รีเซต

โควิด-19 : เหตุใดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย

โควิด-19 : เหตุใดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย
ข่าวสด
11 มิถุนายน 2563 ( 11:43 )
171

โควิด-19 : เหตุใดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย - BBCไทย

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติโดยมนุษย์จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้โรคที่เกิดในสัตว์ป่าแพร่ระบาดมายังมนุษย์ได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลในอังกฤษกำลังพยายามศึกษาว่า โรคภัยใหม่ ๆ มาจากไหนและเริ่มแพร่ระบาดได้อย่างไร พวกเขากำลังพัฒนาระบบสังเกตรูปแบบซึ่งจะช่วยคาดการณ์ได้ว่าโรคชนิดไหนในสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงแพร่ระบาดมายังมนุษย์มากที่สุด

เป็นครั้งที่หลบไม่พ้น

ศาสตราจารย์แมตธิว เบย์ลิส จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลบอกกับบีบีซีว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเผชิญภัยโรคระบาดร้ายแรง 5 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส (SARS), โรคเมอร์ส (MERS), โรคอีโบลา (ebola), โรคไข้หวัดนก (Avian influenza) และโรคไข้หวัดหมู (swine flu) แต่โรคโควิด-19 เป็นกระสุนนัดที่หกที่ยิงมนุษยชาติเข้าอย่างจัง

"และนี่ไม่ใช่การระบาดใหญ่ครั้งสุดท้ายที่เราจะเผชิญ ดังนั้นเราต้องศึกษาอย่างลงลึกมากขึ้นถึงโรคที่เกิดขึ้นในสัตว์ป่า" ศ.เบย์ลิส กล่าว

Science Photo Library
นักวิจัยศึกษาโรคอีโบลาโดยใช้ตัวอย่างจากค้างคาวป่าซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์

 

เขาและเพื่อนนักวิจัยได้ออกแบบระบบสังเกตรูปแบบโรค ซึ่งจะใช้ฐานข้อมูลเกี่ยวกับโรคในสัตว์ป่าที่รู้จักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ปรสิต และไวรัส ที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักนับหลายพันชนิด

ระบบนี้จะพยายามหาคำตอบจากจำนวนและชนิดสัตว์ที่เชื้อโรคเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อไปได้ และก็ใช้ข้อมูลตรงนี้ช่วยคาดเดาว่าเชื้อโรคใดที่มีความเสี่ยงต่อมนุษย์ที่สุด

หากเชื้อโรคไหนเสี่ยงที่สุด นักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะสามารถเริ่มต้นทำการวิจัยเพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาเลยก่อนที่จะเกิดการระบาด

Getty Images
อูฐสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคเมอร์สได้

บทเรียนจากการล็อกดาวน์

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายป่า และรุกล้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีส่วนช่วยทำให้โรคระบาดจากสัตว์มาสู่มนุษย์บ่อยขึ้น

ศาสตราจารย์เคต โจนส์ จากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน บอกว่า หลักฐานบ่งบอกว่าโดยรวมแล้ว ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพน้อยลงเพราะมนุษย์ มักเชื่อมโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในคน

เธอบอกว่าไม่เป็นเช่นนั้นกับโรคทุกโรค แต่บ่อยครั้งที่สายพันธุ์สัตว์ป่าที่คงทนต่อการรบกวนและรุกล้ำของมนุษย์ได้ดีที่สุด เช่น สัตว์จำพวกหนู ดูจะเป็นผู้รับและแพร่เชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ดังนั้นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพสามารถสร้างสถานการณ์เสี่ยงที่มนุษย์และสัตว์ป่าจะเชื่อมโยงกัน และยิ่งเพิ่มโอกาสให้ไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตบางประเภทแพร่มายังมนุษย์ได้"

ยกตัวอย่างเช่นโรคสมองอักเสบนิปาห์ เมื่อปี 1999 ที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นการแพร่เชื้อไวรัสจากค้างคาวผลไม้ไปยังฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมป่า ค้างคาวผลไม้กินผลไม้ ก่อนที่หมูจะกินผลไม้ดังกล่าวซึ่งเต็มไปด้วยน้ำลายค้างคาวต่อ

BBC

นี่ส่งผลให้คนงานกว่า 250 คนติดเชื้อจากหมู และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 40-75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกรณีของโควิด-19 ที่อยู่แค่ราว 1 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อ

ศาสตราจารย์อีริค ฟีเวอร์ จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลและสถาบันวิจัยปศุสัตว์นานาชาติที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา บอกว่าต้องเฝ้าสังเกตบริเวณที่เสี่ยงเกิดการระบาดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่มีอาณาเขตติดกับป่า ตลาดซึ่งมีการซื้อขายสัตว์ ซึ่งล้วนผนวกเขตแดนระหว่างที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์เข้าด้วยกัน

"โรคใหม่ ๆ ระบาดในมนุษย์สามถึงสี่ครั้งต่อปี ไม่ใช่แค่ในเอเชียหรือแอฟริกา แต่ที่ยุโรปและสหรัฐฯ ก็ด้วย" ศ.ฟีเวอร์ กล่าว

Getty Images
ถนนตัดผ่านกลางป่าดิบชื้น

นี่เป็นเหตุผลที่ศ.เบย์ลิส มองว่าการเฝ้าระวังสำคัญมาก เพราะมนุษย์ได้สร้างสภาวะที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเกิดการระบาดใหญ่

ศ.ฟีเวอร์ บอกว่า วิกฤตปัจจุบันเป็นบทเรียนที่บอกเราว่าสิ่งที่เรากระทำต่อโลกธรรมชาติสามารถสร้างผลกระทบได้อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง