แคปซูลยานโซยุซของรัสเซียที่มีรอยรั่วกลับสู่โลกแบบไร้นักบินอวกาศ
วันที่ 28 มีนาคม แคปซูลยานโซยุซของรัสเซียที่เสียหายมีรอยรั่วเดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยแบบไร้นักบินอวกาศอยู่ภายในยานอวกาศ ยานลงจอดด้วยร่มชูชีพบริเวณประเทศคาซัคสถาน แม้ว่ายานจะออกจากวงโคจรโดยใช้เวลาเพียง 55 นาที ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่ใช้ปกติประมาณ 2 ชั่วโมง 50 นาที รวมไปถึงเครื่องยนต์ทำงานขณะแยกตัวออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ ISS นานกว่าปกติเล็กน้อย
ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2022 ยานอวกาศโซยุส เอ็มเอส-22 (Soyuz MS-22) เดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ประกอบด้วย เซอร์เกย์ โปรโคปีเยฟ, ดมิตรี เปเตลิน ของรัสเซียและนักบินอวกาศแฟรงก์ รูบิโอ ของนาซา โดยมีกำหนดระยะเวลาภารกิจ 6 เดือน
ต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคม 2022 เจ้าหน้าที่รัสเซียได้ค้นพบรอยรั่วบนผิวด้านนอกของยานอวกาศโซยุส เอ็มเอส-22 (Soyuz MS-22) ขนาด 0.8 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นของยานอวกาศมีปัญหาและของเหลวพ่นออกมาสู่อวกาศ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ารอยรั่วดังกล่าวเกิดจากการชนของอุกกาบาตขนาดเล็ก
สำหรับระบบหล่อเย็นของยานอวกาศมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีพของนักบินอวกาศ โดยในขั้นตอนการเดินทางกลับโลกยานจะต้องผ่านชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วสูงและอาจทำให้อุณหภูมิภายในยานอวกาศสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
องค์กรอวกาศรัสเซียเลือกที่จะให้นักบินอวกาศทั้ง 3 คน ที่เดินทางขึ้นไปกับยานอวกาศโซยุส เอ็มเอส-22 เดินทางกลับโลกด้วยยานอวกาศโซยุส เอ็มเอส-23 ยานอวกาศลำใหม่ที่ถูกส่งขึ้นไปรับนักบินอวกาศและนำยานอวกาศโซยุส เอ็มเอส-22 เดินทางกลับโลกแบบไร้นักบินอวกาศอยู่ภายในยานอวกาศเพื่อความปลอดภัยสูงสุด แม้ว่าทีมงานวิศวกรจะยืนยันว่าในกรณีฉุกเฉินยานอวกาศลำนี้ยังมีประสิทธิภาพมากพอที่จะรองรับนักบินอวกาศ 2 คน ได้ก็ตาม
แม้ว่าขณะเดินทางกลับโลกภายในยานอวกาศโซยุส เอ็มเอส-22 (Soyuz MS-22) จะไม่มีนักบินอวกาศ แต่ได้มีการบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ชิ้นส่วนชุดนักบินอวกาศรัสเซีย กล้องบันทึกภาพและอุปกรณ์ดำรงชีพของนักบินอวกาศรัสเซียที่สามารถทนทานต่อความร้อนภายในยานเดินทางกลับโลกมาพร้อมกันด้วย
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Space
ที่มาของรูปภาพ Flickr