รีเซต

ชวนดู CO2 ในชั้นบรรยากาศโลก จำลองเห็นภาพชัดจากเครื่องมือ NASA

ชวนดู CO2 ในชั้นบรรยากาศโลก จำลองเห็นภาพชัดจากเครื่องมือ NASA
TNN ช่อง16
14 สิงหาคม 2567 ( 15:01 )
20
ชวนดู CO2 ในชั้นบรรยากาศโลก จำลองเห็นภาพชัดจากเครื่องมือ NASA

กิจกรรมบนโลกของมนุษย์จำนวนมาก ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กระจายตัวอย่างไรในชั้นบรรยากาศโลก? เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ล่าสุดองค์การนาซา จึงได้สร้างแบบจำลองแผนที่โลก ซึ่งแสดงความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เคลื่อนตัวผ่านชั้นบรรยากาศโลก ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2020


แบบจำลองดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มควันที่กระจายตัวอยู่รอบโลก โดยใช้ความเข้มสีของควันเพื่อแสดงความแตกต่างของความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น สีแดงจะแสดงความเข้มขนสูง ไล่ระดับลงมาเป็นสีส้ม สีเหลือง และสีเทา ก็จะแสดงความเข้มข้นที่ลดน้อยลงมาตามลำดับ


นอกจากนี้ในแบบจำลอง ยังแสดงให้เห็นจุดสีส้มที่กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นจังหวะในแต่ละวัน โดยมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 


1. ไฟ ซึ่งหมายถึงความร้อนที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเครื่องทำงาน การใช้ยานพาหนะ การเผาพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ช่วงเวลากลางวันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น จุดสีส้มจึงสว่างขึ้นมา แล้วก็ในช่วงเวลากลางคืนก็จะลดลง

2. เป็นพื้นที่ป่า เนื่องจากว่าในช่วงเวลากลางวัน ป่าจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสังเคราะห์แสง แล้วก็จะปล่อยออกมาในช่วงเวลากลางคืน พื้นที่ป่าจึงแสดงการเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างชัดเจน



เลสลีย์ ออตต์ (Lesley Ott) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของนาซา ซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำแผนที่นี้ อธิบายถึงแหล่งที่มาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกว่า ในประเทศจีน ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดมาจากโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และยานพาหนะอย่างรถยนต์หรือรถบรรทุก ส่วนในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกาใต้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากไฟจากการจัดการพื้นที่ดิน หรือการเผาด้วยจุดประสงค์ทางการเกษตร และการทำลายป่า รวมถึงการเผาไหม้น้ำมันและถ่านหิน


แบบจำลองแผนที่นี้จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานของนาซาที่ดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างสื่อภาพ วิดีโอ เพื่อสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างสตูดิโอ Scientific Visualization Studio โดยใช้แบบจำลองสภาพอากาศความละเอียดสูงที่เรียกว่า จีออส (GEOS) ย่อมาจาก Goddard Earth Observing System ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ขับเคลื่อนด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ดึงข้อมูลจำนวนมากมาจากเครื่องมือสังเกตการณ์อื่น ๆ เช่น ดาวเทียมสังเกตการณ์ เทอร์รา (TERRA) หรือดาวเทียมตรวจสภาพอากาศ ซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi-NPP) 


สำหรับแบบจำลองแผนที่โลกที่แสดงความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้ จะช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจเกี่ยวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรู้แหล่งกำเนิดคาร์บอนไดออกไซด์ การทำความเข้าใจผลกระทบ นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ดียิ่งขึ้น


สามารถรับชมแบบจำลองแผนที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกได้ในคลิปนี้



ที่มาข้อมูลและรูปภาพ NASA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง