ค่า SpO2 เกี่ยวข้องอะไรกับโควิด-19
ปัจจุบันสิ่งที่พบมากขึ้นในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้คือ ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ แต่ปอดมีความผิดปกติ ส่งผลให้ให้ร่างกายของผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็วจากภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia) และเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตหากได้รับการรักษาที่ไม่ทันการณ์ การสังเกตอาการตนเองด้วยการวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) จึงเป็นอีกหนึ่งการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ
วันนี้ trueID จะพาไปรู้จักค่า SpO2 และภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ว่าทำไมถึงมีความสำคัญกับการรักษาอาการโควิด-19
ค่า SpO2 คืออะไร?
SpO2 หรือในชื่อที่เข้าใจง่ายๆคือ ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด [หรือบางคนจะเรียกว่า Pulse Ox]
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น ถ้าเรามีค่า SpO2 สูง อวัยวะต่างๆของร่างกายก็สามารถนำออกซิเจนในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ แต่ถ้าเรามีค่า SpO2 ต่ำ อวัยวะต่างๆ ก็จะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และจะมีผลต่อระบบการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบประสาทและสมอง ดังนั้นค่า SpO2 ถึงเป็นอีกค่าหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นอีกค่าหนึ่งที่บอกประสิทธิภาพการทำงานของปอด ได้อย่างดี
อะไรคือ "ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน"
ภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เกิดอาการผิวหนังซีดหรือเป็นสีเขียว ไอ มีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว เมื่อหายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ หรือหายใจลำบาก มีอาการสับสนมึนงง หากปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำอย่างต่อเนื่องและสะสมเป็นเวลานาน อาจเกิดภาวะโคมาและเสียชีวิตได้ในที่สุด
ปกติแล้วค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด หรือค่า SpO2 ควรจะอยู่ที่ 96-99% ของความอิ่มตัวสูงสุดในเลือดขณะพัก ซึ่งค่า SpO2 ที่ลดลงเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ
- ระบบทางเดินหายใจ เช่น เกิดการอุดกั้นหรือการติดเชื้อ ทำให้พื้นที่แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนลดลง
- ระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ ภาวะช็อกจากสาเหตุต่าง ๆ
- ระบบเม็ดเลือด เช่น เม็ดเลือดแดงน้อย (โรคโลหิตจาง)
- ระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย เช่น ความผิดปกติของสมอง กล้ามเนื้อ หรือได้รับยาที่กดการหายใจ
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น อยู่ในบริเวณที่มีปริมาณออกซิเจนเบาบาง (บนยอดเขา, บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้), ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ (เกิดการอุดกั้นในปอด)
จะเห็นได้ว่าภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนไม่ได้เกิดจากโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น การวัดระดับค่า SpO2 แล้วพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ใช่การวินิจฉัยว่าคุณติดโควิด-19 หรือไม่ แต่การวัดระดับค่า SpO2 คือวิธีการหนึ่งในการติดตามอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19
ค่า SpO2 กับโรคโควิด-19
ค่า SpO2 ได้รับการพูดถึงในสื่อไทยมากขึ้น จากประกาศของกรมการแพทย์ เรื่อง “แนวทางการคัดกรองผู้ป่วย COVID-19 ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564” ที่ได้แบ่งระดับอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือผู้ป่วยที่สบายดีไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น มีประวัติไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5°C ขึ้นไป ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว แต่ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ
- ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง คือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ แต่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และภาวะเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม
- ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดบวม เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96% หรือภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง และผู้ป่วยที่เอกซเรย์แล้วพบว่าปอดอักเสบรุนแรง
การแบ่งกลุ่มดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญคือ ระบบทางเดินหายใจ (การหายใจและอาการเหนื่อยหอบ) โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกรายเมื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษา จะได้รับการวัดค่า SpO2 ทุกวัน ซึ่งนี่เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุดในการติดตามการทำงานของปอด ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่เชื้อไวรัสจะเข้าไปโจมตีนั่นเอง
ในกรณีผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ หรือผู้ที่ได้รับคำแนะนำให้เฝ้าติดตามอาการที่บ้าน การวัดค่า SpO2 ที่เป็นตัวบ่งชี้การทำงานของปอด จะทำให้แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถคัดกรอง และแยกกลุ่มผู้ป่วยตามระดับความรุนแรงของโรคได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด
การตรวจวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดหรือค่า SpO2 สามารถทำได้ 2 แบบคือ การเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดแดง และการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) โดยวิธีหลังนี้จะรู้ผลอย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้เกิดบาดแผล และไม่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วย ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก
รูปภาพโดย ฟอร์ม PxHere
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมีลักษณะคล้ายไม้หนีบผ้า โดยใช้ หลักการดูดกลืนแสง (Absorption) ในการตรวจวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด กล่าวคือ เมื่อแสงเดินทางผ่านฮีโมโกลบิน (Hemoglobin – โมเลกุลที่อยู่ภายในเม็ดเลือดแดง และมีหน้าที่ในการยึดจับกับออกซิเจนแล้วนำส่งไปที่ปอด) จะทำการดูดกลืนแสงไว้ แสงที่เหลืออยู่จะเดินทางผ่านทะลุไปยังอีกด้านของเครื่องวัด ทำให้สามารถอ่านค่า SpO2 ได้นั่นเอง
ภาพโดย charlykushu จาก Pixabay
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ประชาชนสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา ราคาแตกต่างกันไปตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต เช่น หน้าจอแสดงผล ความจุแบตเตอรี่ แต่โดยรวมแล้วใช้หลักการเดียวกันในการตรวจวัด
ทั้งนี้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) ในทางการแพทย์แล้ว มีความแม่นยำน้อยกว่าการเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดแดง ผลการตรวจวัดที่ได้จึงอาจมีความคลาดเคลื่อน การวัดระดับค่า SpO2 จากเครื่อง Pulse Oximeter แล้วพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานไม่ใช่การวินิจฉัยว่าคุณติดโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งการวัด SpO2 จาก Smart Watch หรือ Smart Band ก็เช่นกัน ก็มีความคาดเคลื่อนได้
นอกจากนี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีบางรายยังคงย้ำเตือนว่า ผลการตรวจวัดที่ได้จากอุปกรณ์เป็นเพียงข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ การตรวจวัดดังกล่าวอาจมีปัจจัยภายนอกบางอย่างที่รบกวนการตรวจวัด ทำให้ผลที่ได้ไม่แม่นยำหรือล้มเหลว (ซึ่งสีผิวก็เป็นหนี่งในปัจจัยที่ทำให้การวัด SpO2 ด้วยอุปกรณ์เหล่านี้มีความคาดเคลื่อน)
ค่าปกติของ SpO2 คือเท่าไหร่?
ซึ่งโดยปกติแล้ว SpO2 ในระหว่างวันที่นาฬิกาวัดได้ควรจะอยู่ที่ 95-100 ถือว่าร่างกายปกติ
ค่าออกซิเ จนในเลือด (SpO2) : ต่ำกว่า 95% หมายถึง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่ามาตรฐาน
ค่าชีพจร (Pulse Rate) : น้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที หรือมากกว่า 100 ครั้ง/นาที หมายถึงค่าชีพจรผิดปกติ
สรุปว่าการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (ค่า SpO2) จึงเป็นการติดตามอาการโรคโควิด-19 ของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อย และเพื่อป้องกันภาวะอันตราย ไม่ใช่การวินิจฉัยว่าคุณติดโควิด-19 หรือไม่
ที่มา : กรมการแพทย์ , healthline , พบแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- รู้จัก"หมอพร้อม" วัคซีนโควิดพร้อม คนไทยพร้อมหรือยัง?
- รวมเบอร์สายด่วน"โควิด-19" รู้ไว้รับมือทัน!
- เปิดสถานที่ตรวจ "โควิด-19 ฟรี" เช็คเลย!
- รู้จัก “โควิดสายพันธุ์อังกฤษ” สู่ “โควิดทองหล่อ” ที่วัคซีนป้องกันได้?
- วิธีปฏิบัติ หากติดโควิด ทำตามขั้นตอนนี้เลย
- “โควิด-19” ทำให้เครียดหรือเปล่า? รับมือให้ทันก่อนจะเครียดเพราะโควิด
- Work from home อีกครั้ง ลืมไปหรือยังว่าต้องทำยังไงให้ได้งาน ?
- ไทยเซฟไทย ใช้งานต่างจาก หมอชนะ และไทยชนะ หรือเปล่า?
- 7 ประกันโควิด-19 เบี้ยไม่เกิน 500/ปี เดือนเมษา 64
- ติดโควิด-19 แต่ยังไม่ได้ไปหาหมอ ต้องกักตัวอย่างไร?