จีนเร่งไล่ตามสหรัฐฯ ในเทคโนโลยีชิปเชื่อมต่อสมองผู้ป่วย หวังเทียบชั้น Neuralink ของอีลอน มัสก์

ประเทศจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงรายสำคัญในเทคโนโลยีอินเทอร์เฟซสมอง-คอมพิวเตอร์ BCI หรือ Brain-Computer Interface โดยพัฒนา “Beinao-1” ชิปฝังสมองไร้สายที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสื่อสารได้ด้วยความคิด ความสำเร็จล่าสุดของทีมวิจัยในปักกิ่งกำลังส่งสัญญาณว่า จีนอาจไล่ทันบริษัทชั้นนำอย่าง Neuralink ของอีลอน มัสก์ เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
เทคโนโลยี BCI ทำงานอย่างไร?
เทคโนโลยีอินเทอร์เฟซสมอง-คอมพิวเตอร์ BCI หรือ Brain-Computer Interface ทำงานโดย ตรวจจับและแปลสัญญาณไฟฟ้าจากสมอง ไปเป็นคำสั่งที่คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเข้าใจและตอบสนองได้ เช่น การพิมพ์ข้อความ การควบคุมแขนกล หรือการสั่งงานโปรแกรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องขยับร่างกายหลักการทำงานของเทคโนโลยี BCI ประกอบด้วย
ตรวจจับสัญญาณสมอง ใช้อิเล็กโทรดหรือชิปฝังสมองเพื่อรับสัญญาณคลื่นสมอง เช่น EEG หรือ คลื่นไฟฟ้าสมอง
ประมวลผลสัญญาณ สัญญาณสมองจะถูกกรองและแยกแยะเพื่อลดสัญญาณรบกวน
ถอดรหัสความตั้งใจ โดยใช้ระบบ AI หรืออัลกอริทึมจะวิเคราะห์สัญญาณเพื่อแปลว่าผู้ใช้คิดอะไร เช่น ต้องการพูดคำหนึ่ง หรือขยับแขน
สั่งงานอุปกรณ์ โดยป้อนคำสั่งไปยังอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ หรือแขนกล
Beinao-1 ก้าวแรกของ BCI จีน
ความสำเร็จของจีนเริ่มต้นจากหญิงชราวัย 67 ปี ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ได้ส่งสัญญาณจากสมองแปลงเป็นข้อความภาษาจีนว่า “ฉันอยากกิน” ปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลรัฐ โดยที่เธอไม่จำเป็นต้องออกเสียงแม้แต่น้อย นี่ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ แต่คือผลจากการทดลองฝังชิปอินเทอร์เฟซคอมพิวเตอร์สมองแบบไร้สาย (BCI) ที่มีชื่อว่า “เป่ยเหนา-1” (Beinao-1) ซึ่งเป็นผลงานของศูนย์วิจัยสมองแห่งประเทศจีน (CIBR)
เทคโนโลยีนี้นำโดย ดร.หลัว มินหมิน ผู้อำนวยการ CIBR ซึ่งกล่าวว่าความต้องการเทคโนโลยี BCI มีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการสื่อสาร “มันเหมือนผู้ป่วยได้ควบคุมร่างกายตัวเองอีกครั้ง” เขากล่าว พร้อมตั้งเป้าขยายการทดลองกับผู้ป่วยอีก 50–100 คน ภายในปีหน้า
ปัจจุบันแม้ว่าเทคโนโลยี Neuralink ของ อีลอน มัสก์ ในสหรัฐฯ จะเริ่มต้นก่อน แต่จีนก็กำลังก้าวตามมาติด ๆ โดยปัจจุบัน Beinao-1 ได้ฝังชิปในผู้ป่วยแล้ว 5 ราย เท่ากับ Neuralink ขณะที่ Synchron บริษัทสัญชาติอเมริกันอีกแห่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก เจฟฟ์ เบซอส และ บิล เกตส์ กำลังทดสอบกับผู้ป่วย 10 ราย ในสหรัฐฯ และออสเตรเลีย
แม็กซิมิเลียน รีเซนฮูเบอร์ (Maximilian Riesenhuber) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ระบุว่า “แม้จีนจะเริ่มช้ากว่า แต่ตอนนี้กำลังเร่งเครื่องและผลักดันเทคโนโลยีในบางด้านได้อย่างน่าประทับใจ” โดยเฉพาะในสายงาน BCI แบบไม่รุกราน ซึ่งแม้จะยังล้าหลังในบางจุด แต่ก็มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
เส้นทางเทคโนโลยีสมองของจีน
ศูนย์วิจัยสมองแห่งประเทศจีน (CIBR) ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 หรือ 2 ปี หลังจากการก่อตั้ง Neuralink โดยภายหลังได้แยกตั้งบริษัท NeuCyber NeuroTech มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะด้าน ดร.หลัว ซึ่งเคยศึกษาในสหรัฐฯ และจบปริญญาเอกด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เปิดเผยว่า "ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่เคยไร้เสียงมาหลายปีสามารถพูดได้อีกครั้งผ่านการแปลงคลื่นสมองเป็นข้อความด้วยระบบนี้"
แม้ว่าบริษัทอเมริกันหลายแห่งจะเลือกใช้การฝังชิปเข้าไปในเยื่อสมองโดยตรง เพื่อความแม่นยำของสัญญาณ แต่แนวทางของจีนกลับเน้นความปลอดภัย โดยฝังแบบที่เรียกว่า “กึ่งรุกราน” และยังสามารถถอดรหัสคำพูดได้แม่นยำพอสมควร
รัฐบาลจีนเองก็มองเทคโนโลยี BCI เป็นหนึ่งในแนวหน้าของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ โดยสี จิ้นผิง เรียกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีว่าเป็น “สนามรบ” ทางเศรษฐกิจระดับโลก ส่งผลให้รัฐบาลกลางและท้องถิ่นให้การสนับสนุนทั้งในด้านเงินทุน การวิจัย และการใช้เชิงพาณิชย์
จีนและสหรัฐฯ กำลังแข่งขันแต่ยังไม่ถึงจุดตัดสิน
ในสหรัฐฯ เทคโนโลยี BCI มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุค 1970 โดยได้รับแรงหนุนจากโครงการ Brain Initiative มูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 97,235 ล้านบาท ในยุครัฐบาลโอบามา ปัจจุบันหลากหลายสถาบันในสหรัฐฯ พัฒนาระบบ BCI ที่สามารถเปลี่ยนคลื่นสมองของผู้ป่วย ALS เป็นคำพูดได้อย่างแม่นยำถึง 97% และเปิดทางให้ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยความคิด
จีนแม้จะเริ่มจริงจังในช่วงปลายทศวรรษ 1990 แต่กลับเร่งความเร็วอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังปี 2014 ที่เริ่มมีการวางยุทธศาสตร์ระดับชาติ พร้อมกับการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมาก
“แม้จีนจะเริ่มช้า แต่ก็พัฒนาได้รวดเร็วกว่าหลายประเทศ” ลิลี่ หลิน อดีตนักวิจัยในจีนกล่าว พร้อมเสริมว่า “รัฐบาลยังออกแนวทางจริยธรรมเพื่อกำกับการวิจัยด้านนี้อย่างเป็นระบบ”
ท้ายที่สุด ดร.หลัว สรุปอย่างเป็นกลางว่า เป่ยเหนา-1 และนิวราลิงก์ ต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ไม่อาจเปรียบเทียบกันตรง ๆ “ยังไม่มีข้อสรุปว่าเทคโนโลยีใดจะให้ประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่ากัน” เขากล่าว “เราอาจต้องรอให้การทดลองในมนุษย์พัฒนากว่านี้ ก่อนที่จะตัดสินว่าใครจะเป็นผู้นำในสนามสมองของโลกใบนี้”
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
