รีเซต

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจกำลังมีวิวัฒนาการ กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพื่อให้มนุษย์ติดเชื้อง่ายขึ้น

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจกำลังมีวิวัฒนาการ กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพื่อให้มนุษย์ติดเชื้อง่ายขึ้น
ข่าวสด
11 พฤษภาคม 2563 ( 18:23 )
283
1
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจกำลังมีวิวัฒนาการ กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพื่อให้มนุษย์ติดเชื้อง่ายขึ้น

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจกำลังมีวิวัฒนาการ กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพื่อให้มนุษย์ติดเชื้อง่ายขึ้น - BBCไทย

ผลวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนมของไวรัสซาร์สซีโอวีทู (SARS-CoV-2) ราว 5,350 ตัวอย่างจาก 62 ประเทศทั่วโลก ชี้ว่าไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งแบ่งได้เป็นสองสายพันธุ์ใหญ่ ๆ บางส่วนมีการกลายพันธุ์ของโปรตีนที่หนามอยู่สองแบบด้วยกัน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าไวรัสกำลังปรับตัว เพื่อให้มีความสามารถเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้มากขึ้น

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (LSHTM) ของสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ด้านชีววิทยา bioRxiv.org โดยระบุว่าแม้สภาพการณ์ทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะค่อนข้างเสถียร ไม่สู้จะเกิดการกลายพันธุ์หลายรูปแบบอย่างรวดเร็วมากนัก รวมทั้งการกลายพันธุ์ของโปรตีนตรงส่วนหนามที่ใช้จับและเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ก็ยังหาพบได้ยากมาก แต่ก็ควรจับตาและเฝ้าระวังไว้ เนื่องจากการกลายพันธุ์แบบนี้อาจเป็นวิวัฒนาการที่ไวรัสกำลังปรับตัว เพื่อให้มนุษย์ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นในอนาคต

Getty Images

ทีมผู้วิจัยย้ำว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการกลายพันธุ์สองแบบที่พบส่งผลต่อตัวไวรัสอย่างไร แต่การที่พวกมันเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมาในหลายประเทศทั่วโลกโดยไม่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ทำให้มองได้ว่าปรากฏการณ์นี้อาจช่วยให้ไวรัสแพร่กระจายตัวออกไปได้ง่ายขึ้นอีก

ศาสตราจารย์ มาร์ติน ฮิบเบิร์ด หนึ่งในผู้นำทีมวิจัยของ LSHTM แสดงความวิตกว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องจับตามองการกลายพันธุ์ของไวรัสโรคโควิด-19 เอาไว้ให้ดี เพื่อจะได้ตรวจพบการกลายพันธุ์แบบที่น่าเป็นห่วงได้อย่างรวดเร็ว

Reuters
การกลายพันธุ์ตรงส่วนหนามของไวรัส อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ได้

"ยกตัวอย่างเช่นการกลายพันธุ์ของโปรตีนตรงส่วนหนาม หากเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายแล้ว จะส่งผลกระทบให้การพัฒนาวัคซีนและแอนติบอดีที่กำลังทำกันอยู่ทั่วโลกต้องคว้าน้ำเหลวได้ เพราะต่างใช้โปรตีนส่วนหนามของไวรัสแบบเก่าเป็นเป้าหมายยับยั้งการติดเชื้อ" ศ. ฮิบเบิร์ดกล่าว

ผลวิจัยก่อนหน้านี้ระบุว่า ไวรัสโรคโควิด-19 มีรูปร่างของโปรตีนตรงส่วนหนามที่จับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ดีกว่าไวรัสโรคซาร์สที่มีความใกล้เคียงกันทางพันธุกรรมอย่างมาก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ทำให้ไวรัสโรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วกว่าและก่อให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง