รีเซต

ถอดรหัสการเกิด “ลัทธิ” ทำไมความเชื่อที่ "แรงกล้า" ถึงเป็นอันตรายต่อสังคม?

ถอดรหัสการเกิด “ลัทธิ” ทำไมความเชื่อที่ "แรงกล้า" ถึงเป็นอันตรายต่อสังคม?
TNN ช่อง16
5 มิถุนายน 2567 ( 15:03 )
33

ช่วงนี้ สังคมไทยกำลังถกเถียงเรื่อง “ความเชื่อ” อย่างหนัก ไม่ว่าฝ่ายที่ออกมาวิจารณ์ความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งว่าเป็นสิ่งผิด ทำลายสังคม ละเมิดสิทธิเด็ก ขณะที่อีกฝ่ายตอบโต้ว่า เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล และสิ่งที่เขาเชื่อและกระทำก็ไม่ได้ทำร้ายใคร


คำถามน่าสนใจที่ตามมา คือ ทำไมผู้คนถึงเชื่อในบางสิ่งอย่างแรงกล้า จนอาจเรียกได้ว่าถอนตัวไม่ขึ้น


เชื่ออย่างแรงกล้า


เรื่องของความเชื่อม มี 3 องค์ประกอบที่พอจะอธิบายได้ตามองค์ความรู้ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ นั่นคือ 


Pistis หรือการเชื่อร่วมกัน (Trust) 

Doxa หรือความเห็นส่วนตน (Opinion) 

และ Dogma หรือจุดยืนอย่างแรงกล้า (Position)


กล่าวง่าย ๆ คือความเชื่อจะต้องมี “ความเห็นส่วนบุคคลเป็นจุดยืนที่หนักแน่น และต้องมีความเชื่อใจต่อผู้ที่เชื่อแบบเดียวกัน” โดยความเชื่อจะรุนแรงแค่ไหน อยู่ที่ผู้นั้นมีระดับของ 3 อย่างข้างต้นนมากน้อยขนาดไหน


ตัวแปรสำคัญจะอยู่ที่ Pistis หรือการเชื่อใจซึ่งกันและกันของผู้คนที่เชื่อแบบเดียวกัน หากมีมากเข้า จะทำให้เกิดการฟอร์มขึ้นมาเป็นกลุ่มการแสดงออกของสิ่งที่เชื่อร่วมกัน “อย่างแรงกล้า” หรืออาจจะมากกว่านั้น อย่างเช่นการเป็น “ลัทธิ”


ที่สำคัญ ความเชื่อไม่ใช่ความจริง (Unreal) เพราะความเชื่อนั้น เป็นการประกอบสร้างขึ้นมา เพื่อที่จะบอกว่าสิ่งนั้นจริงตามที่เรารับเชื่อ ทั้งที่จริง ๆ อาจจะไม่เป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริงก็ได้


เอมิล ดูร์กไฮม์ (Émile Durkheim) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมนี อธิบายสิ่งนี้ว่าเป็น “Social Fact” หรือ ความจริงที่ขึ้นอยู่กับสังคมใดสังคมหนึ่ง ซึ่งสามารถ “ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้” ให้แก่ผู้ที่เกิดมาในสังคมนั้น ๆ ได้


ความเชื่อเลยเป็นเรื่องของ “องค์รวม (Collective)” ที่กำกับมุมมองความคิด หรือกระทั่งทัศนคติได้แบบหมดจด ซึ่งหากไม่ไตร่ตรอง ความเชื่อก็จะเป็น “เครื่องชี้นำ” อย่างง่ายดาย  เพราะความเชื่อนั้น เมื่อฝังหัวแล้ว ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และในบางครั้ง สิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นเชื่อ ไม่ทำอะไรก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำอะไรที่แปลก ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งสิ้น


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พวก “อามิช” (Amish) ในอเมริกา ที่มีความเชื่อว่าการพัฒนาตามเทรนด์เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ต้องอนุรักษ์ของเดิม ๆ ไว้ รถยนต์ไม่ใช้ ใช้ม้าเทียมเกวียนในการเดินทาง อินเทอร์เน็ตไม่ใช้ เน้นส่งจดหมายแทน


หากคนเหล่านี้อยู่เฉย ๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่พวกเขากลับไปขัดขวางความเจริญที่รัฐบาลอยากจะให้ประเทศก้าวหน้า อาทิ การไม่ให้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านในพื้นที่ของตน หรือลักลอบทำลายเทคโนโลยีต่าง ๆ 


และนี่คือตัวอย่างคำกล่าวของชาวอามิชที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าความเชื่อของพวกเขาแรงกล้า และกำลังท้าทายสังคมอย่างแท้จริง


“สมาร์ทโฟนหนะหรอ เสียเวลาเปล่า การใช้เวลากับสิ่งนี้มากเกินไปจะทำให้เราออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า… หากมีเวลามากขนาดนั้น เอาเวลาไปอ่านคัมภรีโทราห์ [คัมภีร์ชาวยิว] จะดีกว่า”


“สิ่งนี้ทำลายจิตวิญญาณของโลก … ทำลายผู้คนจากภายใน … ภายนอกพวกเขาเป็นอามิช แต่จริง ๆ ภายในได้รับการสปอยล์ไปหมดสิ้น”


“มันเป็นปีศาจที่หลอกหลอนคุณตลอดเวลา เอาไม่ออก ตามไปทุกที่ … พวกมันทำลายความเป็นเรา”


ความเชื่อเปลี่ยนแปลงได้


จะเห็นได้ว่า ความเชื่อนั้นมีอันตรายแฝงอยู่สูงมาก แม้จะเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่จะมีสิทธิเชื่ออะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อสิ่งที่เชื่อนั้นแรงกล้า ก็จะเกิด “ความขัดแย้ง” กับบรรดาความเชื่ออื่น ๆ ได้ง่าย และจะนำมาซึ่งความไม่พอใจ และปะทะกันในบั้นปลาย


แต่ความเชื่อนั้น “สามารถเปลี่ยนแปลงได้” แม้จะทำไม่ง่ายก็ตาม


ในงานศึกษา Why and When Beliefs Change ที่ได้เสนอตามกฎของเบย์ส (Bayesian) ว่าคนเราจะเปลี่ยนความเชื่อได้ ก็ต่อเมื่อสิ่งที่ตนเชื่อนั้น เริ่มไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่ตนนั้นต้องการ โดยที่มีความเชื่อใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ไขว้เขวว่า แท้จริงสิ่งที่เคยเชื่อนั้นสมควรที่จะเชื่อต่อไปหรือไม่


ตัวอย่างเดิม คือพวกอามิช ในที่สุด พวกเขาก็ยอมรับว่า สิ่งที่พวกเข้าคิดว่าเป็นของเก่า ไม่ตามสมัยเทคโนโลยี แท้จริงก็เป็นเทคโนโลยีเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดคือ “ล้อรถ” ที่เป็นเทคโนโลยีจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ให้เดินทางไปทำสงครามระหว่างอาณาจักรได้ง่ายขึ้น


หรือกระทั่งการยอมให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงบางส่วน “เพื่อการค้าขาย” ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้


นับว่า ความเชื่อนั้น บางทีก็อาจจะพ่ายแพ้ “เรื่องปากท้อง” อยู่ไม่น้อยเช่นกัน


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง




ข่าวที่เกี่ยวข้อง