งานวิจัยอังกฤษ ชี้โควิดระบาดพรึ่บทั่วโลกตั้งแต่เริ่ม หาผู้ป่วยรายแรกไม่พบ
งานวิจัยอังกฤษ ชี้โควิดระบาดพรึ่บทั่วโลกตั้งแต่เริ่ม หาผู้ป่วยรายแรกไม่พบ
งานวิจัยอังกฤษ - ซินหัว รายงานสรุปผลการศึกษา ของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ของสหราชอาณาจักร ระบุว่าคณะนักวิจัยค้นพบความหลากหลายทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ซึ่งก่อโรคโควิด-19 ในสัดส่วนสูง ในทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคหนักที่สุด บ่งชี้ว่ามีการแพร่กระจายไปทั่วโลกในระดับสูงตั้งแต่ระยะแรกของการระบาด อีกทั้ง “ผู้ป่วยรายที่ศูนย์” ของประเทศส่วนใหญ่นั้น ยังไม่สามารถระบุตัวได้
การศึกษาซึ่งนำโดยสถาบันพันธุศาสตร์ (Genetics Institute) ของมหาวิทยาลัย วิเคราะห์การเกิดขึ้นของความหลากหลายทางพันธุกรรมในไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการตรวจสอบจีโนมของไวรัสมากกว่า 7,500 ตัว จากผู้ป่วยทั่วโลก
คณะนักวิจัยได้ระบุการกลายพันธุ์ถึง 198 รายการ ที่ปรากฏว่าเกิดขึ้นอย่างอิสระมากกว่าหนึ่งครั้ง
การศึกษาซึ่งได้รับการเผยแพร่ลงในวารสารเจอร์นัล อินเฟกชัน, เจเนติกส์ แอนด์ เอโวลูชัน (Journal Infection, Genetics and Evolution) ระบุว่าการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ที่ตรวจพบข้างต้น อาจบ่งชี้ถึงการปรับตัวของไวรัสต่อโฮสต์ที่เป็นมนุษย์ที่พวกมันอาศัย
“ผลการศึกษาเพิ่มพูนหลักฐานที่ชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ต่างมีบรรพบุรุษร่วมกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 อันแสดงให้เห็นว่าขณะนั้นคือเวลาที่ไวรัสแพร่จากโฮสต์ที่เป็นสัตว์มาสู่คน” การศึกษาระบุ
การศึกษาระบุว่าสิ่งนี้หมายความว่าไวรัสก่อโรคโควิด-19 จึงไม่น่าจะแพร่ในหมู่มนุษย์มาเป็นเวลานานก่อนจะถูกตรวจพบ
เอกสารประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าการค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงเผยร่องรอยหลักฐานบ่งชี้วิธีที่ไวรัสอาจแพร่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่ระยะแรกของการระบาดเท่านั้น แต่ยังพิสูจน์ได้ว่าไวรัสดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงช่วงปลายปี 2019 เท่านั้น ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
“ไวรัสทุกชนิดต่างกลายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ การกลายพันธุ์ในตัวมันเองไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และไม่มีอะไรที่บ่งชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กลายพันธุ์เร็วกว่าหรือช้ากว่าที่คาด อีกทั้งจนถึงตอนนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่าไวรัสดังกล่าวรุนแรงถึงแก่ชีวิตและแพร่ง่ายมากขึ้นหรือน้อยลง” ฟรองซัวส์ บัลลูซ์ (Francois Balloux) ศาสตราจารย์ประจำสถาบันฯ และผู้เขียนงานวิจัยร่วม ระบุ
คณะนักวิจัยระบุว่าหากกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเล็กๆ น้อยๆ หรือการกลายพันธุ์ที่ตรวจพบนั้น สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นกระจายอย่างเท่าๆ กันทั่วทั้งจีโนมของไวรัส และเนื่องจากจีโนมบางส่วนกลายพันธุ์ในระดับต่ำมาก ส่วนที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์จึงอาจเป็นเป้าหมายที่ดีกว่าสำหรับการพัฒนายาและวัคซีน
“ความท้าทายครั้งใหญ่ในการเอาชนะไวรัสคือการที่วัคซีนหรือยาอาจไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป หากไวรัสกลายพันธุ์ ถ้าเรามุ่งทุ่มทำงานกับส่วนที่มีโอกาสกลายพันธุ์น้อยกว่าของเชื้อไวรัส เราก็จะมีโอกาสพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพสำหรับระยะยาวได้มากขึ้น” บัลลูซ์กล่าว
.........
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โควิด: ไวรัสกลายพันธุ์ 3 แบบ หวังเอาชนะระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์