รีเซต

ประชุมน้ำบาดาลอาเซียน ไทยเป็นเจ้าภาพ หนุนใช้เทคโนโลยี บริหารน้ำอย่างยั่งยืน

ประชุมน้ำบาดาลอาเซียน ไทยเป็นเจ้าภาพ หนุนใช้เทคโนโลยี บริหารน้ำอย่างยั่งยืน
TNN ช่อง16
5 พฤษภาคม 2568 ( 11:00 )
8

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วย “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN Groundwater Management) ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพมหานคร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการจัดการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน

การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา และวิศวกรรมทั้งจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล โดยหนึ่งในโครงการสำคัญที่ไทยดำเนินการอยู่ คือ การจัดทำ “แผนที่น้ำบาดาล” ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์และวางระบบบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1 คือการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ระบุว่า ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำบาดาล โดยมีกฎหมายสำคัญอย่าง พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกลไกหลักในการควบคุมการใช้น้ำบาดาลอย่างยั่งยืน ทั้งยังได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ ทั้งในด้านการศึกษาวิจัยและการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในฐานะผู้นำด้านการจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลในภูมิภาคอาเซียน


ทั้งนี้ น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงด้านน้ำของภูมิภาคอาเซียน แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความสนใจในเวทีระดับภูมิภาคอย่างเพียงพอ การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่อาจนำไปสู่การผลักดันประเด็นน้ำบาดาลให้เป็นวาระหลักของอาเซียน โดยผลการประชุมจะถูกนำเสนอในการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

ในส่วนของการใช้น้ำบาดาลในประเทศไทย ปัจจุบันยังมีศักยภาพในการบริหารจัดการเพิ่มขึ้นได้ แต่ควรใช้อย่างมีเป้าหมาย โดยเน้นในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำประปา หรือประสบภัยแล้งซ้ำซาก และเน้นใช้เพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก การเจาะสำรวจน้ำบาดาลจะพิจารณาจากบริบทของพื้นที่ เริ่มตั้งแต่การสำรวจธรณีฟิสิกส์บนผิวดินเพื่อระบุตำแหน่งที่คาดว่ามีศักยภาพ ไปจนถึงการประเมินคุณภาพน้ำก่อนส่งเสริมการใช้งาน โดยการทำงานจะประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อกำหนดจุดเจาะและเดินท่อส่งน้ำสะอาดอย่างเป็นระบบ

ข้อมูลปี 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีปริมาณน้ำบาดาลเหลือใช้อยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีสัดส่วนการใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรมากที่สุด เฉลี่ยปีละกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 87) รองลงมาคือ การใช้อุปโภคบริโภคประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (ร้อยละ 8) และการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม 777 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (ร้อยละ 5)

การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทผู้นำในเวทีภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน สู่ความมั่นคงด้านน้ำในอาเซียนในระยะยาว

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง