให้โทษ 5 ประเภท
TrueID
23 พฤศจิกายน 2563 ( 10:16 )
16.1K
1
รู้จัก ยาเสพติดให้โทษ 5 ประเภท

ในปัจจุบัน ปัญหายาเสพติดกลุ่มเมทแอมเฟตามีนโดยเฉพาะไอซ์ จะขยายตัวรุนแรงมากขึ้นในภูมิภาค โดยสะท้อนจากผลการจับกุมในประเทศต่างๆที่มีปริมาณสูงขึ้น โดยไอซ์ที่ลักลอบลำเลียงเข้าประเทศไทยและประเทศต่างๆ มีฐานการผลิตอยู่เขตพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มชาติพันธ์ ติดอาวุธในบริเวณรัฐฉานตอนเหนือของประเทศเมียนมา ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งเสพติดดังกล่าวก็ยังมีสิ่งเสพติดประเภทต่างๆอีก วันนี้ trueID news จะพาทุกท่านไปรู้จักกับประเภทของยาเสพติประเภทต่างๆ

 

ประเภทของสารเสพติด

     พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้จัดประเภทของยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้


ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เป็นยาที่ไม่มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ และทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการติดยาของประชากรในระดับรุนแรง เช่น เฮโรอีน ยาบ้า ยาอี เป็นต้น


ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เป็นยาที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคในระดับน้อยจนถึงมาก และทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการติดยาของประชากรในระดับที่ต้องพึงระวัง เช่น มอร์ฟีน โคเคน โคเดอีน เป็นต้น


ประเภทที่ 3 ยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับไว้ เป็นยาที่ทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการติดยาของประชากรน้อย แต่ยังคงมีอันตราย และมีประโยชน์ มากในการรักษาโรคเช่น ยาแก้ไอผสมโคเดอีน เป็นต้น


ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือประเภท2 เช่น อาเซติค แอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl Chloride)   


ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้อยู่ในประเภทที่1 ถึงประเภทที่4เช่น กัญชา พืชกระท่อม เห็ดขี้ควาย เป็นต้น

 

แบ่งตามแหล่งที่เกิด ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

  • ยาเสพติดธรรมชาติ (Natural Drugs) คือยาเสพติดที่ผลิตมาจากพืช เช่น ฝิ่น กระท่อม กัญชา เป็นต้น เฮโรอีน ยาบ้า
  • ยาเสพติดสังเคราะห์ (Synthetic Drugs) คือยาเสพติดที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน เป็นต้น

 

แบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

 

  • ยาเสพติดประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สารระเหย และยากล่อมประสาท

 

  • ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ แอมเฟตามีน กระท่อม และ โคคาอีน

 

  • ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็มพี และ เห็ดขี้ควาย

 

  • ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กล่าวคือ อาจกดกระตุ้น หรือ หลอนประสาทได้พร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเช่น กัญชา

 

แบ่งตามองค์การอนามัยโลก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 9 ประเภท คือ

 

  • ประเภทฝิ่น หรือ มอร์ฟีน รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เพทิดีน

 

  • ประเภทยาปิทูเรท รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์ทำนองเดียวกัน ได้แก่ เซโคบาร์ปิตาล อะโมบาร์ปิตาล พาราลดีไฮด์ เมโปรบาเมท ไดอาซีแพม เป็นต้น

 

  • ประเภทแอลกอฮอล ได้แก่ เหล้า เบียร์ วิสกี้

 

  • ประเภทแอมเฟตามีน ได้แก่ แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน

 

  • ประเภทโคเคน ได้แก่ โคเคน ใบโคคา

 

  • ประเภทกัญชา ได้แก่ ใบกัญชา ยางกัญชา

 

  • ประเภทใบกระท่อม

 

  • ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็นที เมสตาลีน เมลัดมอนิ่งกลอรี่ ต้นลำโพง เห็ดเมาบางชนิด

 

ฝิ่น (OPIUM)    


ลักษณะทั่วไป  ต้นฝิ่นเป็นพืชล้มลุก นิยมปลูกกันทางภาคเหนือของประเทศไทย (จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ ตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒) เนื้อฝิ่นได้มาจากยางที่กรีดจากผล (กระเปาะ) ฝิ่นมีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็นเขียว รสขม เรียกว่าฝิ่นดิบ และหากนำฝิ่นดิบมาต้ม เคี่ยวหรือหมัก จะได้ฝิ่นที่มีสีน้ำตาลไหม้ปนดำ มีรสขมเฉพาะตัว เรียกวาฝิ่นสุก ทั้งฝิ่นดิบและฝิ่นสุก มีฤทธิ์ในการ กดระบบประสาท
อาการผู้เสพติดฝิ่น มีอาการจิตใจเลื่อนลอย ซึม ง่วง พูดจาวกไปวนมา อารมณ์ดี และการตัดสินใจเชื่องช้าผู้ที่เสพฝิ่นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน สุขภาพร่างกายจะทรุดโทรม ตัวซีดเหลือง ซูบผอม ดวงตาเหม่อลอย ริมฝีปากเขียวคล้ำ อ่อนเพลียง่าย ซึมเศร้า ง่วงเหลาหาวนอน เกียจคร้าน อารมณ์แปรปรวนง่าย พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย ความจำเสื่อม ชีพจรเต้นช้า ไม่รู้สึกตัว และหากไม่ได้เสพฝิ่นเมื่อถึงเวลาจะมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย บางรายมีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง ดิ้นทุรนทุราย น้ำมูกน้ำตาไหล ม่านตาขยายผิดปกติ ปวดตามกล้ามเนื้อตามกระดูก ปวดบิดในท้องอย่างรุนแรง อาเจียน หายใจลำบาก อาจชักและหมดสติได้ 

 

 

มอร์ฟีน (MORPHINE)     


ลักษณะทั่วไป เป็นสารอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากฝิ่น มีลักษณะเป็นผงสีขาวนวล สีครีม สีเทา ไม่มีกลิ่น รสขม ละลายน้ำง่าย (จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒) มีฤทธิ์ในการกดประสาทและสมองรุนแรงกว่าฝิ่น ประมาณ ๘-๑๐ เท่า เสพติดได้ง่าย มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น อัดเป็นเม็ด เป็นผง เป็นแท่งสี่เหลี่ยมมีเครื่องหมาย 999 หรือ OK เป็นสัญลักษณ์ และชนิดน้ำบรรจุหลอด 
อาการผู้เสพติดมอร์ฟีน ผู้ที่เสพมอร์ฟีน ระยะแรกฤทธิ์ของมอร์ฟีนจะช่วยลดความวิตกกังวล คลายความเจ็บปวดต่าง ๆ ตามร่างกาย ทำให้มีอาการง่วงนอนและหลับง่าย และหากเสพจนเกิดอาการติด ฤทธิ์ของมอร์ฟีนจะทำให้ผู้เสพมีอาการเหม่อลอย เซื่องซึม จิตใจเลื่อนลอย เกียจคร้านไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบกายสุขภาพร่างกายผ่ายผอม ทรุดโทรม และเมื่อไม่ได้เสพจะเกิดอาการกระวนกระวาย ความคิดสับสนพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล หวาดระแวง หูอื้อ นอนไม่หลับ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจชักและหมดสติในที่สุด

 

 

เฮโรอีน หรือ ผงขาว (HEROIN)


ลักษณะทั่วไป  เฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง ประเภท ๑ (ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒) เฮโรอีนได้จากการสังเคราะห์ตามกรรมวิธีทางเคมี ฤทธิ์ของเฮโรอีนมีความรุนแรงกว่ามอร์ฟีน ประมาณ ๔-๘ เท่าและรุนแรงกว่าฝิ่นประมาณ ๓๐-๘๐ เท่า
อาการผู้เสพติดเฮโรอีน เฮโรอีน เป็นยาเสพติดที่ร้ายแรง เสพติดได้ง่ายเมื่อใช้เพียง ๑ หรือ ๒ ครั้ง อาจทำให้เกิดอาการมึนงงเซื่องซึม ง่วง เคลิ้มหลับได้เป็นเวลานาน ไม่สนใจต่อสิ่งต่าง ๆ รอบข้าง บางรายเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาลาย สำหรับผู้ที่เสพจนติด เสพเป็นประจำร่างกายจะทรุดโทรม ผอมตัวซีดเหลือง ขอบตาคล้ำ ดวงตาเหม่อลอย น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว สมองและประสาทเสื่อม ความคิดสับสน ความจำเสื่อม อ่อนเพลียไม่มีแรง และหากใช้ยาเกิดขนาด ฤทธิ์ของเฮโรอีนจะทำให้หัวใจหยุดทำงาน เกิดอาการ "ช็อค" ถึงแก่ความตายได้ทันที สำหรับอาการขาดยาหรือไม่ได้เสพยาเมื่อถึงเวลาเสพ ผู้เสพติดเฮโรอีนจะเกิดอาการทุรนทุราย ทุกข์ทรมาน น้ำมูก น้ำตาไหล ความคิดฟุ้งซ่าน สับสน หงุดหงิด กระวนกระวาย ปวดเจ็บตามกล้ามเนื้อตามกระดูก ปวดท้องอย่างรุนแรง หูอื้อ ตาพร่ามัว อาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด นอนไม่หลับ บางรายมีอาการเพ้อคลั่ง ชักและหมดสติอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 

โคเคน (COCAINE)    


ลักษณะทั่วไป  โคเคนหรือโคคาอีน เป็นสารเสพติดธรรมชาติที่ได้จากการสังเคราะห์ส่วนใบของต้นโคคา (จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๒ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒) นิยมปลูกกันมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง เช่น ประเทศโบลิเวีย เปรู โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เป็นต้น มีฤทธิ์ในการ กระตุ้นประสาทส่วนกลางเช่นเดียวกับ แอมเฟตามีน (ยาบ้า) แต่ทำให้เกิดอาการติดยาได้ง่ายกว่า โคเคนหรือโคคาอีนนิยมเรียกกันในกลุ่มผู้เสพว่า COKE , SNOW , SPEED BALL , CRACK ฯลฯ มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาว รสขม ไม่มีกลิ่น มักนิยมเสพโดยใช้วิธีสูบ ฉีด หรือสูดพ่นเข้าไปในจมูก ฯลฯ

อาการผู้เสพติดโคเคน ผู้เสพติดโคเคนเข้าสู่ร่างกาย ในระยะแรกฤทธิ์ของโคเคนจะกระตุ้นประสาททำให้เกิดอาการไร้ความรู้สึก ดูเหมือนคล้ายมีกำลังมากขึ้น มีความกระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกเหนื่อย แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาร่างกายและความรู้สึกจะอ่อนเพลียเมื่อยล้าขึ้นมาทันที มีอาการเซื่องซึมและหากว่าเสพจนถึงขั้นติดยาจะเกิดผลต่อร่างกายอย่างมาก เช่น หัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตสูง ตัวร้อน มีไข้ตลอดเวลา นอนไม่หลับ ฯลฯ และหากเสพโคเคนเข้าสู่ร่างกายเกิดขนาดจะเกิดพิษเฉียบพลัน ฤทธิ์ของยาจะไปกดการทำงานของหัวใจ ทำให้หายใจไม่ออกอาจชัก และเสียชีวิตได้

 

Image by 7raysmarketing from Pixabay 

 

กัญชา (CANNABIS)    


ลักษณะทั่วไป  กัญชาเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น THAISTICKS,MARY - JANE หรือที่นิยมเรียกกันในกลุ่มผู้เสพว่า เนื้อ (จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒) ลักษณะใบกัญชา จะเรียวยาวแตกเป็นแฉกคล้ายใบละหุ่งหรือมันสำปะหลัง ส่วนที่นำมาใช้เสพก็คือ ใบและยอดช่อดอกตัวเมีย โดยการนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นเป็นผงหยาบ ๆ นำมามวนบุหรี่สูบ หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บางรายใช้เคี้ยว หรือเจือปนกับอาหารรับประทาน ในกรณีที่เสพติดด้วยวิธีการสูบ กลิ่นกัญชาจะเหมือนกับเชือกหรือหญ้าแห้งไหม้ไฟ กัญชาจะออกฤทธิ์หลายอย่างผสมผสานกัน เริ่มตั้งแต่ กระตุ้น กด และหลอนประสาททั้งนี้เนื่องจากในช่อดอกและใบกัญชามีสารพิษที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งเรียกว่า TETRAHYDROCANNABINOL (THC) เป็นสารพิษที่ทำลายสุขภาพร่างกายและก่อให้เกิด

อาการของผู้เสพติดกัญชา  ผู้ที่เสพกัญชาในระยะแรกของการเสพ ฤทธิ์ของกัญชาจะกระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการร่าเริง ช่างพูด หัวเราะง่าย หัวใจเต้นเร็ว ตื่นเต้นง่าย ต่อมาจะมีอาการคล้ายคนเมาเหล้าอย่างอ่อนเนื่องจากกัญชา ออกฤทธิ์กดประสาทผู้เสพจะมีอาการง่วงนอน ซึม หายใจถี่เห็นภาพลวงตา ภาพหลอนต่าง ๆ เกิดอาการ หูแว่ว ตกใจง่าย วิตกกังวล หวาดระแวง บางรายคลื่นไส้อาเจียนความจำเสื่อมความคิดสับสนเพ้อคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้มีอาการทางจิต นอกจากนี้สารพิษในกัญชายังทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดโรคอื่น ๆ ได้ง่าย เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอดทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลงเกิดความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม  

 

สาธารณสมบัติ

 

กระท่อม (KRATOM)     


ลักษณะทั่วไป  กระท่อมเป็นพืชยืนต้นขนาดกลางชนิดหนึ่ง พบมากในแถบทวีปเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย ไทย ฯลฯ (จัดเป็นยาเสพติดประเภท ๕ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒) ลักษณะใบคล้ายใบกระดังงาหรือใบฝรั่ง มีดอกกลมโตเท่าผลพุทรา มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น กระทุ่มโคก กระทุ่มพาย การเสพจะใช้ส่วนที่เป็นใบเคี้ยวสด หรือตากแห้งแล้วบดหรือหั่นเป็นผงหยาบนำไปผสมกับน้ำร้อนดื่มแทนใบชาจีน
อาการผู้เสพติดกระท่อม ผู้เสพใบกระท่อม จะพบว่าร่างกายทรุดโทรมมาก เนื่องจากสุขภาพร่างกายทำงานเกินกำลังลักษณะที่เห็นชัด คือ ผิวหนังตามร่างกายแห้งเกรียมดำ ปากแห้ง แก้มเป็นจุดดำ ๆ และมีอาการนอนไม่หลับ ท้องผูก อุจจาระเป็นสีเขียวคล้ายมูลแพะ และหากเสพเข้าสู่ร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้สภาพจิตใจสับสนอาจมีอาการทางประสาทและเมื่อไม่ได้เสพจะมีอาการขาดยา ร่างกายจะอ่อนเพลียปวดเมื่อยตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ อารมณ์หงุดหงิด กระวนกระวาย เบื่ออาหารคลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ

 

CC BY-SA 3.0

 

เห็ดขี้ควาย (PSILOCYBE CUBENSIS MUSHROOM)     


ลักษณะทั่วไป เป็นเห็ดพิษที่มักขึ้นอยู่ตามมูลความแห้ง และมีขึ้นอยู่ทั่วไปแทบทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกกันในบรรดานักท่องเที่ยวว่า MAGIC MUSHROOM (จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒) ลักษณะของเห็ดขี้ควายมีสีเหลืองซีดคล้ายสีฟางแห้ง บริเวณส่วนบนของหัวเห็ดที่มีรูปร่างคล้ายร่ม จะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำบริเวณก้านตอนบนใกล้ตัวร่ม มีแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ สีขาวคล้ายวงแหวนแผ่อยู่รอบก้าน เห็ดขี้ควายพบได้ทั้งในสภาพที่เป็นเห็ดสดและเห็ดตากแห้ง ผู้ที่เสพหรือบริโภคเห็ดชนิดนี้เข้าไปร่างกายจะได้รับสารพิษ เช่นไซโลลีน และไซโลไซลีน ซึ่งเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ในการหลอนประสาท ทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรง ผู้เสพติดจะมีอาการมึนเมา จนอาจถึงขั้นเสียชีวิต 
อาการผู้เสพติดเห็ดขี้ควาย ผู้ที่เสพหรือบริโภคเห็ดพิษจะรู้สึกร้อนวูบวาบ ตามเนื้อตัว แน่นหน้าอก ตาพร่า อึดอัดรู้สึกไม่สบาย คลื่นไส้อาเจียน อาการดังกล่าวจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณของการเสพ และสภาพร่างกายของผู้เสพเป็นสำคัญ ในกรณีที่เสพหรือบริโภคเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก หรือร่างกายมีภูมิต้านทานน้อยฤทธิ์ของสารพิษอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ และบางรายก็อาจจะมีอาการมึนเมา เคลิ้ม ประสาทหลอน ตาพร่า ความคิดสับสน มีอาการแปรปรวนทางจิต อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพ้ออาจบ้าคลั่งได้

 

สาธารณสมบัติ

 

แอมเฟตามีน (AMPHETAMINE) 

  
ลักษณะทั่วไป   แอมเฟตามีน มีลักษณะเป็นผงผลึกมีขาว ไม่มีกลิ่น รสขม มีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง (จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท ๒ ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.๒๕๑๘) มีชื่อเรียกทางการค้าต่าง ๆ กัน เช่น เบนซีดรีน ฟีนามีน ฯลฯ แต่ในกลุ่มผู้ใช้หรือเสพนิยมเรียกกันว่า ยาบ้า ยาขยัน ยาแก้ง่วง ยาโด๊ป ยาเพิ่มพลัง ฯลฯ ผงแอมเฟตามีน ๑ กรัม ละลายได้ในน้ำ ๙ ซี.ซี.(มิลลิลิตร) และละลายได้ในแอลกอฮอล์ ๕๐๐ ซี.ซี.(มิลลิลิตร) แต่จะไม่ละลายในอีเทอร์ ผงแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เมื่อนำมาผลิต-อัดเป็นเม็ดยาแล้วจะมีลักษณะเม็ดยา เช่น เม็ดกลมแบน รูปเหลี่ยม รูปหัวใจ หรืออาจเป็นแคปซูล มีสีต่างกัน เช่นสีขาว สีน้ำตาล สีเหลือง แต่ที่พบส่วนมากจะเป็นสีขาว เม็ดกลมแบน มีสัญลักษณ์บนเม็ดยา เช่น รูปหัวม้า, LONDON, 99, รูปดาว 
อาการของผู้เสพติดแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ฤทธิ์ของแอมเฟตามีน (ยาบ้า) จะส่งผลกระทบต่อผู้เสพ ก่อให้เกิดอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังต่อไปนี้ คือ อาการทางกาย ผู้เสพแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ประมาณ ๒๐ - ๓๐ กรัมต่อวัน จะมีอาการเบื่ออาหาร พูดมาก ตื่นเต้นง่าย มือสั่น คลื่นไส้ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วและแรง ไม่รู้สึกง่วง เหงื่อออกมาก กลิ่นตัวแรง ปากและจมูกแห้ง หน้ามัน ทำงานได้นานเกินกว่าปกติ รูม่านตาเบิกกว้าง สูบบุหรี่จัด ท้องเสีย มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย  

 

CC BY-SA 3.0

 

อีเฟดรีน (EPHEDINE) หรือ ยาอี (Extacy)     


ลักษณะทั่วไป  เป็นผงละเอียดสีขาว เมื่อนำมาผลิตเป็นเม็ดยาจะมีหลายลักษณะ เช่น เป็นเม็ดกลมแบน ชนิดน้ำบรรจุหลอด และชนิดแคปซูล มีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่นเดียวกับแอมเฟตามีน (ยาบ้า) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท ๒ ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งจากเดิม อีเฟดรีน จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท ๓ แต่เนื่องจาก ได้มีการนำอีเฟดรีนมาใช้ในทางที่ผิด มีการนำมาเสพแทนแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ก่อให้เกิดปัญหาต่อชีวิตและทรัพย์สินส่วนรวมอย่างมากมาย จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และจัดให้อีเฟดรีนทั้งชนิดน้ำและทุกตำรับยาที่มีส่วนผสมของอีเฟดรีนเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท ๒ 
อาการของผู้เสพติดอีเฟดรีน ผู้เสพยาอีเฟดรีน จะมีอาการคล้ายคลึงเช่นเดียวกับผู้เสพแอมเฟตามีน (ยาบ้า) กล่าวคือฤทธิ์ของอีเฟดรีน จะกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ผู้เสพสามารถทำงานได้นานมีอาการตื่นเต้นง่าย ใจสั่น ไม่รู้สึกง่วงนอน เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูง ฯลฯ หากเสพติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดอาการประสาทหลอน เป็นโรคจิต บางรายที่เสพยาเข้าสู่ร่างกายเกินขนาดจะเกิดอาการประสาทหลอน เป็นโรคจิต บางรายที่เสพยาเข้าสู่ร่างกายเกินขนาดจะเกิดอาการใจสั่น มือเท้าเกร็งและชา ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจลำบาก  

 
 

ครอบครองยาเสพติดเกินกำหนดให้สันนิฐานว่ามีเพื่อจำหน่าย

 
ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับนี้ แก้ไขเกี่ยวกับปริมาณการครอบครองยาเสพติดประเภทต่าง ๆ เพื่อจำหน่าย จากเดิมที่กำหนดว่าการครอบครองให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่ายแน่นอน แต่ร่างฉบับนี้แก้ไขให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อครองครองไว้ก่อน
 
 
เช่น "การมียาเสพติดประเภท 2 ไว้ในครอบครอง ตั้งแต่ 100 กรัมขึ้นไป (มาตรา 17 วรรคสอง)  หรือ "การมียาเสพติดประเภท 4 และประเภท 5 ไว้ในครอบครอง ตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป” (มาตรา 26 วรรคสอง) ตามกฎหมายเก่า “ให้ถือว่า” เป็นการมีไว้เพื่อจำหน่าย แต่ร่างแก้ไข “ให้สันนิฐานว่า” มีไว้เพื่อจำหน่าย
 
 
และ “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 1 ตามปริมาณต่าง ๆ “ให้ถือว่า” เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย” แต่ร่างแก้ไขใช้คำว่า “ให้สันนิษฐานว่า” เป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย " (มาตรา 15 วรรคสาม)
 
 
การเปลี่ยนคำว่า “ให้ถือว่า” เป็นคำว่า “ ให้สันนิษฐานว่า” จะช่วยให้พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนให้เห็นถึงพฤติการณ์และเจตนาอันแท้จริงของผู้กระทำความผิด พร้อมกันนั้นยังเป็นการช่วยให้ผู้พิพากษาได้มีอิสระมากขึ้นในการใช้ดุลยพินิจเพื่อการกำหนดโทษแก่จำเลย ประกอบกับจำเลยสามารถอ้างข้อเท็จจริงต่างๆ ขึ้นต่อสู้ในศาลได้ เพื่อพิสูจน์เจตนาของตน ทั้งนี้เพื่อเป็นการจับผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 

ร่างมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ

 
"การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
 
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
 
(2) แอมเฟตามีน หรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่สารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักบริสุทธิ์ตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
 
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวนเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป
 
 

จำหน่ายยาเสพติดโทษ "จำคุกตลอดชีวิต" ถึง "ประหารชีวิต"

 
 
ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มีการแก้ไขอัตราลงโทษเกี่ยวกับการครอบครองยาเสพติดประเภทที่ 1 ให้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น การผลิต นำเข้า หรือส่งออก เดิมที่จำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียว เป็นเพิ่มอัตราโทษขั้นต่ำอย่างน้อยสิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต, การทำเพื่อจำหน่าย จากเดิมต้องประหารชีวิตอย่างเดียว เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต และเพิ่มค่าปรับ เป็นต้น
 
 
มาตรา 65 วรรคหนึ่ง จะเห็นว่าได้ว่ามีการเปลี่ยนอัตราโทษ "ผู้ที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออก" ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ให้ยืดหยุ่นขึ้น เพราะเดิมมีแต่อัตราโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงค่าปรับเท่าเดิม
 
 
 

กฎหมายเดิม

จำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท"

ร่างแก้ไข

จำคุกตั้งแต่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท

 

 

มาตรา 65 วรรคสอง จะเห็นได้ว่าเดิม "การจำหน่ายยาเสพติด" ประเภทที่ 1 มีอัตราโทษประหารชีวิตอย่างเดียว แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขในเรื่องอัตราโทษและเพิ่มในเรื่องค่าปรับขึ้นใหม่ 
 
 
 

กฎหมายเดิม

ประหารชีวิต

ร่างแก้ไข

จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

 

 
มาตรา 65 วรรคสาม จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับเดิมได้มีการกำหนดปริมาณยาเสพติด ตามมาตรา 15 วรรคสาม หากมีการแบ่งบรรจุตามปริมาณที่กฎหมายกำหนดก็จะทราบบทโทษที่ชัดเจน แต่ร่างแก้ไขตัดส่วนของการกำหนดปริมาณทิ้งไปจึงมีความคลุมเครือว่าการบรรจุอย่างไร ปริมาณเท่าไร จึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้  
 
 
 

กฎหมายเดิม

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างแก้ไข
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 
มาตรา 65 วรรคสี่ ยังคงข้อความไว้เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ "ถ้าการกระทำผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท"
 
 
มาตรา 67 จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับเดิมได้มีการกำหนดปริมาณยาเสพติดตามมาตรา 15 วรรคสาม หากมีการแบ่งบรรจุตามปริมาณที่กฎหมายกำหนดก็จะทราบบทโทษที่ชัดเจน แต่ร่างแก้ไขตัดส่วนของการกำหนดปริมาณทิ้งไปจึงมีความคลุมเครือว่าการบรรจุอย่างไร ปริมาณเท่าไร จึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้ เช่นเดียวกับมาตรา 65 วรรคสาม  
 
 
กฎหมายเดิม  
ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่างแก้ไข

ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ข้อมูล : รวมกฎหมายยาเสพติด 2563

Image by Arek Socha from Pixabay 

++++++++++

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง