ผมหลุดร่วงเป็นเรื่องธรรมดา แต่มากขนาดไหนควรต้องพบแพทย์
หลายคนมักเป็นกังวลเมื่อพบว่าผมขาดหลุดร่วงเป็นประจำทุกวัน โดยปกติแล้วผมของคนเรามีประมาณ 80,000-1,200,000 เส้น งอกยาวขึ้นวันละประมาณ 0.35 มิลลิเมตร และมีอายุนาน 2-6 ปี ในคนที่ผมหลุดร่วงวันละไม่เกิน 30-50 เส้น ยังถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมากกว่าวันละ 100-200 เส้น อาจควรต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ
อาการผมร่วงที่ควรต้องปรึกษาแพทย์ สังเกตได้จากอาการผมร่วงผิดปกติ ดังนี้
1. ผมร่วงมากกว่าวันละ 70-100 เส้น ในคนที่สระผมเป็นประจำเกือบทุกวัน หรือผมร่วงมากกว่าวันละ 200 เส้น ในคนที่สระผมห่างกันครั้งละ 3-4 วัน
2. ผมร่วงตอนสระผมหรือเป่าผม หากปริมาณไม่มากจัดว่าเป็นผมร่วงปกติ แต่ถ้าผมหลุดร่วงระหว่างวัน ระหว่างทำกิจวัตรประจำวันมากๆ รวมแล้วเกิน 70-100 เส้น ถือว่าผิดปกติ เช่น บนหมอนหลังตื่นนอนตอนเช้า ทานข้าว ทำครัว นั่งทำงาน เป็นต้น
3. ผมร่วงเป็นหย่อม จนเปลี่ยนสภาพเส้นผมบนหัว กลายเป็นหย่อมขนาดเล็กเท่าเหรียญสิบ
สำหรับสาเหตุผมร่วงผิดปกตินั้น อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ชายมากกว่า เนื่องจากรากผมมีความไวต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เส้นผมมีอายุสั้นกว่า ซึ่งตามปกติเส้นผมที่เกิดใหม่ มักจะมีขนาดเล็กและบางลง ส่วนมากจะเป็นบริเวณกลางศีรษะและหน้าผาก เริ่มสังเกตได้เมื่อมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป
ทั้งนี้ ในคนที่เป็นมากนอกจากควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรีบทำการรักษาอย่างทันท่วงทีแล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงการทำเคมีหรือทำให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการยืดหรือดัดผม ร่วมกับการย้อมผมและการกัดสีผม จะยิ่งทำให้ผมแห้งเสียได้
นอกจากนี้ ไม่สระผมด้วยน้ำร้อนจัด เป่าผมด้วยความร้อนสูง หนีบผม หรือหวีผมในขณะที่ผมเปียก และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นวิตามินที่ช่วยบำรุงเส้นผม เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินดี วิตามินบี 1 3 7 (ไบโอติน) และ บี 12 เป็นต้น
————
ที่มา: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, กรมการแพทย์