รีเซต

ขั้นตอนการเข้ารักษาโควิด กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือชุมชน (Community Isolation) กับ สปสช.

ขั้นตอนการเข้ารักษาโควิด กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือชุมชน (Community Isolation) กับ สปสช.
Ingonn
20 กรกฎาคม 2564 ( 17:33 )
495

 

ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับมาตรการนำผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวหรือกลุ่มไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อยดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือชุมชน (Community Isolation) เพื่อจะได้มีเตียงว่างพอสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและสีแดง ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

 

 

 

แต่การติดโควิด ไม่ได้แปลว่ากักตัวอยู่บ้านแล้วอาการจะหายได้ ต้องได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีอื่น และการติดต่อขอเข้าระบบกักตัวที่บ้านหรือชุมชน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะสายด่วนมักไม่ด่วน สายไม่ว่างบ้าง รอเตียง รอยา นานบ้าง ดังนั้น TrueID จึงจะพาทุกคนไปรักษาโควิดกับ สปสช. ที่มีระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือชุมชน (Community Isolation) รองรับผู้ป่วยสีเขียว

 

 


ติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาต้องทำอย่างไร ?

 

1.กรณีตรวจหน่วยเชิงรุกที่ สปสช.ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เมื่อผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว (การจะถูกตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับหน่วยตรวจ) เจ้าหน้าที่ตรงจุดตรวจจะจับคู่ท่านกับคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลเพื่อดูแลที่บ้านแบบ Home Isolation โดยอัตโนมัติ ขอให้กักตัวที่บ้านรอการติดต่อกลับ

 

 

 

2.กรณีตรวจที่หน่วยเคลื่อนที่หรือแล็บต่างๆ ที่ไม่ใช่หน่วยตรวจเชิงรุกของ สปสช. หากผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้กักตัวที่บ้าน สิทธิบัตรทองให้โทรไปที่คลินิกใกล้บ้านหรือคลินิกที่ท่านได้ขึ้นทะเบียนไว้ สิทธิประกันสังคมให้โทรไปยัง รพ.ตามสังกัดของท่าน เพื่อรับการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน

 

 

หากไม่ได้รับการติดต่อกลับภายใน 48 ชั่วโมง หรือติดต่อคลินิกฯ และ รพ.ตามสังกัดของท่านไม่ได้ ผู้ที่มีสิทธิบัตรทองให้โทรมาแจ้งที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 ส่วนสิทธิประกันสังคมให้โทรไปที่สายด่วน 1506 กด 6

 

 

ทั้งนี้หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พักอาศัยร่วมด้วยอยู่ในบ้าน ให้คิดเสมือนว่ามีผู้ติดเชื้อทั้งบ้านแล้ว

 

 


3.ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาหรือต่างจังหวัด โทร. 1330 กด 15

 

 

******* ทุกกรณี ขอให้เตรียมบัตรประชาชน แจ้งเลขที่บัตร 13 หลัก ผลตรวจ สถานที่ตรวจ วันที่ตรวจ แจ้งอาการตามจริง เพื่อความสะดวก*******

 

 


ช่องทางลงทะเบียนสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรักษา


ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สามารถ

 


1.ลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามลิงค์นี้ https://crmsup.nhso.go.th เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแล 

 


2. ผ่านระบบไลน์ @comcovid-19

 


3.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 / สิทธิประกันสังคม โทร 1506 กด 6

 

 


กักตัวที่บ้านไม่สะดวก ไปที่ Community Isolation ได้


ในส่วนของกลุ่มที่สภาพที่อยู่อาศัยไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ ก็จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการเฝ้าระวังอาการและติดตามอาการ

 

 

 

ใครที่สามารถเข้ารับบริการได้บ้าง


ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยและไม่มาก เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ที่ยังอยู่ในระหว่างการรอเตียง และกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI)

 

 


 
สปสช.สนับสนุนอะไรบ้าง


การดูแลตนเองใน community Isolation สปสช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับผู้จัดบริการ (ไม่ได้จ่ายให้ผู้ป่วยโดยตรง) ได้แก่ 


1.ค่าอาหาร (3 มื้อ) วันละ 1,000 บาท 

 


2.ค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจน ตามจริงไม่เกิน คนละ 1,100 บาท 

 


3.ค่าบริการจัดการอื่นๆ ค่ารถ ค่าเอกซเรย์ ค่า SWOP และค่าตรวจ RT-PCR ตามหลักเกณฑ์

 

 

 

การรักษาใน community Isolation 


1.การประเมินอาการด้วยวิดิโอคอลวันละ 2 ครั้ง

 

 
2.อาหาร 3 มื้อ 

 


3.ได้รับปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว 

 


4.ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ 

 


5.ในกรณีที่อาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในระหว่างประสานรอเตียงผู้ป่วย

 

 

 

 

 

 

ติดต่อเพื่อขอเข้ารับบริการอย่างไร 


ชุมชนที่มีการตั้ง Community Isolation โดยญาติหรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังรอเตียงอยู่ ให้ ประสานไปยังแกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ผู้ประสานงานเครือข่าย หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ร้องเรียน ตามมาตรา 50(5)

 

 

 

 

ชุมชนที่ไม่มีการตั้ง Community Isolation ติดต่ออย่างไร

 

ญาติหรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาศัย นอกเหนือพื้นที่ที่มีการตั้ง Community Isolation หรือผู้ที่่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ให้ติดต่อสายด่วน สปสช.1330 หรือติดต่อมายังทีมคอมโควิด IHRI แอดไลน์ @comcovid-19 โดยตรง ซึ่งจะมีพยาบาลอาสาคัดกรองอาการก่อน พร้อมประสานไปยังแกนนำชุมชน เพื่อให้ท่านได้รับการดูแลที่บ้านหรือในชุมชนอย่างปลอดภัย ซึ่งหากมีอาการมากขึ้นจะมีการประสานเพื่อให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

 


หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ (สีเขียว)  ทีมคอมโควิด-19 ได้ผนึกกำลังกับสปสช. ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำ home isolation และ community isolation 

 

 

 

 


สำหรับการแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชนนั้น ผู้ติดโควิด-19 สามารถเลือกได้ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์ของผู้ติดเชื้อ ต้องสมัครใจ และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ มีสถานที่เหมาะสม มีช่องทางติดตามอาการทุกวัน เพื่อประเมินผ่านวิดีโอคอลโดยแพทย์ วันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน

 

 


ถ้าเลือกกักตัวที่บ้านแบบ Home Isolation


สำหรับเกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย Home Isolation จะต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อายุไม่เกิน 60 ปี อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคร่วม เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง โดยสถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียน แนะนำการปฏิบัติตัว ติดตามประเมินอาการ และรับส่งผู้ป่วยมารักษาในสถานพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น

 

 

 

 

 

 


ข้อมูลจาก สปสช. , กรมการแพทย์ , ไทยรัฐ

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง