ภารกิจอาร์เทมิส 1 งานเข้า ! พายุโซนร้อนนิโคลเข้าถล่มฟลอริดา
เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 10 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา (เวลาในสหรัฐอเมริกา) พายุโซนร้อนนิโคลได้เข้าถล่มรัฐฟลอริดา ทางตอนใต้ของแหลมคะแนเวอรัล ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ที่จรวดเอสแอลเอส (SLS หรือ Space Launch System) กำลังประจำการอยู่ ณ ฐานปล่อยจรวด 39บี (39B) เพื่อรอส่งยานอวกาศโอไรออน (Orion) ในภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1) ที่จะถึงเร็ว ๆ นี้
ความรุนแรงของพายุโซนร้อนนิโคล
โดยความรุนแรงของพายุโซนร้อนนิโคลถูกจัดอยู่ในระดับพายุเฮอร์ริเคนจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) ซึ่งภาพเรดาร์ได้เผยให้เห็นว่าพายุทำให้เกิดลมแรง 75 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเดินทางไปถึงชายฝั่งฟลอริดาในเวลาตี 3 ของวันที่ 10 พฤศจิกายน 2022 (เวลาในสหรัฐอเมริกา) หลังจากนั้นมันได้เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็ว 14 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านเซนทรัล ฟลอริดาสู่อ่าวเม็กซิโก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจรวดเอสแอลเอสได้ถูกออกแบบมาให้ทนต่อลมได้สูงถึง 85 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 137 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ระหว่างที่พายุโซนร้อนนิโคลเคลื่อนตัวผ่าน มีรายงานว่ามีบางช่วงที่ความเร็วลมสูงกว่าความเร็วลมที่จรวดเอสแอลเอสสามารถทนได้ และเซนเซอร์ ณ ฐานปล่อยจรวด 39บี ได้บันทึกความเร็วลมสูงสุดไว้ได้ถึง 100 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องคำนึงถึงก็คือปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากฝนที่ตกหนัก “จรวดเอสแอลเอสได้รับการออกแบบมาให้ทนต่อฝนตกหนักที่ฐานปล่อยจรวด และช่องยานอวกาศได้รับการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการบุกรุกของน้ำ” - นาซา (NASA) แถลง
ภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1) อาจถูกเลื่อน
โดยตอนนี้ยังไม่มีแถลงการณ์ที่แน่ชัดจากนาซาว่าภารกิจอาร์เทมิส 1 จะถูกเลื่อนการปล่อยตัวจากกำหนดการล่าสุดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 นี้หรือไม่ เพื่อให้บุคลากรสามารถหลบภัยจากพายุได้ แต่หากการปล่อยตัวภารกิจอาร์เทมิส 1 ถูกเลื่อนออกไปอีก ชิ้นส่วนบางส่วนของจรวดเอสแอลเอสอาจต้องเปลี่ยนใหม่ เนื่องจากเลยกำหนดการรับประกันอายุการใช้งาน
ข้อมูลและภาพจาก www.nasa.gov