WHO ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญชุดใหม่ ตรวจสอบต้นตอของไวรัสโควิด-19
วันนี้ (14 ต.ค.64) องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ 26 คนภายใต้ชื่อว่า "กลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์" (Scientific Advisory Group on the Origins of Novel Pathogens) หรือ SAGO เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบต้นตอของเชื้อโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของอาการโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งชุดเฉพาะกิจชุดใหม่นี้ อาจเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่ในการค้นหาแหล่งต้นต่อของไวรัสโควิด
โดยในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 26 คนนี้ รวมถึงผู้ที่เคยอยู่ในชุดตรวจสอบต้นตอโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อต้นปีนี้ด้วย 6 คน ซึ่งกว่าปีครึ่งแล้ว ตั้งแต่ไวรัสโควิดถูกตรวจพบการระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ยังมีคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจนว่า จริง ๆ แล้ว ไวรัสโควิดเกิดขึ้นครั้งแรกได้อย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญชุดนี้ จะตรวจสอบและพิจารณาว่า ไวรัสกระโดดออกจากสัตว์เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ในตลาดสดเมืองอู่ฮั่น หรือหลุดออกจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แห่งใดแห่งหนึ่งหรือไม่ ซึ่งจีนปฏิเสธทฤษฎีที่สองอย่างแข็งขัน
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมผู้เชี่ยวชาญของ WHO ที่ทำการสอบสวนหาต้นตอของไวรัสโควิด เดินทางไปยังจีน และสรุปว่า บางทีไวรัสอาจมาจากค้างคาว แต่จำเป็นต้องตรวจสอบหลักฐานเพิ่มเติมมากกว่านี้
แต่ ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการของ WHO กล่าวในเวลาต่อมาว่า การสอบสวนดังกล่าวพบอุปสรรคจากการขาดข้อมูลและความโปร่งใสจากจีน
เทดรอส แถลงข่าวว่า การอุบัติของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นได้อีกนั้นถือเป็นความจริงตามธรรมชาติ และโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 จะไม่ใช่ไวรัสตัวสุดท้ายที่โลกต้องเผชิญ
ด้าน นายไมค์ ไรอัน ผู้เชี่ยวชาญฉุกเฉินของ WHO กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญ SAGO ชุดใหม่นี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า ต้นตอของโควิด-19 มาจากที่ไหน
ขณะที่ ดร.มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ของ WHO แสดงความหวังว่า จีนจะให้ความร่วมมืออีกครั้งในภารกิจระหว่างประเทศที่นำโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อตรวจสอบต้นตอของโคโรนาไวรัสในครั้งนี้ และว่า รายงานเรื่องที่จีนตรวจภูมิคุ้มกันของประชากรที่เมืองอู่ฮั่นเมื่อปี ค.ศ. 2019 ถือเป็น เรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจจุดกำเนิดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้
ภาพจาก Reuters