รีเซต

เปิดข้อมูล 50 เมืองใหญ่ทั่วโลกตึกระฟ้าจะจมบาดาลจนต้องอพยพ

เปิดข้อมูล 50 เมืองใหญ่ทั่วโลกตึกระฟ้าจะจมบาดาลจนต้องอพยพ
TNN ช่อง16
12 พฤศจิกายน 2564 ( 18:33 )
95
เปิดข้อมูล 50 เมืองใหญ่ทั่วโลกตึกระฟ้าจะจมบาดาลจนต้องอพยพ


วันนี้ ( 12 พ.ย. 64 )องค์กรเอกชนและนักวิทยาศาสตร์ระบุ หากอุณหภูมิโลกสูงกว่า 1.5-3 องศาเซลเซียส ตึกสูงระฟ้าจะถูกน้ำท่วม ประเทศเกาะเล็ก ๆ จะจมน้ำ และ 50 เมืองใหญ่ที่ตั้งติดชายฝั่งทะเลอาจจมน้ำจนต้องทิ้งเมือง องค์กรเอกชนชื่อ Climate Central ทำภาพจำลองเพื่อแสดงว่า เมืองต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีสภาพเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าปัญหาโลกร้อนทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ตามข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนปี 2015 ประเทศต่าง ๆ ตกลงว่า จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ย ไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส ของระดับอุณหภูมิโลกก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือดีที่สุดคือ ไม่ให้เพิ่มมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเลยเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส จะเกิดอันตรายมากเพียงใด โดยโลกจะต้องได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตคน ชีวิตป่า และระบบนิเวศของโลก

กลุ่ม Climate Central จึงจัดทำภาพจำลองตามการคาดการณ์และผลวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ เพื่อแสดงผลกระทบในระยะยาวของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะต่าง ๆ อันเป็นผลกระทบมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

เบนจามิน สเตราส หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้บริหารสูงสุดของ Climate Central ระบุว่า หากเราสามารถจำกัดอุณหภูมิโลก ไม่ให้เพิ่มมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้ จะสามารถช่วยชีวิตเมืองส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทั่วโลกได้ แต่ถ้าหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส จากการวิเคราะห์ของ Climate Central เมืองใหญ่กว่า 50 เมืองทั่วโลกที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเล จะประสบสถานการณ์ที่จะต้องหามาตรการป้องกันเมืองอย่างมากแบบที่คาดไม่ถึง หรือไม่ก็อาจต้องทิ้งเมืองไปเลย และตึกสูงระฟ้าต่าง ๆ จะจมอยู่ใต้น้ำ

แต่หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะยังคงสามารถจำกัดระดับน้ำทะเล ให้สูงขึ้นในระดับประมาณไม่กี่ฟุตได้ภายในสิ้นศตวรรษนี้ แต่ก็ยังถือเป็นผลกระทบที่หนักอยู่ดี โดยประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ และเมืองชายฝั่งจะถูกน้ำท่วม และพื้นที่ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะ 

แต่ถ้าหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 2 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า แผ่นน้ำแข็งจะพังทลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 10 เมตร หรือ 30 ฟุต แต่ยังไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนแน่นอนได้ว่า สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเร็วช้าเพียงได้

และหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 2.7 องศาเซลเซียส สภาพอากาศจะร้อนจัดจนแทบอยู่ไม่ได้ในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของโลก ความหลากหลายทางชีวภาพจะถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ความมั่นคงทางอาหารจะลดลง สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วจะรุนแรงมาก จนเกินกว่าศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองส่วนใหญ่ จะต้านทานไหว

ขณะนี้ โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้นไปแล้วประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม และทุก ๆ ทศวรรษตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกในแต่ละทศวรรษดังกล่าว สูงกว่าทุกทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 1850 เป็นต้นมา.

ภาพจาก : รอยเตอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง